Skip to main content

รักษาประเพณีท้องถิ่น 1 ปี มี 1 ครั้ง แบ่งชิ้นส่วนวัวทำอาหารบุญเดือน 4

25 มีนาคม 2567

ชาวบ้านอำเภอพิบูลรักษ์ จ.อุดรธานี อนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น แบ่ง "พูด" ชิ้นส่วนวัวนำไปทำอาหารในช่วงบุญเดือน 4

นางจำนงค์ อุปชัย อายุ 60 ปี ชาวบ้าน บอกว่า ที่เห็นชาวบ้านทำกันอยู่นี้คือการแบ่งพูด โดยนำวัวหรือควายทั้งตัวที่ตายแล้วมาแบ่งชิ้นส่วนต่างๆ ในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งหมด ทั้งส่วนของเนื้อ เครื่องใน และกระดูก สำหรับวัวตัวนี้ชาวบ้านรวมกันออกเงินซื้อมาในราคา 13,000 บาท เฉลี่ยแล้วเราก็จะแบ่งออกเป็น 13 กอง กองละ 1,000 บาท 

วิธีการแบ่งเราก็จะหันเนื้อออกเป็นชิ้นๆ แต่ละกองจะมีทั้งเนื้อ เครื่องใน และกระดูกในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน เมื่อชาวบ้านได้เนื้อไปแล้วก็จะเอาไปทำอาหาร เช่น ลาบ ต้มประกอบอาหารกินกันในครอบครัว ส่วนหนึ่งเอาไปทำบุญที่วัดในช่วงบุญเดือนสี่ ตามประเพณีของชาวอีสาน

ด้านนายวีระพล รักษ์เสมอวงศ์ ชาวบ้าน บอกว่า ช่วงบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด ชาวอีสานส่วนใหญ่ในทุกหมู่บ้านจะรวมตัวกัน ออกเงินซื้อวัวมาชำแหละ จากนั้นคนชำแหละจะมีการแบ่งชั้นปันส่วนของเนื้อวัว ให้เท่าๆกัน โดยนำเนื้อที่ได้ไปทำอาหารกินกันในครอบครัวและทำบุญ ซึ่งคนรู้จักกันทั้งในหมู่บ้านใกล้เคียง ก็จะชักชวนมากินอาหารหรือกินบุญกัน หากไม่มีเนื้อเอาไว้ รบรองแขกก็จะถือว่าไม่เหมาะสม ซึ่งหลักๆ อาหารที่ชาวบ้านจะทำกินกันในครอบครัวและทำบุญ คือ เนื้อวัวและขนมจีน

ทั้งนี้ "พูด" มีความหมายในภาษาไทยหมายถึง การเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อการสื่อสาร เจรจากัน แต่พูดในภาษาลาวนั้นมีความหมายได้หลายอย่างตามบริบท เช่น แบ่งของเป็นส่วนๆ เพื่อแบ่งปันกัน เรียก พูด เช่น พูดปลา พูดกบ พูดเขียด พูดซิ้น การตกพูดก็ไม่จำเพาะแต่คนที่พูดภาษาลาวเท่านั้น 

หากแต่รวมไปถึงกลุ่มคนที่พูดภาษาอื่น เช่น คนเขมร คนขมุ คนกูย คนโส้ อยู่ด้วย คนเหล่านี้มีแบบอย่างการแบ่งปันที่เป็นรูปรอยเดียวกันกับคำว่า "ตกพูด" ของคนลาว และถ้าสังเกตบรรดาชื่อเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ กับถิ่นทำเลที่อยู่อาศัย อาจกล่าวเป็นภาพรวมได้ว่า คือ คนลุ่มน้ำโขง การตกพูดจึงเป็นวัฒนธรรมของผู้คนลุ่มน้ำโขง และบางทีอาจเป็นวัฒนธรรมของคนบ้านนอกก็เป็นได้
 

พูด
พูด
พูด
พูด
เนื้อหาล่าสุด