มูฮำหมัด ดือราแม
Melayu Living กลุ่มนักสร้างสรรค์ในย่านเมืองเก่าปัตตานีร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมจัดงาน Pattani Decoded 2024 ในธีมที่ชื่อว่า “Unparalleled” ชวนผู้คนมาร่วมกันถอดรหัสคนปัตตานี ผ่านรสนิยมการแต่งกายอันจัดจ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567 ใน 4 ย่านของเมืองคือ ถนนปัตตานีภิรมย์ ตลาดเทศวิวัฒน์ ถนนปรีดา และชุมชนจะบังติกอ โดยการสนับสนุนจากบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
เทศกาลปัตตานีดีโคตร ถอดรหัสมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ
ฮาดีย์ หะมิดง ประธานจัดงาน Pattani Decoded 2024 กล่าวว่า ความเป็นคนปัตตานีนั้นต้องต่อรองอยู่เสมอ ระหว่างความเป็นจารีตกับสมัยใหม่ การยืนหยัดรักษาและการเปลี่ยนแปลง ความเป็นตัวเองและความเป็นอื่น จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันถอดรหัสความจัดจ้านของคนปัตตานีที่สำแดงผ่านรสนิยมการแต่งกาย
“สิ่งเหล่านี้ คือ การต่อรองระหว่างเส้นขนานที่แตกต่างกัน โดยมีผลลัพธ์ผ่านวิธีคิด วัฒนธรรม รสนิยมต่าง ๆ เดินทางผ่านมาและออกไป หลายเรื่องเป็นความทรงจำอันสวยงาม พร้อมพัฒนา หากผู้คนยังคงอยู่เพื่อหลอมรวมคุณค่าเก่าแก่ผสมกลมกลืนสิ่งใหม่”
ความหมายที่ซ่อนอยู่ของ Pattani Decoded
ราชิด ระเด่นอาหมัด สถาปนิก/นักออกแบบเมืองจากกลุ่ม Melayu Living กล่าวว่า Pattani Decoded ในความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาษาไทย ก็คือ ปัตตานีดีโคตร คือ “เราจะบอกว่าที่นี่มันมีของดีอยู่เยอะ”
ราชิด กล่าวว่า Pattani Decoded คือ การหยิบเรื่องเล่าที่น่าสนใจในพื้นที่มาเล่าด้วยภาษาใหม่ ทั้งเรื่องการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์และการตีความบางอย่างในสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยชวนศิลปิน คนทำงานออกแบบ ชาวบ้าน คนทั่วไป คนต่างถิ่นที่สนใจมาคุยมาร่วมกันออกแบบ
ราชิด กล่าวว่า Pattani Decoded จัดครั้งแรกปี 2019 พูดถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 12 หมวดใน 3 จังหวัด โดยเชิญทั้งผู้ประกอบการ นักออกแบบ ศิลปินหรือคนทำธุรกิจมาคุยกันว่าควรมีเทศกาลประจำปี แต่ก็หยุดไปในช่วงโควิดระบาด แล้วจัดอีกครั้งในปี 2022 จึงทำให้เห็นว่าควรจะจัด 2 ปีครั้งจึงจะเหมาะ
“Pattani Decoded ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่อยู่ที่กระบวนการความคิดว่า เราทำงานกับใคร คิดด้วยคอนเซ็ปต์อะไร จึงค่อนข้างใช้เวลาในกระบวนการนี้ ดังนั้น อีเวนท์ คือเครื่องมือหนึ่งที่เรามองว่า ต่อให้งานผ่านไปแล้ว 2 ปี แต่ทำไมยังมีการพูดถึงอยู่ แสดงว่าคุณได้อะไรบางอย่างไปแล้ว ไม่ใช่จากอีเวนท์ แต่จากสิ่งที่เราสื่อออกมา”
Pattani Decoded คือ การทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก
ฮาดีย์ กล่าวว่า หัวข้อที่เลือกส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เป็นทุนของท้องถิ่น มรดกทางภูมิปัญญาและมรดกด้านวัฒนธรรมที่ไม่ได้หยิบจับหรือพูดคุยแบบผิวเผิน แต่พูดถึงทุนทางวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อน มีที่มาที่ไป เกี่ยวพันกับคนจำนวนมากหรืออยู่กับพวกเรามานาน โดยต้องใช้เวลาทำความเข้าใจจนตกผลึกทางความคิด ไม่เฉพาะกับคนทำงานเท่านั้น แต่ต้องตกผลึกด้วยว่า จะออกแบบและนำเสนออย่างไร จะทำงานร่วมกับใคร เป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ต่อให้หยิบเรื่องเล็กๆ มาคุยก็ต้องละมุนละไมกับมัน มันคือการเอนเกจกับคนอีกเยอะ
