Skip to main content

‘People Brewery’ by ดาวดิน คราฟต์เบียร์ที่กำเนิดจากการชุมนุมและกำลังสู้เพื่อกระจายอำนาจ

5 สิงหาคม 2567

 

กระแสคราฟต์เบียร์เป็นที่นิยมมากขึ้น พร้อมกับข้อเรียกร้องปลดล็อกทางกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยผลิตสุราเสรีได้ ที่สำคัญเทรนด์คราฟต์เบียร์ไม่ได้เกิดแค่ในกรุงเทพฯ แต่เริ่มมีทั้งผู้ผลิตและร้านคราฟต์เบียร์กระจายอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ขอนแก่น “People Brewery” เกิดขึ้นขึ้นหลังกระแสชุมนุมใหญ่ในปี 2563 โดยสมาชิกกลุ่มดาวดิน อดีตนักศึกษาที่ต่อสู้เคลื่อนไหวร่วมขบวนการชาวบ้าน นอกจากการผลิตคราฟต์เบียร์แล้ว เขายังหวังว่า “People Brewery” จะเป็นพื้นที่แสดงออก ซึ่งพวกเขากำลังปักหมุดสู้เรื่องการกระจายอำนาจ

“เขาคาดหวังกับเรานะว่าจะพาเขาสู้ไปได้ เขาคิดว่าเรามีชื่อ แต่จริงๆ ชาวบ้านมีคุณูปการกับเรามากกว่า เรียกว่า เราต่างสู้ไปพร้อมกันมากกว่า” 

กรชนก แสนประเสริฐ หรือ “พบ” เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มของร้าน โดยภายหลังจากที่ร่วมชุมนุมหลายครั้งในปี 2563 ทำให้เขารู้จักกับกลุ่มการเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มคนทำเบียร์อิสระที่ออกมาเรียกร้องกฎหมายสุราเสรี เช่นกลุ่มประชาชนเบียร์ 

“เราเดินทางบ่อยเลยรู้ว่าต่างประเทศมีเบียร์หลากหลาย แต่ไทยมีให้เลือกไม่มาก”

เริ่มตั้งแต่ปี 2546 “พบ” เข้าเรียนปี 1 ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากตำรากฎหมายแล้วเขายังเข้าค่ายเรียนรู้ปัญหาชุมชน ได้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านเผชิญจากทั้งโครงการของรัฐ รวมไปถึงจากข้อกฎหมาย หลังกลับมาที่มหาวิทยาลัย เขาจึงได้รวมตัวกับเพื่อนตั้งกลุ่ม “เผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม” ชวนเพื่อนนักศึกษากฎหมายลงพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการและนโยบายของรัฐ เพื่อศึกษาปัญหาการละเมิดสิทธิฯ

คำว่า “ดาวดิน” ซึ่งเป็นชื่อวารสารที่พวกนักศึกษาใช้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหลังลงพื้นที่กับชาวบ้าน ถูกใช้เรียกจนติดปากกลายเป็นชื่อกลุ่ม โดยนับตั้งแต่ค่ายเรียนรู้ปัญหาชุมชนเมื่อปี 2546 ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มดาวดินทั้งเก่าและใหม่หมุนเวียนเข้ามาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

หลังจากเรียนจบ “พบ” ทำงานเคลื่อนไหวภาคประชาชนสังคมมากมาย รวมทั้งก่อตั้ง “ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม” ที่ทำงานสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนต่างๆ ในภาคอีสาน เป็นพื้นที่รองรับบัณฑิตจบใหม่จากกลุ่มดาวดินที่ยังอยากทำงานกับชาวบ้าน ทำงานประเด็นสังคมต่อ อย่างไรก็ตาม “พบ” มองว่าต้องมีฐานทางเศรษฐกิจของตัวเองเป็นแหล่งรายได้เลี้ยงชีพ จึงจะสามารถสนับสนุนงานเคลื่อนไหวทั้งของเขาและเพื่อนๆ ได้

“เราทำในสิ่งเราคิดว่าเราถนัด” ย้อนไปในวัยนักศึกษา นอกจากความสนใจในความเป็นไปต่างๆ ทางสังคม “ดาวดิน” ก็เหมือนกับนักศึกษาทั่วๆ ไปที่ชอบตั้งวงกินดื่มเป็นชีวิตจิตใจ ประจวบกับจิตวิญญาณผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ความเสาะแสวงหาฐานทางเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงชีพ “พบ” และเพื่อนๆ จึงได้ทดลองทำอะไรหลายอย่างทั้งค้าขาย เปิดร้านอาหาร ทำการเกษตร จนกระทั่งทดลองผลิตและเปิดร้านคราฟต์เบียร์เป็นของตัวเอง ลองผิดลองถูกจนเริ่มเข้าที่เข้าทาง แม้จะต้องปรับตัวกับกฎระเบียบที่ไม่เอื้อให้กับผู้ผลิตคราฟต์เบียร์รายย่อย

“People Brewery” ภาพรวมของเป็นร้านแบบบริวผับ ให้บริการเครื่องดื่มที่มีรสชาติเฉพาะตัวแบบโฮมเมด บวกกับคราฟต์เบียร์อื่นๆ จากทั้งไทยและต่างประเทศ พื้นที่ของ “People Brewery” ยังเปิดพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มดาวดิน รวมทั้งชุมชนในภาคอีสานด้วย “พบ” เล่าว่าจัดตั้งแต่เวทีวิจารณ์นโยบายโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล วงประชุมด้านสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงฉนวนกาซา

และในโอกาส 20 ปี ก่อตั้งกลุ่ม “ดาวดิน” เมื่อ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมายังมีการจัดงาน "20 ปีดาวดิน เพราะโลกนี้สงบสุขเกินไป" นอกจากนั้นยังจัดเวทีเสวนา “นำเสนอข้อเสนอกระจายอำนาจ ฉบับขบวนการอีสานใหม่” โดยเป็นโอกาสที่ “พบ” ได้นำเสนอข้อเสนอเพื่อการกระจายอำนาจ ซึ่งกลุ่ม “ดาวดิน” ตกผลึกมาจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายและชาวบ้านมาตลอด 20 ปี

“พบ” อธิบายเหตุผลที่ต้องรณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจ เพราะความเดือดร้อนของชุมชน ปัญหาการเมือง ประเด็นแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ จนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ที่ผูกขาด ต่างมีสาเหตุใหญ่อย่างหนึ่งมาจากโครงสร้างทางการเมืองที่ผูกขาดอยู่กับรัฐส่วนกลาง 

“การกระจายอำนาจ คือ การเอาสิทธิกลับมาอยู่กับชาวบ้าน ให้คนในท้องถิ่นได้เลือกชีวิตของเขาเอง ถ้าไม่สิทธินี้เราก็จะสู้ไม่รู้จบ”


 

‘People Brewery’ by ดาวดิน คราฟต์เบียร์ที่กำเนิดจากการชุมนุมและกำลังสู้เพื่อกระจายอำนาจ
‘People Brewery’ by ดาวดิน คราฟต์เบียร์ที่กำเนิดจากการชุมนุมและกำลังสู้เพื่อกระจายอำนาจ
‘People Brewery’ by ดาวดิน คราฟต์เบียร์ที่กำเนิดจากการชุมนุมและกำลังสู้เพื่อกระจายอำนาจ
‘People Brewery’ by ดาวดิน คราฟต์เบียร์ที่กำเนิดจากการชุมนุมและกำลังสู้เพื่อกระจายอำนาจ
เนื้อหาล่าสุด