Skip to main content

'บ้านแม่กลางหลวง’ การท่องเที่ยวชาติพันธุ์ ที่เกิดจากการระดมสมองของคนในชุมชน

8 กันยายน 2567

 

ในช่วงเหมันต์ฤดู นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมายังดอยอินทนนท์ อำเภอจอมจอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชมน้ำค้างแข็ง แม่คะนิ้ง จนถึงกิ่วแม่ปาน สัมผัสกับบรรยากาศท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงระดับโลกบนยอดดอย แต่ใครจะรู้ว่ามีอีกหนึ่งสถานที่ที่ซ่อนอยู่ระหว่างเส้นทางยอดนิยม อย่าง ‘หมู่บ้านกลางหลวง’ ของชาวปกาเกอญอ ที่ซ่อนตัวอยู่ตามนาขั้นบันได ไร่กาแฟ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ภูมิประเทศของแม่กลางหลวงอาจดูแปลกตา เพราะลานว่างตรงกลางจะเป็นนาปลูกข้าว ส่วนตามไหล่เขาจะเป็นการปลูกต้นกาแฟ อีกทั้งยังมีแพ็กเกจท่องเที่ยวของวิสาหกิจชุมชน อันเป็นการร่วมไม้ร่วมมือของพี่น้องในหมู่บ้าน ที่ได้ออกแบบและเตรียมแพ็กเกจการพักผ่อนสุดประทับใจเอาไว้ ตั้งแต่การเดินเทรล ชมทิวทัศน์ป่าธรรมชาติ น้ำตก นาขั้นบันได ไร่กาแฟ และรวมถึงการเยี่ยมชมวัฒนธรรมของชาวปกาเกอญอ เช่น การทอเสื้อ การพักอยู่ร่วมกับชาวปกาเกอญอ รับประทานอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์  

ในอดีตแม่กลางหลวงเคยมีปัญหาคล้ายหมู่ชาติพันธุ์อื่นๆ คือ ปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ เนื่องจากอยู่บนที่สูง พื้นที่ราบมีน้อย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีไม่มาก และส่วนใหญ่มีไว้เพื่อใช้บริโภคภายในชุมชน แต่ด้วยความร่วมมือมือใจกันที่ต้องการฟันฝ่าปัญหา หลังปี 2542 เป็นต้นมา คนในหมู่บ้านได้ช่วยกันระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาจนเกิดเป็นแนวคิดในทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้น เน้นการชมวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวบ้าน และเยี่ยมชมการปลูกข้าวขั้นบันไดและพืชเศรษฐกิจอย่างเช่น กาแฟ ซึ่งกลายมาเป็นสินค้าขึ้นขึ้นชื่อของแม่กลางหลวง ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากยุโรป ญี่ปุ่น หรือนักท่องเที่ยวไทยนิยมซื้อแพ็คเกจทัวร์และใช้บริการไกด์ท้องถิ่น กระทั่งเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ที่ชวนอบอุ่นหัวใจแก่ผู้มาเยือน

บ้านแม่กลางหลวง เป็นภาพสะท้อนการเกิดขึ้นของความร่วมมือระหว่างคนในชุมชน ตั้งแต่การระดมสรรพกำลังพูดคุยถึงโมเดลต่างๆ ในการทำธุรกิจของคนในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นอีกภาพสำคัญที่สะท้อนการเมืองและการมีส่วนร่วมแบบล่างขึ้นบน (Bottom Up) ทั้งที่ผ่านมามโนทัศน์ท้องถิ่นไทย มักจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบการปกครองแบบบนลงล่าง รับนโยบายจากส่วนกลางและนำมาปรับ (Implemented) ในทางกลับกัน บ้านแม่กลางหลวง พยายามที่จะบุกเบิกเส้นทางการทำธุรกิจของหมู่บ้าน ทั้งมิติทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ทำให้หลายเรื่อง ถูกนำมาเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยว ที่ต้องการหลบหนีจากแสงไฟของตึกใหญ่ มุ่งหน้าสู่การนอนเอกเขนกมองแสงดาวบนท้องฟ้า

กาแฟ หนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านแม่กลางหลวง กาแฟ เป็นพืชที่พิเศษสำหรับสังคมทุนนิยม เพราะนอกจากจะทำหน้าที่เป็นวัตถุดิบในตัวมันเองแล้ว คาเฟอีนของมันยังทำหน้าที่ในการเพิ่มปัจจัยการผลิตให้กับพี่น้องแรงงานทั่วโลก

ทศวรรษที่ผ่านการขยายตัวของกาแฟเพิ่มขึ้นอย่างมาก จุดเด่นสำคัญของกาแฟแม่กลางหลวง คงจะเป็นความสดใหม่ มราคั่วให้ดูกันตรงหน้า ก่อนจะนำมาปรุงทันทีโดยพ่ออุ้ยแม่อุ้ยชาวปะกาเกอญอ แถมรายได้ยังกลับเข้ากระเป๋าคนในชุมชน นักท่องเที่ยวได้อิ่มอร่อย คนในหมู่บ้านอิ่มใจ ถือว่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นี้ เป็นโมเดลที่น่าสนใจ

นอกจากกาแฟ ยังมีเส้นทางเดินป่าที่ชาวบ้าน เด็กๆ ที่ถูกเทรนเป็นไกด์ท้องถิ่น เที่จะคอยให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มาเยือน ถึงเส้นทาง พืชพรรณ ชนิดนกที่หลบซ่อนตัวในป่าสูง และเช่นเคย รายได้ทั้งหมด ก็จะกลับคืนสู่ชุมชน และเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกับคนในชุมชน

 

บ้านแม่กลางหลวง’ การท่องเที่ยวชาติพันธุ์ ที่เกิดจากการระดมสมองของคนในชุมชน
บ้านแม่กลางหลวง’ การท่องเที่ยวชาติพันธุ์ ที่เกิดจากการระดมสมองของคนในชุมชน
บ้านแม่กลางหลวง’ การท่องเที่ยวชาติพันธุ์ ที่เกิดจากการระดมสมองของคนในชุมชน
บ้านแม่กลางหลวง’ การท่องเที่ยวชาติพันธุ์ ที่เกิดจากการระดมสมองของคนในชุมชน
เนื้อหาล่าสุด