Skip to main content

'ปัตตานีเมืองปูทะเลโลก' พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยห่วงโซ่การผลิตใหม่

11 สิงหาคม 2567

 

ปัตตานี เมืองชายแดนใต้ที่หลายคนอาจคุ้นเคย แต่ไม่คาดคิดว่ากำลังกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเล ที่มีศักยภาพมหาศาล รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ได้นำแนวคิด "ปัตตานีเมืองปูทะเลโลก" เพื่อยกระดับการผลิตปูทะเลไทยจาก 1,200 ล้านบาทต่อปีให้ถึง 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ทันสมัยและขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตปูทะเลไทยให้ครอบคลุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การอนุบาลลูกปูจนถึงการเสิร์ฟในร้านอาหาร

 


เปลี่ยนปัตตานีให้เป็นศูนย์กลางการผลิตปูทะเล


รศ.ดร.ซุกรี เล่าว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของปัตตานีไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพื้นที่ไม่เยอะพอที่จะขยายใหญ่ได้มาก แต่ด้วยแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากนากุ้งร้างในพื้นที่ริมทะเลของไทย การผลิตปูทะเลก็ยังมีโอกาสเติบโตได้สูงถึง 5,000 ล้านบาทต่อปี


“หลักเลยจริงๆ เราต้องการเป็นคานงัด ที่จะงัดปูของประเทศไทย ศักยภาพของประเทศไทยจะผลิตปูได้ปีละ 5 พันล้านบาท อันนี้เป็นศักยภาพของทั้งประเทศ เป็นศักยภาพที่เราวิเคราะห์จากพื้นที่ริมทะเล ซึ่งมองไปที่นากุ้งร้างที่เรามีอยู่ ถ้าเราเอาพื้นที่นากุ้งร้างบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด แล้วก็มามาทำเรื่องปูเนี่ย มันมีโอกาสที่จะไปถึง 5 พันล้านได้”


รศ.ดร.ซุกรี กล่าวต่อไปว่า หากย้อนกลับไปมองสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผลผลิตจากการเลี้ยงปู จากการเลี้ยง หมายถึงจากการที่ชาวบ้านเลี้ยงอยู่ที่หลัก 2-3 ร้อยล้านต่อปีเท่านั้น เป็นตัวเลขที่น้อยมาก แต่ 2 ปีให้หลัง มูลค่าเพิ่มไปถึงเกือบ 1,200 ล้านบาท 


“เพราะฉะนั้น ตัวเลขมันขึ้นจาก 2-3 ร้อยล้านเป็นระดับหลักพันล้าน แต่ความจุศักยภาพของประเทศมันไปถึง 5,000 ล้านได้ อันนี้คือเป้าหมายของงานเรา”

 


สร้างห่วงโซ่การผลิตปูทะเลที่ครอบคลุม


หนึ่งในเป้าหมายหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมปูทะเลคือการเพิ่มห่วงโซ่การผลิตจาก 3 เป็น 4 ห่วงโซ่ ซึ่งเริ่มจากการเลี้ยงแม่ปูที่มีคุณภาพ การอนุบาลลูกปูในโรงเพาะฟัก การเลี้ยงปูในบ่อดิน และเพิ่มห่วงโซ่การ "ชำปูทะเล" เพื่อเพิ่มอัตราการรอดของลูกปู เพื่อให้ลูกปูขนาดเล็กสามารถรอดและเติบโตได้ดียิ่งขึ้นในบ่อดิน ทำให้เกษตรกรมีโอกาสได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น


“หน้าที่ของเรา เนื่องจากว่าเราเป็นสถาบันการศึกษา ก็คือการสร้างความรู้ว่า ในตลอดห่วงโซ่ จะต้องสร้างอะไรบ้าง เราก็จะมีตั้งแต่ห่วงโซ่ของการเลี้ยงปูจะมีตั้งแต่แม่ปู เพราะฉะนั้นต้องมีแม่ปูที่ดีมีคุณภาพ แล้วแล้วก็ต้องมีอย่างต่อเนื่องด้วย ตรงนี้เราก็ผลิตองค์ความรู้ให้ ซึ่งนอกจากเราผลิตองค์ความรู้  เราก็ทำหน้าที่ที่ 2 ก็คือผลิตแม่ปูให้กับให้โรงเพาะฟักในประเทศไทย”


“วันนี้เราสามารถที่จะเคลมได้ว่าน่าจะ 70% ของลูกปูที่เขาใช้อยู่เนี่ย มาจากแม่เรา”


ดร.ซุกรีระบุว่าองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมา เป็นการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับกรมประมง จากนั้นถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ปูทะเลที่กระบี่ ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตแม่ปูได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ผลิตแม่ปูคือ ศูนย์วิจัยและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดปัตตานี ที่ยะหริ่ง

 

