Skip to main content

‘โจน จันใด’ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือ ความอยู่รอดในภาวะสงครามหรือภัยพิบัติ

5 สิงหาคม 2567

 

 

 

‘โจน จันใด’ เจ้าของ สวนพันพรรณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เขาคือผู้สะสมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเอาไว้ในผืนดิน ก่อนที่มันจะสูญหายไปจากโลกใบนี้ เพราะเขามองว่า เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านคือชีวิต คือความมั่นคงทางอาหาร เมล็ดพันธุ์คือความอยู่รอด แม้ว่าจะเกิดสงครามหรือภัยพิบัติใดๆ ก็ตาม

"ปัจจุบันนี้ เราละเลย เราไม่ค่อยสนใจ เรากินเผือกกินมัน กินพืชหัวน้อยลง เพราะว่าเราถูกฝึกให้กินของในตลาดมากขึ้น  แล้วต่อมา ชีวิตเราก็ผูกอยู่ที่ร้านสะดวกซื้อ หรือที่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าวันหนึ่งเกิดวิกฤต เกิดความเสียหายจากโรคภัยพิบัติต่างๆ จนทำให้ในร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาเก็ต ขาดแคลนอาหาร ไม่มีของมาเติมที่ชั้นตะแกรง"

โจน บอกว่า พืชตะกูลที่มีหัวใต้ดิน อย่าง มัน ปลูกครั้งหนึ่งอยู่เป็นสิบๆ ปี อยากกินเมื่อไหร่ ก็ไปขุดขึ้นม เป็นความมั่นคงทางอาหารที่เราลงทุนกับมันน้อยที่สุด นอกจากนี้ ข้อดีของพืชหัว คือ เป็นอาหารที่เก่าแก่ที่สุด ปลูกง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องดายหญ้า ไม่ต้องกำจัดวัชพืช

ส่วนเรื่องของเมล็ดพันธุ์ เขาบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องหลักของชีวิต เพราะคืออาหาร อาหารคือชีวิต  ถ้าไม่มีเมล็ดพันธุ์  ก็ไม่มีอาหาร แต่เมล็ดพันธุ์กำลังหายไปจากโลกอย่างรวดเร็ว นี่คือวิกฤต นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่เป็นปัญหาในวันนี้ เพราะมีการนำเอาเมล็ดพันธุ์นำมาเป็นสินค้า มีการผูกขาดอาหาร

"ถ้าเรามีเมล็ดพันธุ์ในมือ เราจะไม่ถูกใครยึดครอง เราจะเป็นอิสระอย่างเต็มที่ ไม่ว่าสงครามจะเกิดขึ้น โรคระบาดจะเกิดขึ้น เศรษฐกิจจะพัง หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่เรามีเมล็ดพันธุ์อยู่ในมือ เราสามารถนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้เอามาปลูกเป็นพืชเป็นอาหารเลี้ยงเราได้อยู่เสมอ  ดังนั้น การเก็บเมล็ดพันธุ์ จึงเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องรีบทำกันให้มากที่สุดในวันนี้ เพื่อเราจะอยู่ได้ เพื่อลูกและหลานของเรานั้นอยู่รอดได้"


 

เนื้อหาล่าสุด