Skip to main content

‘แก้วพะเนาว์ Organic Farm’ ฟาร์มออร์แกนิค ที่ชุบชีวิตผืนดินอีสานให้ปลูกผักได้ทั้งปี

22 มิถุนายน 2567

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด

 

 


จากคำสบประมาท “เรียนเกษตรไปทำไม อาชีพเกษตรไม่มั่นคง” กลายเป็นแรงผลักดันให้ลูกเกษตรจากชุมชนเล็กๆ ในภาคอีสาน กลายมาเป็นเจ้าของฟาร์มเกษตรอินทรีย์สามสาขา ที่มีผักส่งออกทั้งปี และพลิกชุมชนให้ทำเกษตรด้วยความรู้อย่างมั่นคง


จากลูกชาวไร่ที่โดนดูถูก สู่เจ้าของฟาร์มผักอินทรีย์

 

พงษ์- พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เจ้าของฟาร์มเกษตร ‘แก้วพะเนาว์ organic farm’ เล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า เขามาจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็นเกษตรกรในชนบท เขามีความฝันว่าอยากทำการเกษตรเหมือนที่บ้าน และตั้งใจที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่เกี่ยวกับการเกษตร ในตอนนั้นไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือคนรู้จัก ต่างก็ตั้งคำถามกับความฝันของพงษ์ว่า เป็นฝันที่ดูไม่มีอนาคต รายได้ไม่ดี ต้องเหนื่อยตากแดดตากลม และราคาผลผลิตก็ไม่สามารถควบคุมได้

“ตอนที่ตัดสินใจว่าเราจะเข้าเรียนคณะเกษตร ไม่มีใครสนับสนุนผมเลย แม้แต่แม่กับพ่อก็คัดค้าน แต่ผมอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เราสามารถรวยได้ ไม่ต้องเป็นหนี้ เหมือนเกษตรกรรุ่นก่อนๆ ถ้าเรามีความรู้ ไม่ใช่แค่การปลูกแล้วขาย”

พงษ์ตัดสินใจเข้าเรียนที่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นวิทยาลัยเกษตรอันดับต้นๆ ของประเทศ ระหว่างเรียนเขายังได้มีโอกาสไปเรียนด้านเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ประเทศอันดับต้นของโลกด้านเทคโนโลยีการเกษตร การไปต่างประเทศในครั้งนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาตั้งใจจะทำเกษตรด้วยเทคโนโลยีและความรู้ที่ได้เก็บเกี่ยวมา

แต่การจะเป็นเจ้าของแปลงผักผืนแรกไม่ได้ง่ายนัก เพราะตัวเขาเองไม่ได้มีทุนรอนมาก สิ่งแรกที่ทำคือไปขอปันส่วนที่ดินของพ่อและแม่ เพื่อมาทดลงทำการเกษตรในแบบของตัวเอง

“ตอนไปขอที่ดินพ่อแม่มาแปลงเล็กๆ เอามาทำไร่ ก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าผมจะทำให้มันงอกเงยขึ้้นมาได้ ตอนนั้นแม่ผมยังมาบอกให้ไปสอบเป็นข้าราชการ เพราะมันมั่นคงกว่ามาทำไร่แบบนี้”

พงษ์เล่าต่อว่า ด้วยความรู้ที่เขาร่ำเรียนมา เขาค่อยๆ ทำการเกษตรด้วยการใช้ชุดข้อมูลและการเก็บสถิติมาประยุกต์เข้ากับการปลูกพืช

 

“ตอนที่ตัดสินใจว่าเราจะเข้าเรียนคณะเกษตร ไม่มีใครสนับสนุนผมเลย แม้แต่แม่กับพ่อก็คัดค้าน แต่ผมอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เราสามารถรวยได้ ไม่ต้องเป็นหนี้ เหมือนเกษตรกรรุ่นก่อนๆ ถ้าเรามีความรู้ ไม่ใช่แค่การปลูกแล้วขาย”

 

พงษ์อธิบายว่า เดิมทีชาวบ้านจะปลูกพืชอยู่ไม่กี่อย่าง และทำไม่ได้ทั้งปี เพราะดินภาคอีสานเป็นดินทราย และอากาศร้อน โดยเฉพาะพืชผักเศรษฐกิจ ซึ่งชาวสวนแบบดั้งเดิมมักจะปลูกตามสภาพอากาศ และใส่ปุ๋ยเคมีเริ่งผลผลิต แต่เรามีความรู้คนละชุดกับเขา พืชบางชนิด ถ้าในสภาพแวดล้อมปกติเติบโตไม่ดี เราสามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมขึ้นมาได้  เช่น ผักชี ต้นหอม ซึ่งมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการทั้งปี แต่ปลูกไม่ได้ในภาคอีสานเพราะผืนดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย อมน้ำได้ไม่ดี และจะยิ่งแล้งมากในฤดูร้อน แต่ถ้ามีความรู้เราสามารถปลูกได้ทุกฤดู แม้แต่หน้าร้อน ต้นหอมไม่ชอบแดดจัด ถ้าเราค่าค่าแสงและวัดค่าแสงที่ถูกต้องได้ เราจะรู้ว่าค่าแสงแบบไหนจะทำให้หอมมีใบที่ใหญ่ แต่ชาวบ้านไม่มีความรู้ตรงนี้

