Skip to main content

‘แม่กำปอง’ สวัสดิการชุมชนจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

11 สิงหาคม 2567

 

ทันทีที่รถเคลื่อนผ่านไปยังทิศตะวันออกของอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทิวทัศน์รายรอบค่อยๆ ปรับเปลี่ยนแปลกตาไป บางจังหวะเป็นพื้นที่สีเขียวชะอุ่มจากทุ่งนาที่ชุ่มฝน บางช่วงเป็นขุนเขา เป็นริ้วแนวเนินสลับขึ้นลง

เมื่อเข้าสู่พื้นที่บริเวณอำเภอสันกำแพง จะเห็นป้ายเชิญชวนของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ รีสอร์ทใกล้ธรรมชาติ คาเฟ่ ไร่ชาน้อยใหญ่ เรียงรายดึงดูดความสนใจยักท่องเที่ยว แต่จุดหมายปลายทางของคนส่วนใหญ่กลับเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ใน อำเภอแม่ออน ซึ่งอยู่ถัดออกไป หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับพื้นที่ของจังหวัดลำปาง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ที่ยังคงเอกลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ หมูบ้าน “แม่กำปอง”

มีคนจำนวนไม่น้อยแสดงความกังวลว่า การท่องเที่ยวที่ล้นเกินจะทำลายเสน่ห์และอัตลักษณ์ของแม่กำปอง เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศมาแล้ว  แต่สำหรับการท่องเที่ยวของแม่กำปองนั้น ดูจะแตกต่างออกไปจากแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังแห่งอื่นๆ ด้วยบริบทของพื้นที่ที่เข้าถึงไม่ง่ายนัก

เนื่องจากการไปให้ถึงแม่กำปองยังคงต้องผ่านเส้นทางคดเคี้ยวที่เลาะเลี้ยวไปมาบนเนินเขา ต้องอาศัยคนขับรถที่เชี่ยวชาญและที่มีทักษะเป็นพิเศษ เพราะทางขึ้นเขามีลักษณะแคบ รถสวนกันได้ 2 เลนแบบเฉียดฉิวเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลว่า การเที่ยวที่แม่กำปองจะต้องให้คนขับรถท้องถิ่นทำหน้าที่คอยรับส่งผู้โดยสาร ตรงนี้ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายรายได้สู่ชุมชน หรือต่อให้ไม่ใช่คนขับรถจากแม่กำปองโดยตรง พลขับที่มาจากอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะต้องเป็นคนที่รู้เส้นทางและมีความเชี่ยวชาญในการขับรถในภูมิประเทศเช่นนี้เป็นอย่างดี

แม้จะเข้าถึงยาก แต่ทันทีที่เข้าสู่เขตของหมู่บ้านแม่กำปอง ก็สามารถประทับใจได้ทันทีกับเอกลักษณ์ที่สะท้อนให้นักท่องเที่ยวเห็นโดยทั่วกัน นั่นคือภาพของบ้านเรือนทุกหลังที่ถูกสร้างด้วยไม้ หลายหลังเรียงรายไปตามลำธารอย่างสวยงาม

ขณะที่บางส่วนอยู่บนเขาสูงโดดเด่นเป็นสง่า สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ที่นำเอาวัสดุใกล้ตัว และการคำนวณการออกแบบมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างบ้าน ทำให้เกิดเป็นหมู่บ้านที่มีเอกลักษณ์น่าประทับใจแก่แขกผู้มาเยือน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มีหมอกคลุมทั่วทั้งหุบเขา แม่กำปองจึงไม่ต่างอะไรจากเมืองเล็กๆ ในม่านหมอก

นอกจากบ้านไม้และบรรยากาศเมืองในหุบเขาราวภาพฝันแล้ว อาหารรสเลิศฝีมือบรรดาพ่อแม่ในชุมชน อย่างเช่น ไส้อั่วข้าวเหนียว อาหารเหนือหรืออาหารเมืองที่คนท้องถิ่นเรียก รวมถึงอาหารที่หาได้ยากในพื้นที่อื่นอย่าง เช่น ไข่ป่าม รังผึ้ง ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารท้องถิ่นที่รสอร่อยแบบที่ใครได้ชิมจะต้องติดใจ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศต่างมีจุดหมายปลายทางที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้

ไม่เพียงแต่ลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านแม่กำปองที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร  ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจสำหรับแม่กำปอง คือ ความพยายามสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งการบริหารจัดการขยะ มีจุดทิ้งขยะเป็นจุดๆ และเน้นการแยกขยะ เพื่อนำขยะไปทำลายและจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การบริหารจัดการนักท่องเที่ยว ที่พยายามสร้างสมดุลเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม  และการหาแนวทางกำกับดูแลไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามีบทบาท และรุกล้ำความเป็นท้องถิ่นของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ แม่กำปองยังได้พัฒนาระบบสวัสดิการภายในชุมชน โดยนำเงินที่ได้มาจากการท่องเที่ยวแบ่งสรรปันส่วนให้กับลูกหลานของคนในชุมชน รวมถึงจัดสรรงบประมาณจากการท่องเที่ยวไปใช้เรื่องการทำความสะอาดและเลี่ยงการปล่อยมลพิษอีกด้วย

 

‘แม่กำปอง’ สวัสดิการชุมชนจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
‘แม่กำปอง’ สวัสดิการชุมชนจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
‘แม่กำปอง’ สวัสดิการชุมชนจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
‘แม่กำปอง’ สวัสดิการชุมชนจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เนื้อหาล่าสุด