ฮาดีย์ กล่าวว่า Pattani Decoded ใช้เวลาเตรียมงานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หลังงานก็ต้องใช้เวลาในการคุยต่ออีกหลายเดือน ถ้าจัดปีต่อปีก็จะไม่ทันได้คิดและไม่มีช่วงเวลาดูว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างกับพื้นที่
นิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจในงาน Pattani Decoded 2024
UNPARALLELED บอกเล่าถึงไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของเมือง ที่ส่งผลถึงผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองปัตตานีปัจจุบัน การจัดแสดงรูปแบบของเสื้อผ้าที่สะท้อนถึงยุคต่างๆ ประกอบด้วย
ฮิญาบ
นิทรรศการที่จะชวนให้ผู้คนสนทนาถึงฮิญาบในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านมุมมองของนักเขียน นักสร้างสรรค์ และช่างภาพ
Fashion Lab
นิทรรศการห้องทดลอง ปะติดปะต่อเรื่องราว นำเสนอเบื้องหลังวิธีคิดด้านการแต่งกายของผู้คนในพื้นที่ ผ่านมุมมองด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม กระแสสังคม รวมทั้งเทรนด์แฟชั่นในยุคต่าง ๆ
Made in Pattani
นิทรรศการที่ Pattani Decoded ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จัดแสดงผลงานของ 10 ผู้ประกอบการเก่าแก่ในย่านที่ทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์ทั้งในและนอกพื้นที่ โดยใช้เครื่องมือออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาต่อยอดบนพื้นฐานของทักษะดั้งเดิมและเอกลักษณ์ของพื้นที่
นิทรรศการแสง Pattani Decoded
ได้ร่วมกับทีม LIGHT IS ออกแบบและจัดแสดงแสงไฟบนอาคารมัสยิดรายอฟาฏอนี สถานที่ประวัติศาสตร์และศูนย์รวมกิจกรรมทางศาสนาของคนในชุมชนร่วม 180 ปี ขับเน้นให้อาคารมัสยิดแห่งนี้เปล่งประกายในเวลากลางคืน เพื่อสะท้อนถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมอันสวยงามและเรื่องราวรายล้อมมัสยิดแห่งนี้ตลอดมา
เกิดบนเรือนมลายู
กิจกรรมเปิดตัวหนังสือเกิดบนเรือนมลายู จัดพิมพ์โดย Patani NOTES ที่รวบรวมเรื่องราวอันแสนธรรมดาสามัญของชีวิตที่เกิดและเติบโตบนเรือนมลายู แต่ร้อยรวมเรื่องราวจน กลายเป็นสิ่งแตกต่างจากที่อื่น
Jentayu
หนึ่งใน Installation ของงานที่ถอดรหัสจากบันทึกของคณะสำรวจชาวอังกฤษ W.W. Skeat ที่เดินทางมาถึงเมืองปัตตานีในปี 1899 ในห้วงเวลาที่จะมีงานแต่งงานสำคัญของเมือง Skeat ได้บันทึกรายละเอียดของขบวนแห่งานแต่ง เช่น ต้นบุหงาซีเร๊ะ ประดับด้วยนกหลายชนิด โดยเฉพาะนก Jentayu ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนกที่มีความสำคัญในวรรณคดีมลายู Skeat ยังได้บันทึกพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งงานไว้อย่างน่าสนใจ
Bek Woh
กิจกรรมซึ่งมีรากคำมาจากภาษาอังกฤษว่า Big Work หมายถึงการจัดกิจกรรมกินเลี้ยงในชุมชนที่ต้องใช้แรงงานของผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานแต่งงาน ช่วงเวลานี้ทุกคนจะได้กินอาหารเมนูพิเศษที่มักจะมีอยู่แค่ในงานแต่ง เช่น Gula Besar หรือแกงเนื้อชิ้นใหญ่ที่หาทานยากในช่วงเวลาปกติ
Baju Guni
นิทรรศการที่จัดแสดงในห้องของโรงแรมแพลเล็สอันเก่าแก่จำนวน 6 ห้อง ในแต่ละห้องจะพบกับเสื้อผ้าชั้น Rare ที่ถูกคัดสรรจากเพื่อนพ้องในวงการเสื้อผ้ามือสองจำนวนหกเจ้า เสื้อผ้ามือสองเหล่านั้นมีมูลค่าตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน ขณะที่เสื้อผ้าบางตัวไม่สามารถประเมินค่าได้ด้วยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับที่มาของเสื้อผ้าตัวนั้น
PRIDA St.