ผลของการใช้ความรู้ และหลักวิทยาศาตร์มาทำการเกษตร ทำให้ไร่ของพงษ์ มีผลผลิตจำหน่ายตลอดทั้งปี และเริ่มขยายพื้นที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านในหมู่บ้าน จากเดิมที่เคยตั้งคำถามก็เริ่มหันมาให้ความสนใจถึงวิธีการทำการเกษตรแนวใหม่

 

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนที่ทำเกษตรแบบวิธีเดิมๆ จะมองแค่ว่า การเกษตรคือ เราปลูกแล้วขายอย่างเดียว เป็นต้นน้ำ แต่จริงๆ แล้ว การเกษตร เราสามารถทำได้ตั้งแต่เป็นคนขายผลผลิต รับซื้อ และเป็นสายส่ง..."


กระจายความรู้สู่ชุมชน สนับสนุนเกษตรกรให้ทำเกษตรแบบจับต้องได้จริง

 

แปลงเกษตรของพษ์กลายเป็นสวนเกษตรที่ใครต่อใครในชุมชนต่างก็พูดถึง เขาจึงใช้โอกาสตรงนี้เข้าไปเผยแพร่ความรู้ให้ชาวบ้าน เริ่มจากการปรับความเข้าใจต่อมุมมองการทำเกษตร

ในช่วงแรกหากใครต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตร พงษ์จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่เรื่องเงินทุน ไปจนถึงความรู้วิทยาศาสตร์การเกษตร และที่สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนวิธีคิดว่า การทำการเกษตรให้มากไปกว่าการปลูกพืช และขาย แต่ให้คิดในเชิงธุรกิจการเกษตร

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนที่ทำเกษตรแบบวิธีเดิมๆ จะมองแค่ว่า การเกษตรคือ เราปลูกแล้วขายอย่างเดียว เป็นต้นน้ำ แต่จริงๆ แล้ว การเกษตร เราสามารถทำได้ตั้งแต่เป็นคนขายผลผลิต รับซื้อ และเป็นสายส่ง ซึ่งถ้าชาวบ้านค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองเรื่องการทำไร่ทำสวนจากตรงนี้ เราก็เข้าไปช่วยเสริมต่อได้ว่า แล้วจะทำอย่างไรให้เรามีผลผลิตป้อนตลาดทั้งปี และที่สำคัญคือ ใช้ความรู้และหลักการทางวิทยาการเกษตรเข้าไปเสริม ซึ่งตรงนี้ผมจะเป็นคนที่ช่วยชาวบ้านได้เป็นหลัก”

หลังจากมีชาวบ้านหลายกลุ่มให้ความสนใจ พงษ์ค่อยเข้าไปให้ความรู้และพัฒนาหลักสูตรร่วมกับองค์กรของภาครัฐ เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้ ชาวบ้านที่พงษ์เลือกให้การสนับสนุนเมื่อประสบความสำเร็จ รัฐบาลมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเติบโต ก็จะเข้ามาสนับสนุน เหล่านี้เทียบได้กับการค่อยๆ ช่วยให้ชุมชนยกระดับการทำการเกษตรจากภาพจำเดิมๆ

อย่างไรก็ตามใช่ว่าการเกษตรที่พงษ์ทำอยู่จะราบรื่น สิ่งที่เขากังวลแต่ยังมาไม่ถึงคือ เรื่องภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ หรือโรคระบาดจากศัตรูพืช แต่เขาก็มั่นใจว่า ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การเกษตร เขาและชุมชนจะผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้

ปัจจุบัน แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิคฟาร์มมีทั้งสิ้น 3 สาขา คือ มหาสารคาม บุรีรัมย์ และสุพรรณบุรี


แก้วพะเนาว์ organic farm
Facebook : แก้วพะเนาว์ Organic Farm
 



 

‘แก้วพะเนาว์ Organic Farm’ ฟาร์มออร์แกนิค ที่ชุบชีวิตผืนดินอีสานให้ปลูกผักได้ทั้งปี
‘แก้วพะเนาว์ Organic Farm’ ฟาร์มออร์แกนิค ที่ชุบชีวิตผืนดินอีสานให้ปลูกผักได้ทั้งปี
‘แก้วพะเนาว์ Organic Farm’ ฟาร์มออร์แกนิค ที่ชุบชีวิตผืนดินอีสานให้ปลูกผักได้ทั้งปี
‘แก้วพะเนาว์ Organic Farm’ ฟาร์มออร์แกนิค ที่ชุบชีวิตผืนดินอีสานให้ปลูกผักได้ทั้งปี
‘แก้วพะเนาว์ Organic Farm’ ฟาร์มออร์แกนิค ที่ชุบชีวิตผืนดินอีสานให้ปลูกผักได้ทั้งปี
‘แก้วพะเนาว์ Organic Farm’ ฟาร์มออร์แกนิค ที่ชุบชีวิตผืนดินอีสานให้ปลูกผักได้ทั้งปี
เนื้อหาล่าสุด