Skip to main content

สร้างสรรค์ลายภาพเหมือนบนกระเป๋า "กระจูด" ทำยอดขายพุ่ง

26 เมษายน 2567

ชาวตากใบนำ "กระจูด" วัชพืชไร้ค่ามาสร้างแบรนด์ โดยนำลายภาพจิตกรรมภายในอุโบสถวัดดังของจังหวัด มาปักลงในสินค้าสร้างยอดขายจำนวนมาก

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมแปรรูปกระจูดบ้านใหญ่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีสมาชิก จำนวน 10 คน ที่ใช้เวลาว่างในการแปรรูปกระจูดซึ่งเป็นวัชพืชที่ไร้ค่า ขึ้นอยู่ในสวนปาล์มต่างๆ ในพื้นที่ สมาชิกร่วมกันตัดมาแปรรูป ด้วยการนำมาฟอกหรือคลุกกับดินโคลนสีขาวให้ทั่ว แล้วนำมาตากแดดประมาณ 1 ถึง 2 วัน หลังจากนั้นนำมามัดรวมกันเป็นก้อน แล้วใช้สากตำให้ทั่วจนกระจูดมีลักษณะแบนราบ แล้วจากนำมาสานขึ้นรูปเป็นลักษณะต่างๆ ที่ต้องการ อาทิ หมวก กระเป๋า เสื่อและอื่นๆอีกมากมาย โดยเฉพาะกระเป๋าในรูปแบบต่างๆที่ตลาดต้องการ

ความนิยมสินค้าที่แปรรูปมาจากต้นกระจูดในช่วงนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่ได้รับความนิยมที่สุดในจังหวัดนราธิวาส ที่เป็นผลพวงมาจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับมอบกระเป๋ากระจูดเป็นที่ระลึก ในช่วงที่เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 ก.พ.67 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ได้นำกระเป๋ากระจูดติดตัวเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67 จนสร้างความฮือฮาและโด่งดังไปทั่วโลก จนขยายผลทำให้กระเป๋าที่แปรรูปจากกระจูดได้รับความนิยมตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

นายวรันธร บุสนาม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมแปรรูปกระจูดบ้านใหญ่ เปิดเผยว่า ได้มีวิวัฒนาการในการนำลวดลายผืนป่าชายแดนใต้ ลายบาติก โดยเฉพาะลายพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา รวมทั้งลวดลายจิตกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดชลธาราสิงเห ซึ่งเป็นวัดที่โด่งดังที่สุดในพื้นที่ อ.ตากใบ มาปักภาพเหมือนผสมผสานลงในกระเป๋ากระจูด จนเป็นที่นิยมในขณะนี้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมแปรรูปกระจูดบ้านใหญ่ รับออเดอร์ลูกค้าเป็นจำนวนมาก

ด้านนายวรันธร ประธานวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมแปรรูปกระจูดบ้านใหญ่ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของกระจูดบ้านใหญ่ มาจากการต่อยอดโครงการศูนย์ศิลาปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี กระจูดเราจะใช้ดินโคลนสีขาวซึ่งมีในท้องถิ่นของเรามาหมักกระจูดให้เป็นสีขาว ให้มีความทนทานให้สีสันที่สวยงาม และนำลายพระราชทานของ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัรัตนราชกัญญา มาปักลงบนกระเป๋าให้เกิดความหลากหลายของชิ้นงาน เป็นลายป่าแดนใต้ซึ่งเอามาผสมผสานกันกับลายสิริวชิราภรณ์ และภาพจิตกรรมฝาผนังวัดชลธาราสิงเห มาออกแบบให้กระจูดบ้านใหญ่ได้เป็นสินค้าที่สามารถถ่ายทอดถึงวิถีชีวิตและชุมชนของตากใบได้ 
 

กระจูด
กระจูด
กระจูด
กระจูด
กระจูด
กระจูด