ขุนปูในคอนโดน้ำหมุนเวียน


นอกจากการพัฒนาห่วงโซ่การเลี้ยงปูทะเลแล้ว อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ "การขุนปูในคอนโดน้ำหมุนเวียน" ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับเกษตรกรในปัตตานี รศ.ดร.ซุกรีเล่าว่า "หลังจากปูได้ขนาด 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม เราก็จะขุนปูในคอนโดน้ำหมุนเวียน ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้ปูโตเร็วและมีเนื้อแน่นเหมือนปูธรรมชาติ ทำให้ปูที่ขายได้มีคุณภาพสูง และผู้บริโภคก็มั่นใจในความสดและรสชาติของปูที่ได้"


การเลี้ยงปูส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในบ่อดินที่อยู่ใกล้น้ำ โดยมีพื้นที่นากุ้งร้างที่อาจถูกนำมาใช้เลี้ยงปู แต่หลายพื้นที่ต้องการการปรับปรุงและลงทุนสูงเพราะบ่อทิ้งร้างมานาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ทำให้บางพื้นที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันที


อำเภอที่มีศักยภาพในการเลี้ยงปู ได้แก่ อำเภอปะนาเระ (พื้นที่บางมะรวด) และอำเภอยะหริ่ง (แต่บางพื้นที่น้ำจืดเกินไปจึงไม่เหมาะสม) ปัจจุบันมีการเลี้ยงปูในบางพื้นที่ เช่น ต.ตะโละสะมิแล และ ต.บางปู ในเขตอำเภอเมืองและอำเภอหนองจิก


พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปูในปัตตานีมีประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งไม่มากนัก แต่สามารถผลิตปูมูลค่าสูงได้ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปูขาวที่ตลาดจีนต้องการมาก อย่างไรก็ตาม การผลิตในปัตตานียังไม่สามารถทำได้เป็นล็อตใหญ่

 


ห่วงโซ่ปลายทาง คือไปถึงผู้บริโภค


“แล้วสุดท้าย เป็นห่วงโซ่ที่เราต้องทำคู่ ก็คือพวกปลายทาง คนกิน ร้านอาหารนะครับ อย่างปัตตานีเองก็มีร้านอาหารที่มีปูขายอยู่หลายร้านเหมือนกันนะ วันนี้มีอยู่หลายร้านมาก พฤติกรรมเมื่อก่อนคนปัตตานีกินปูไม่เป็น ไม่ยากมากก็ต้ม แต่วันนี้มันเปลี่ยนแล้ว จะเป็นปูนึ่งนมสด แกงส้มปู ปูทอดกระเทียม” 


ดร.ซุกรีกล่าวว่ประเทศไทยยังมีความต้องการปูสูง ทั้งจากการจับในทะเลและการเพาะเลี้ยง ซึ่งผลิตได้ประมาณพันล้านบาท แต่ตลาดภายในประเทศยังมีความต้องการปูมากกว่าที่ผลิตได้

 


โอกาสใหม่สำหรับเศรษฐกิจท้องถิ่น


การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตปูทะเลในปัตตานีไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากนากุ้งร้างที่ยังมีอยู่หลายพันไร่ในพื้นที่ "สินค้าเกษตรที่ตลาดต้องการมากกว่าที่เราผลิตได้มีไม่กี่อย่าง ปูทะเลเป็นหนึ่งในนั้น และราคาของมันก็ไม่ตกเลย" รศ.ดร.ซุกรีกล่าวเสริม


การพัฒนา "ปัตตานีเมืองปูทะเลโลก" ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตปูทะเลของประเทศไทย ให้ก้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


“อันนี้คืองานวิจัย งานวิจัยที่ใช้ได้เลย คืองานวิจัยเพื่อผลิตแม่ให้ออกขายนอกกระดอง พอมันออกไข่นอกกระดอง เราสามารถที่จะส่งให้กับหน่วยงานเอกชน รัฐบาลที่เขาไปอนุบาลลูกปูต่อ และลูกปูที่เขาอนุบาล บางที่ก็ขาย บางที่ก็แจกให้กับชาวบ้าน บางที่ก็ไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะฉะนั้น นี่คือผลกระทบที่มันไปจากปูปัตตานี ไปช่วยเสริมปูของประเทศไทย นี่คือจุดที่เรายืนอยู่ตอนนี้” รศ.ดร.ซุกรี

 

'ปัตตานีเมืองปูทะเลโลก พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยห่วงโซ่การผลิตใหม่
'ปัตตานีเมืองปูทะเลโลก' พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยห่วงโซ่การผลิตใหม่
'ปัตตานีเมืองปูทะเลโลก' พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยห่วงโซ่การผลิตใหม่
'ปัตตานีเมืองปูทะเลโลก' พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยห่วงโซ่การผลิตใหม่
เนื้อหาล่าสุด