ตลาดสร้างสรรค์ข้างโรงแรมจงอาที่จะเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการแฟชั่นรุ่นใหม่ในด้านต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ของทำมือ เป็นต้น
Lorong Ruedee
ศูนย์รวมของเสื้อผ้าวินเทจและรถวินเทจที่จะตั้งอยู่หน้าตลาดเทศวิวัฒน์
Pasar Raya
ตลาดชุมชนบริเวณมัสยิดรายอ เป็นการจัดกิจกรรมตลาดชุมชนสร้างสรรค์ ชูจุดเด่นและอัตลักษณ์ของพื้นที่ชุมชนย่านเมืองเก่าจะบังติกอ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญ ด้วยการพัฒนาตลาดสร้างสรรค์ของชุมชน
เกลือและคราม
นิทรรศการที่จับมือกับ Fab Café ทดลองนำเกลือมาพัฒนาให้เป็นสินค้าในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจะจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากต้นคราม
NEW TCDC PATTANI
ปัตตานีได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 จังหวัด ของ NEW TCDC นิทรรศการนี้จะบอกเล่าถึงวิธีคิดการออกแบบ NEW TCDC แห่งนี้ที่ตั้งขึ้นบนความคิดที่ว่า เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่หลอมรวมผู้คนและยุคสมัยของเมืองปัตตานีเข้าไว้ด้วยกัน
อนาคตของ TCDC PATTANI คืออนาคตของทุกคนที่สามารถเข้าถึงและใช้งาน TCDC แห่งนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ TCDC PATTANI จะทำหน้าที่เป็น PLATFORM ที่ทุกคนสามารถออกแบบอนาคตได้ร่วมกัน
จุดบรรจบของเส้นขนานใน 4 ย่านที่จัดสำแดงในงาน Pattani Decoded 2024
จุดเริ่มต้นของเมืองปัตตานี ณ สถานที่ตั้งแห่งนี้ เกิดขึ้นในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการเป็นเมืองติดแม่น้ำทำให้มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ที่มาพร้อมกับธุรกิจตามเส้นสัญจรทางน้ำ การผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างคนที่อยู่เดิม อิทธิพลทางวัฒนธรรมของชาวมลายูกลันตัน-ตรังกานูและจีนที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามา ปัตตานียังมีผู้คนอีกมากหน้าหลายตาที่เรียกเมืองแห่งนี้ว่า “บ้าน” แม้มีภูมิหลังและที่มาอันแตกต่างหลากหลาย
ชุมชนที่เป็นเสาหลักสำคัญของเมืองปัตตานี คือ ชุมชนกือดาจีนอ และชุมชนจะบังติกอ ในบันทึกของบุคคลสำคัญที่แวะเวียนมาเยือนเมืองแห่งนี้ มักจะกล่าวถึงชุมชนทั้งสองแห่ง
ครั้งหนึ่งความเจริญกระจุกตัวอยู่ริมแม่น้ำในยุคที่การเดินทางเข้ามาออกไปของสินค้ายังคงพึ่งพาเส้นทางน้ำ ด้วยยุคสมัยที่ผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จุดที่เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญในยุคสมัยหนึ่งก็ค่อยขยับขยายออกไปยังย่านอื่นของเมือง
ถนนปัตตานีภิรมย์ เคยรุ่งเรืองสู่เงียบเหงา และกำลังเป็นย่านสุดฮิป
ถนนปัตตานีภิรมย์อยู่ในชุมชนกือดาจีนอ เป็นย่านเมืองเก่าที่เรืองรองทางการค้าในอดีต บ้านหลายหลังในย่านนี้บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ความเจริญของเมือง มีบ้านบุคคลสำคัญที่เคยมีคุณูปการให้กับเมือง เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป ความเป็นศูนย์กลางการค้าก็ขยับขยายออกไปสู่ย่านอื่น
แม้จะเงียบเหงา แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีผู้คนพยายามที่จะฟื้นฟูให้ย่านนี้เป็นที่สนใจของผู้คนอีกครั้ง กลุ่มมลายูลิฟวิ่ง อีกทั้ง โครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานีที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการวิจัยปรับเปลี่ยนย่านนี้ให้กลับมาสว่างไสวอีกครา
