ชาวบ้านใน อ.ระแงะ ชวนล่องเรือชมธรรมชาติตามสายน้ำอารยธรรม ตามรอยเส้นทางเจ้าเมือง "ระแงะ" สร้างรายได้เข้าชุมชน
"คลองปูลาไซร้" ในอดีตเคยเป็นทางสัญจรของเจ้าเมืองระแงะ ที่ใช้ทางน้ำสัญจรระหว่างวังเจ้าเมืองระแงะสู่เมืองมะนารอ จ.นราธิวาส เป็นที่มาของสายน้ำอารยธรรม ซึ่งแม่น้ำสายนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก บางช่วงบางตอนมีหาดทรายที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อน ผู้คนสามารถลงเล่นน้ำได้ ทั้งยังมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ใหญ่ที่มีรูปทรงคล้ายประตูบ้านโบราณ แก่การถ่ายรูปเป็นจุดเช็คอิน และมีก้อนหินที่มีรูปทรงวางเป็นชั้นๆ เป็นระเบียบ เป็นสถานที่เที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับฤดูร้อนที่อากาศร้อนมากในช่วงนี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านปูลาไซร้ ม.8 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
โครงการพัฒนาหมู่บ้านตามแนวพระราชดำริ 9:10 ปฏิบัติบูชา "สืบสาน รักษา ต่อยอด" เพื่อพัฒนาชุมชนประจำปี 2567 สู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง เป็นผืนป่าเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายมากมาย มีพืชพรรณแปลกๆ ที่ขึ้นอยู่ตามริมคลอง ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่ยังคงเป็นสีเขียวความร่มรื่นจากพืชพันธุ์นานาชนิด เป็นการมาท่องเที่ยวที่เป็นแบบวิถีชุมชนอย่างแท้จริง และดึงเอกลักษณ์โดดเด่นในชุมชนให้นักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหลเป็นอย่างมาก ซึ่งบรรยากาศแบบนี้สามารถหาชมได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น
สำหรับไฮไลท์ของที่นี่คือการได้ล่องเรือชมวิวของธรรมชาติที่คลองแห่งนี้นั่นเอง ล่องบนผิวน้ำที่แน่นิ่ง เพลิดเพลินไปกับวิวสองข้างทางของแม่น้ำลำคลอง เมื่อนั่งเรือเรื่อยๆจะมีจุดชมวิวเป็นก้อนหินวางเป็นชั้นๆอย่างสวยงาม โดยที่นี่จะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 น.-16.30 น. และทำการล่องเรือจำนวน 2 รอบ ต่อวัน โดยรอบเช้าเวลา 09.00 น.-12.00 น. รอบบ่ายเวลา 13.00 น.-16.00 น.
นายรอกือลัง ตาเย๊ะ ผู้บริหารจัดการ เผยว่า ขณะนี้คลองปูลาไซร้ เปิดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่มีการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจ เราได้บริหารจัดการเพื่อหารายได้เสริมให้กับหมู่บ้าน โดยหลักๆ เน้นให้เยาวชนได้มีงานทำ กลุ่มสตรีหารายได้หลังจากการกรีดยาง โดยในช่วงนี้จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000 คน ต่อวัน โดยเฉพาะในช่วงนี้จะเป็นฤดูร้อนส่วนใหญ่น้ำจะแห้ว ผู้คนส่วนใหญ่เลยมาเล่นน้ำกันที่นี่ เพราะที่นี่ไม่มีเก็บค่าบริการ หลักๆก็จะเป็นการหารายได้เสริมเพราะเราจะมีเรือให้นักท่องเที่ยวได้เล่นโดยเก็บค่าบริการคนละ 20 บาท แล้วนำรายได้มาพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้ยากไร้