"ปลาส้ม" ปลาตะเพียนแปรรูป สูตรความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ใส่สารกันบูด สร้างยอดขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน
นางสุนัน ศรีสอาด หัวหน้าสำนักงานประมงอำเภอบัวเชด มอบหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำบ้านออด ตำบลบัวเชด อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ โดยมีนายชนะชล มูลจันทร์ ประธานกลุ่ม เป็นผู้รับมอบ โดยกรมประมงได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมการเลี้ยงปลากินพืชทุกชนิด โดยเฉพาะ ปลาตะเพียน ซึ่งเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็ว เนื้อจะมีรสชาติดี แต่เป็นปลาที่มีก้างเยอะ แถมยังเป็นก้างรูปตัว Y ซึ่งอาจติดคอคนกินได้หากไม่ระวัง
ชาวบ้านจึงนิยมนำมาแปรรูปเป็นเมนูปลาส้ม เพราะเมื่อนำปลามาหมักร่วมกับข้าวและกระเทียม จะทำให้เกิดจุลินทรีย์ขึ้น ซึ่งจุลินทรีย์นี้จะช่วยย่อยแคลเซียมในก้างปลาให้อ่อนนิ่มลง ทำให้เวลา กินปลาส้มนั้น กินได้อร่อยโดยไม่ต้องกังวลเรื่องก้างปลา ความพิเศษของปลาตะเพียนที่บ้านออด คือชาวบ้านเลึ้ยงปลาแบบธรรมชาติ ให้อาหารเสริมก็คือ รำข้าวอ่อน ซึ่งจะทำให้เนื้อปลามีรสชาติอร่อย พอนำมาทำเป็นปลาส้ม ในแบบปลาตะเพียนทั้งตัว หรือแบบฟักปลาส้ม (แบบห่อใบตอง) สำนักงานประมงจังหวัดสุรินทร์ ได้ให้การสนับสนุนและร่วมพัฒนาคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย เพื่อผลักดันให้เป็นสินค้า GI ของฝากประจำอำเภอบัวเชด
นายทินกร เอ็นดู ผู้ใหญ่บ้านออด กล่าวว่า ได้จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาตะเพียนโดยเฉพาะ ซึ่งมีชาวบ้านที่ให้ความสนใจมาสมัครเป็นสมาชิกจำนวน 15 ราย มีบ่อที่ขุดแล้วจำนวน 15 บ่อ และจะขุดเพิ่มอีกจำนวน 2 บ่อ ที่ผ่านมานั้นได้รับพันธุ์ปลาพระราชทานฯ นำมามอบให้กับชาวบ้าน และชาวบ้านก็ได้รับความรู้การเลี้ยงปลาตะเพียนจากสำนักงานประมงจังหวัดสุรินทร์ บ้านตะเพียนที่ชาวบ้านเลี้ยงจะเป็นปลาที่เลี้ยงแบบธรรมชาติและเสริมด้วยรำข้าวอ่อน ทำให้ปลาโตเร็วมีรสชาดดี และที่สำคัญคือชาวบ้านไม่ต้องนำไปเร่ขาย เพราะทางกลุ่มฯรับซื้อไว้เองทั้งหมด
นายชนะชล มูลจันทร์ ประธานกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำบ้านออด กล่าวว่า การจัดตั้งกลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำบ้านออด ก็เพื่อรับซื้อปลาตะเพียนจากชาวบ้านโดยตรง เป็นการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพ และที่สำคัญคือเวลาจับปลาแล้วชาวบ้านไม่ต้องเอาไปเร่ขาย หรือไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้หรือไม่มีคนรับซื้อ เพราะทางกลุ่มเราจะรับซื้อปลาตะเพียนทั้งหมด แล้วนำมาแปรรูปเป็นปลาส้ม มีทั้งแบบที่เป็นตัว และแบบที่ห่อใบตอง ที่สำคัญก็คือ เราไม่ใส่ดินประสิว ไม่ใช้สารกันบูดหรือเครื่องปรุงอะไรเลย เราทำแบบโบราณจริงๆ ก็คือ ใส่แค่เกลือ กระเทียม ข้าวเหนียว หมักไว้ 2 วัน เริ่มให้รสเปรี้ยวนิดหน่อย รสชาติกำลังดี ปัจจุบันทางกลุ่มได้จำหน่ายผ่านออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม ซึ่งมียอดขายที่ดี
"ผมเชื่อว่าต่อไป ปลาส้มบัวเชด จะกลายเป็นสินค้าที่ขายดี ด้วยความสะอาดถูกหลักอนามัย ผ่านการหมักที่ควบคุมอุณหภูมิ และระยะเวลา จนก้างนิ่ม อร่อยลงตัว รสนัวถึงใจ ร่วมกันส่งต่อพลังใจให้ชุมชนได้ด้วยการ ซื้อสินค้าชุมชน ผลิตโดยชุมชน" นายชนะชล กล่าว