ปัจจุบันย่านนี้เต็มไปด้วยร้านกาแฟมากมาย เป็นย่านที่ลงตัวระหว่างความเป็นเมืองเก่าและความฮิปแห่งยุคสมัย คนรุ่นใหม่จำนวนมากมาจิบกาแฟและหามุมเก๋ๆ ถ่ายรูปในย่านนี้
ถนนปรีดา อดีตศูนย์กลางรสนิยมสมัยใหม่
ถนนปรีดาเคยเป็นย่านที่คึกคักทั้งกลางวันและกลางคืน เคยเป็นที่ตั้งของวิกคิงส์ และโรงหนังอีกหลายโรงในละแวกเดียวกัน เป็นย่านที่เคยเป็นที่ชุมนุมของช่างตัดเสื้อและร้านถ่ายรูปซึ่งอยู่คู่เมืองมากว่า 70 ปี ที่สำคัญเป็นที่ตั้งโรงเตี๊ยมชั้นหนึ่งของเมืองปัตตานี คือโรงแรมจงอา ซอยข้างโรงแรมสามารถเดินทะลุไปยังตลาดนัดโต้รุ่ง
ไม่ไกลจากถนนเส้นนี้มากนักเป็นที่ตั้งค่ายเพลงภาษามลายูที่สร้างความสุนทรีย์ให้ผู้คนมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ความคึกคัก ความเรืองรองที่เคยอยู่คู่ย่านนี้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ถูกดิสรัปต์ด้วยปัจจัยการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ
ตลาดเทศวิวัฒน์ อดีตศูนย์รวมความเจริญของเมือง
ตลาดเทศวิวัฒน์ หรือ ตลาดไกล เคยเป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมความเจริญของเมืองปัตตานี นอกจากจะเป็นตลาดสดแล้วยังเป็นแหล่งร้านทองและแหล่งขายผ้า เป็นจุดจอดรถโดยสารสาธารณะเกือบทุกสายที่วิ่งเข้ามาในเมืองปัตตานี แม้ยังคงทำหน้าที่ตลาดสดอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ความเป็นศูนย์กลางก็ค่อยๆ กระจายตัวไปยังย่านอื่นตามการขยายตัวของเมือง
จะบังติกอ ชุมชนใหญ่ที่รายล้อมด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์
จะบังติกอเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสถานที่ประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดรายอที่ก่อร่างและเติบโตคู่กับการสถาปนาของเจ้าเมืองปัตตานีเมื่อครั้งอดีต เป็นสถานที่ตั้งวังที่เจ้าเมืองเคยพำนักอาศัย มี“กูโบร์โต๊ะอาเย๊าะห์” สุสานที่ฝังพระศพเจ้าเมืองหลายพระองค์ของเมืองปัตตานีและคนสำคัญอีกหลายท่าน
ชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจารีตและขนบความเป็นมลายู ทั้งรูปแบบบ้านเรือนและทักษะของช่างฝีมือ สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ กลืนหายไปกับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง
อาคารเด่นในย่าน Melayu Living
ที่ตั้งของกลุ่มมลายูลิฟวิ่งแห่งนี้ เป็นบ้านของตระกูลวัฒนายากรซึ่งเคยเป็น‘เจ้าภาษีนายอากร’ ผู้ทำหน้าที่เก็บภาษีแทนรัฐบาลในอดีต ย่านนี้เคยเป็นจุดศูนย์กลางการค้าในเมืองจนเวลาล่วงผ่านไปทำให้ย่านนี้เงียบเหงาลงไป และกลับมามีเสน่ห์อีกครั้งด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์
อาคารสองห้องแห่งนี้ กำลังจะเป็นที่ทำการศูนย์สร้างสรรค์และการออกแบบปัตตานีหรือ TCDC Pattani
ตึกขาวหน้าตลาดเทศวิวัฒน์
ตลาดสดแห่งนี้เกิดขึ้นจากการมองการณ์ไกลของคหบดีท่านหนึ่งที่มองว่า การมีตลาดสดจะทำให้พื้นที่กลายเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และก็เป็นเช่นนั้นเมื่อตลาดแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางอาหารสด ร้านขายผ้า ร้านทอง จุดจอดรถของรถสาธารณะที่วิ่งเข้าเมือง
การเจริญเติบโตของเมืองและการมีตลาดสดอีกหลายแห่งที่ผุดขึ้นใหม่ ทำให้ตลาดแห่งนี้เงียบเหงาลงไปบ้าง ตรงหน้าตลาดจะมีตึกขาวสูง 3 ชั้นตระหง่านอยู่ เคยเป็นร้านขายของหลายชนิด กระทั่งเคยเป็นสถานที่จัดนิทรรศการศิลปะมาแล้ว
โรงแรมจงอา
ถนนปรีดา คือ ถนนที่คึกคักของเมืองมาเนิ่นนานในย่านนี้ มีโรงแรมแห่งหนึ่งซ่อนตัวอย่างนิ่งสงบคอยทำหน้าที่รับใช้ผู้คนที่มาเยือนปัตตานีตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา โรงเตี๊ยมแห่งนี้เคยใช้ชื่อว่า โรงแรมปรีดา และเปิดมาตั้งแต่ก่อนปี 2500
จุดเริ่มต้น คือ การเป็นเพิงขายกาแฟให้ผู้คน กระทั่งธุรกิจเติบโตกลายเป็นโรงเตี๊ยม แต่เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญคือ เหตุการณ์ไฟไหม้ในเมืองทำให้ธุรกิจที่สร้างมาแทบสูญสลายไปต่อหน้าต่อตา แต่ความใจสู้และการช่วยเหลือจากผู้คนในย่าน ทั้งกำลังแรงงานและการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เจ้าของกิจการลุกขึ้นสู้เพื่อทำโรงแรมอีกครั้งในปี 2502 โดยตั้งชื่อใหม่เป็นโรงแรมจงอา จุดเริ่มของจงอา คือ การเป็นโรงเตี๊ยมที่ขายติ่มซำและกาแฟ
ไม่ไกลมากนักเป็นที่ตั้งของโรงหนังที่เรียกกันว่า วิกคิงส์ โรงหนังแห่งนี้ใช้วิธีพากย์เสียงสดและเป็นที่แสดงมหรสพ จึงทำให้มีผู้คนในวงการบันเทิงมานอนพักยังโรงเตี๊ยมแห่งนี้ อาทิเช่น อาจารย์สุรพล สมบัติเจริญ และ พุ่มพวง ดวงจันทร์
ธุรกิจของครอบครัวแห่งนี้เติบโตและขยายพื้นที่ออกไป จากโรงเตี๊ยมที่ขายติ่มซำเพิ่มเป็นคาเฟ่และตึกสำหรับส่วนต่อขยายของโรงแรม จนถึงปี 2540 ด้วยพิษฟองสบู่คาเฟ่ต้องปิดตัวลง ไม่มีใครออกมาจับจ่ายซื้อของ ขณะที่ธุรกิจประมงซึ่งหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของปัตตานีเข้าสู่ช่วงขาลง ทำให้กงล้อธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองหยุดชะงักและซบเซามาจนถึงปัจจุบัน
บริษัทปัตตานีอุตสาหกรรม (1971) จำกัด
บริษัทแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นด้วยการนำนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าจากยางพารา จนทำให้บริษัทสามารถยืนหยัดอยู่ได้มาเกินครึ่งศตวรรษ จิตวิญญาณแห่งการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมถูกส่งต่อให้ลูกหลานที่รับช่วงต่อธุรกิจ กระทั่งการปรับปรุงอาคารแห่งนี้ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ล้ำหน้า โดยนำวัสดุมา Upcycling ตั้งแต่พื้นหินขัดที่นำเศษพลาสติกไฟแช็กมาเป็นส่วนผสม ไม้เก่าจากการรื้อโครงสร้างเดิมของอาคาร façade จากแผ่นทะเลจรที่เป็นขยะรองเท้าจากทะเล โดยใช้ 2 สีคือ แดงและฟ้า เขียว เพื่อสื่อสารถึง Patex (แดง) และ Original (ฟ้า เขียว) ที่สามารถแปรอักษรได้ตามใจชอบ และงานโมบายที่ทำจากโมลด์ลูกโป่งที่เป็นธุรกิจเดิมของปัตตานีอุตสาหกรรม
มัสยิดรายอ
มัสยิดหลวงที่ก่อร่างและเติบโตคู่กับการสถาปนาเมืองปัตตานีเมื่อครั้งอดีต มัสยิดรายอหรือชื่อเต็มมัสยิดรายอฟาฏอนี กำลังจะเข้าสู่วาระครบรอบ 180 ปี ในปี 2568 นอกจากจะเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาแล้ว ชุมชนรอบ ๆ มัสยิดยังเต็มไปด้วยผู้คน สถานที่ รวมทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจารีตและขนบความเป็นมลายู ทั้งรูปแบบบ้านเรือนและทักษะของช่างฝีมือ สิ่งเหล่านี้ค่อย ๆ กลืนหายไปกับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง