โรงเรียนบ้านประจัน 15 ปีที่ยืนหยัดการสอนทวิภาษาฯ เชื่อมความเข้าใจภาษาท้องถิ่นสู่ภาษาไทย
มูฮำหมัด ดือราแม
ครู : มานอ ออแร มาย ปาเซ?
นักเรียน : ตู้ววว...!
ครู : มาน้อ...? มารี ตูโยะ!
แล้วนักเรียนคนหนึ่งก็เดินไปชี้ที่แผ่นภาพที่มีภาพเด็กกำลังเล่นทรายบนชายหาด
ครู : ออแร วะ กาปอ?
นักเรียน : มาย ปาแซ
ครู : วาปอ ออแร?
นักเรียน : ดูวอ ออแร....
เสียงถามตอบของ คุณครูมาเรียม มะดีเย๊าะ กับนักเรียนตัวน้อยดังเล็ดลอดมาจากห้องอนุบาล 2 โรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ด้วยภาษามลายูถิ่นล้วน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของที่นี่มากว่า 15 ปีแล้ว
ทวิภาษาเป็นการพัฒนากระบวนคิดของเด็ก ซึ่งจะไม่หยุดชะงักด้วยการไม่รู้ภาษา เป็นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กที่สามารถแตกประโยคได้ เมื่อเด็กเข้าใจพยัญชนะไทยแล้ว เด็กก็จะแปลงเป็นภาษาไทยได้โดยอัตโนมัติเมื่อไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น
เชื่อมความเข้าใจจากภาษาท้องถิ่นไปสู่ภาษาไทย
การใช้ภาษามลายูถิ่นในห้องเรียนของที่นี่เป็นกลยุทธ์หนึ่งของการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา-พหุภาษา (ไทย-มลายูถิ่น) มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่ง โดยนำภาษาแม่ของน้องๆ มาใช้สอน ในฐานะ“สะพานเชื่อมโยงความเข้าใจจากภาษาท้องถิ่นไปสู่ภาษาไทย” ซึ่งเป็นภาษาที่สองของน้องๆ เหมือนกับที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ใช้พูดคุยกันในชีวิตประจำวัน
จุดเริ่มต้นการสอนแบบทวิภาษาฯ มาจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาในโรงเรียนนำร่องใน 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ของ มหาวิทยาลัยมหิดล มีโรงเรียนนำร่อง 16 โรง ใช้ศึกษานานถึง 9 ปี
เป้าหมายคือ ต้องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของพื้นที่ซึ่งต่ำสุดของประเทศมานานหลายปี สาเหตุหนึ่งก็มาจาก “กำแพงทางภาษา” ที่ทำให้เด็กไม่เข้าใจเนื้อหาที่สอนด้วยภาษาไทย จนอาจส่งผลให้เด็กเครียดและไม่อยากเรียน
แม้ว่า ในช่วงแรกๆ โรงเรียนยังต้องเผชิญข้อครหาว่า ทำลายภาษาและวัฒนธรรมมลายู โดยเฉพาะ “การเขียนภาษามลายูถิ่นด้วยอักษรไทย” ทำไมไม่ใช้อักษรยาวีหรืออักษรรูมีเหมือนในมาเลเซีย แต่โรงเรียนบ้านประจันก็ยืนหยัดสอนระบบนี้มาถึง 16 ปีแล้ว
ขณะที่หลายโรงเรียนในโครงการได้ล้มเลิกการสอนแบบนี้ไปแล้ว ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง แต่โรงเรียนบ้านประจันยังสอนได้ เพราะครูที่ผ่านการอบรมไม่ได้ย้ายออก ลาออกหรือเกษียณราชการ โดยในฝั่งอนุบาลมีครู 3 คน ผู้ช่วยครู 1 คน และครูจากฝั่งประถมมาช่วยสอนอีก 1 คน
เริ่มต้นฟัง-พูดภาษามลายูถิ่น อ่าน-เขียนภาษามลายูอักษรไทย
ในเอกสาร “สะพานเชื่อมโยงความเข้าใจจากภาษาท้องถิ่นไปสู่ภาษาไทย” โครงการจัดการศึกษาแบบ ทวิ-พหุภาษาฯ ของ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาหลักของประเทศนั้น เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
โดยการสอนแบบทวิภาษาฯ จะเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 โดยใช้ภาษาแม่ของน้องๆ เน้นทักษะการฟังและพูดก่อน แล้วจึงเน้นการอ่านและการเขียนภาษาแม่ ส่วนการใช้ภาษาไทยจะเริ่มในเทอม 2 ของชั้นอนุบาล 1 โดยเพิ่มการใช้ภาษาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะขั้นบันไดไปจนถึงชั้น ป.6
ในการอ่านและเขียนภาษาแม่ (มลายูถิ่น) นั้น ทางโครงการฯ ได้พัฒนาระบบตัวเขียนมาตรฐานภาษามลายูถิ่นที่ใช้อักษรไทยขึ้นมา โดยมีเครื่องหมายกำกับตัวอักษรสำหรับหน่วยเสียงที่ไม่พบในภาษาไทย เพื่อช่วยให้น้องๆ สามารถเขียนคำที่ตัวเองพูดได้ครบทุกคำ และเชื่อมโยงไปสู่ภาษาไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น
ระบบตัวเขียนมาตรฐานดังกล่าว ใช้พยัญชนะไทยมาเป็นพยัญชนะภาษามลายูปาตานี มี 32 ตัว บางตัวมีเครื่องหมายกำกับ คือ วงกลม เส้นใต้และจุดด้านใต้ เริ่มต้นจาก ก.กูจิง, กฺ.กีกี ไล่ไปจนถึง อ.อีแก, ฮ.แฮมา และมีพยัญชนะสะกด 2 ตัว คือ –ง กาเม็ง, -ฮ กีปะฮ (คล้ายๆ แบบหัดอ่าน ก.ไก่ สำหรับเด็ก-ดูภาพประกอบ)
อย่างไรก็ตาม แวมัสนะห์ แส๊ะเด็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านประจัน กล่าวว่า ปัจจุบันได้ลดการสอนแบบทวิภาษาตั้งแต่ชั้น ป.1 ไม่นำทวิภาษามาใช้ทุกรายวิชาถึง ป.6 เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน ยกเว้นบางวิชาที่ต้องใช้ภาษามลายูอธิบายความคิดรวบยอดให้เด็กเข้าใจลึกขึ้น เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์
เป้าหมายคือ ต้องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของพื้นที่ซึ่งต่ำสุดของประเทศมานานหลายปี สาเหตุหนึ่งก็มาจาก “กำแพงทางภาษา” ที่ทำให้เด็กไม่เข้าใจเนื้อหาที่สอนด้วยภาษาไทย จนอาจส่งผลให้เด็กเครียดและไม่อยากเรียน
2 ปีกว่าจะเห็นผล เด็กกล้าแสดงออก จนผู้ปกครองยอมรับ
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่า แรกๆ ถูกต่อต้านเหมือนกัน ทางชุมชนและผู้ปกครองคับข้องใจว่า จะทำให้เด็กเรียนช้าไปไหม เพราะอยากให้เด็กสื่อสารภาษาไทยได้ ครูบางคนก็รู้สึกเช่นนี้เพราะเมื่อก่อนเข้าอนุบาล 1 ก็เริ่มเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ เลย แต่ ผอ.เชื่อว่างานนี้ผ่านการวิจัยจากที่อื่นมาแล้วและได้ผล
“ผู้ปกครองกลัวจะโยงเรื่องความความมั่นคงด้วย เพราะทั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ผอ. และครูทุกคนเป็นมุสลิม”
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่า พอทำถึงอนุบาล 2 ก็พบว่าเด็กมีพัฒนาการเรื่องภาษาและพฤติกรรมต่างจากเด็กรุ่นก่อน จนผู้ปกครองชอบและเห็นด้วย เพราะเห็นลูกกล้าแสดงออก กล้าพูดกับคุณครู กล้าโต้ตอบ และมีพฤติกรรมรักการอ่าน
“ต้องทำไปถึง 2 ปีกว่าจะเห็นว่าเด็กรุ่นนั้นกล้าแสดงออกมาก กล้าเล่าเรื่องแม้จะเป็นภาษามลายู ตอนนี้นักเรียนชุดแรกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว”
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่า เมื่อผู้ปกครองยอมรับว่าภาษามลายูเป็นสื่อเรียนรู้ภาษาไทยได้ ทางโรงเรียนจึงทำต่อจนถึง ป.6 พอจบโครงการวิจัยฯ ก็ยังทำต่อ โดยให้ระดับอนุบาลใช้ทวิภาษาเต็มระบบ ส่วนระดับประถมปรับลดให้เหมาะสม
ทวิภาษาสำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทางที่ยอมรับระดับนานาชาติ
เอกสารสถาบันวิจัยภาษาฯ ระบุว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้ นักเรียนทวิภาษาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในชั้นอนุบาล 2 และ ป.1 มีการพัฒนาทักษะการฟังภาษาไทย โดยใช้ “วิธีการตอบสนองความเข้าใจด้วยท่าทางหรือการปฏิบัติ” (Total Physical Response) หรือ TPR เพื่อเรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานกว่า 900 คำ
TPR เป็นกลวิธีฝึกเด็กให้ฟังแยกแยะเสียงวรรณยุกต์ต่างๆ โดยใช้หลักการเปรียบเทียบทางภาษาและรูปภาพประกอบความหมาย โดยมีกลวิธีย่อย ได้แก่ TPR-Body (คำศัพท์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย), TPR-Object (คำศัพท์เกี่ยวกับสิ่งของ), TPR-Picture (ใช้รูปภาพเป็นสื่อ) และ TPR-Story (ใช้การเล่าเรื่องและแสดงบทบาทตามเนื้อเรื่อง)
ส่วนกลวิธีอื่นๆ เช่น นิทานเล่มยักษ์ นิทานเล่มเล็ก เล่าเรื่องผลัดกัน ฉากภาพใหญ่ นิทานภาพ เป็นต้น ซึ่งเดิมหลายกิจกรรมใช้ในชั้น ป.1-2 แต่ปัจจุบันโรงเรียนบ้านประจันปรับมาใช้ในชั้นอนุบาลทั้งหมด โดยเปิดชั้นเรียนอนุบาลเพิ่มถึงชั้นอนุบาล 3
พอทำถึงอนุบาล 2 ก็พบว่าเด็กมีพัฒนาการเรื่องภาษาและพฤติกรรมต่างจากเด็กรุ่นก่อน จนผู้ปกครองชอบและเห็นด้วย เพราะเห็นลูกกล้าแสดงออก กล้าพูดกับคุณครู กล้าโต้ตอบ และมีพฤติกรรมรักการอ่าน
เผยกลวิธีสอน จากภาษามลายูถิ่นสู่ภาษาไทย
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ครูมาเรียม มะดีเยาะ ครูประจำชั้นอนุบาล 2 อธิบายว่า ในชั้นอนุบาล 1 จะสอนด้วยภาษามลายูถิ่นเป็นหลักก่อน พออนุบาล 2 ในเทอม 1 ยังใช้ภาษามลายูถิ่นอยู่ แต่เชื่อมโยงกับภาษาไทยด้วยกระบวนการ TPR ในการพูดและอ่านคำศัพท์ไทยพื้นฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ครูมาเรียม อธิบายต่อไปว่า ในชั้นอนุบาล 2 ยังใช้กลยุทธ์ฉากภาพใหญ่ให้เด็กได้ถ่ายทอดเรื่องราวในฉากภาพ เพื่อให้กล้าสื่อสารกับครู ครูก็จะเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น บนเรือลำนี้หนูอยากไปไหน ถ้ามีเด็กจมน้ำจะทำอย่างไร เชื่อมเรื่องให้เด็กได้พูดได้คิด ซึ่งกลวิธีนี้จะใช้ภาษามลายู
“ถ้ามีเด็กพูดคำไทยขึ้นมา เช่น ทะเล แสดงว่าเด็กเริ่มมีคลังคำศัพท์ไทยแล้ว แต่เด็กบางคนพูดคำว่า อายปาตา(ชายหาด) แสดงว่าเขายังมีไม่มีคลังคำศัพท์ภาษาไทย แต่ก็ได้รู้จากการออกเสียงของเด็กๆ ด้วยกันเอง ทำให้เขากล้าที่จะพูด กล้าแสดงออกได้ ทำให้เด็กไม่กดดัน”
กระตุ้นความกล้า ค่อยๆ เพิ่มคลังคำศัพท์ไทย
“ถ้าเราใช้ภาษาไทยล้วน เด็กที่ไม่มีคลังคำศัพท์ไทยก็จะไม่กล้าพูดเลย และเราก็บอกไม่ได้ว่าเด็กคนนั้นเข้าใจหรือไม่ เราจึงใช้ภาษาที่เขาเข้าใจก่อน แล้วค่อยขยับเป็นภาษาไทยมันก็จะดีกว่า”
ครูมาเรียม อธิบายอีกว่า ในชั้นอนุบาล 3 ใช้ TPR เหมือนเดิมแต่เพิ่มคลังคำศัพท์ไทยในเรื่องไกลตัวมากขึ้น เช่นคำว่า วัด มัสยิด สวน ฯลฯ พอเรียนเสริมประสบการณ์ ฉากภาพหรือนิทานภาพในขั้นต่อไป เด็กก็สามารถพูดภาษาไทยได้
“ในชั้นอนุบาล 3 ยังเรียนอีกตัวคือ PREMMER ในเทอม 2 เป็นฉากภาพที่ใช้พยัญชนะไทยและสระไทยเชื่อมการอ่านออกเสียง เช่น บ เชื่อมสระ ออ อ่านว่า บอ เป็นต้น แต่นี่เพิ่งเทอม 1 ยังอยู่ในช่วงทบทวนซึ่งเด็กต้องแม่นพยัญชนะก่อน เด็กจะเริ่มอ่านและเขียนได้ดีต้องมาดูเทอม 2 แต่ตอนนี้ก็เริ่มเขียนได้บ้างแล้ว”
สอนแบบเทียบเสียงมลายู-ไทย มี YouTube ช่วยเสริม
ครูมาเรียม อธิบายเพิ่มว่า ในการสอนจะใช้การเทียบเสียง เช่น บ.ใบไม้ผสมสระ ออ เด็กยังงงว่าจะอ่านอย่างไร จึงใช้คำว่า บ.บอยอ แทน (ภาษามลายูปาตานีอักษรไทย)
“แต่เดี๋ยวนี้เด็กดู YouTube ก็จะได้คำศัพท์มาส่วนหนึ่งแล้ว เช่นใน YouTube มี บ.ใบไม้ แต่ถ้ามาจากห้องเรียนก็คือ บ.บอยอ เด็กก็จะได้ทั้ง บ.ใบ้ไม้ และ บ.บอยอ”
ครูมาเรียม กล่าวว่า ในชั้นอนุบาล 2 เด็กสามารถแต่งประโยชน์ได้แล้ว เขียนตามคำบอกได้ เล่าเรื่องจากภาพได้ เช่น กูจิง มาแก อีแก (แมวกินปลา) เขาก็จะวาดรูปแมวและปลา หรือ อีแก อาดอ ดาแล กูแบ (ปลาอยู่ในบึง) สะสมสระไปเรื่อยๆ โดยเลือกสระเสียงยาวก่อน
“พออนุบาล 3 จะไม่ใช้ บ.บอยอ หรือ บ.ใบไม้ แล้ว แต่จะเรียก บ.เฉยๆ พอเด็กเริ่มเข้าใจการผันเสียง เช่น บ.กับสระออ อ่านว่า บอ เด็กก็จะเข้าใจการผสมคำจนเกิดคำที่มีความหมายขึ้นมา จะเป็นคำมลายูหรือคำไทยก็ได้ แต่ช่วงแรกๆ จะเป็นคำมลายูก่อนเพื่อไม่ให้เด็กงงว่ามันคืออะไร”
ครูมาเรียม กล่าวว่า เมื่อเด็กขึ้นชั้นประถม เด็กก็อ่านคำไทยสั้นๆ ได้แล้ว เริ่มจากคำที่ไม่มีตัวสะกดก่อน เช่น กอ-อา-กา, ตอ-อู-ตู เป็นต้น
ขณะที่ ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่า ในชั้นอนุบาล 3 แค่ครูขึ้นต้นคำ เช่น “อีแก” (ปลา) เด็กก็แต่งประโยคและเขียนได้แล้วในแบบเด็กอนุบาล เช่น “มามี บือลี อีแก”(แม่ซื้อปลา) “มาแก อีแก”(กินปลา) เป็นภาษามลายูที่เขียนด้วยอักษรไทย ถ้าเมื่อก่อนเด็กได้แต่นั่งฟังอย่างเดียว
“มาถึงระดับนี้เด็กก็สามารถผสมคำได้ เจอคำไทยใหม่ๆ เด็กจะอ่านได้ทันที แม้ยังไม่รู้ความหมายก็ตาม ซึ่งค่อยเติมความหมายให้ทีหลัง”
“ถ้าเราใช้ภาษาไทยล้วน เด็กที่ไม่มีคลังคำศัพท์ไทยก็จะไม่กล้าพูดเลย และเราก็บอกไม่ได้ว่าเด็กคนนั้นเข้าใจหรือไม่ เราจึงใช้ภาษาที่เขาเข้าใจก่อน แล้วค่อยขยับเป็นภาษาไทยมันก็จะดีกว่า”
พัฒนากระบวนคิดของเด็ก ไม่ถูกสกัดด้วยภาษา
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่า ทวิภาษาเป็นการพัฒนากระบวนคิดของเด็ก ซึ่งจะไม่หยุดชะงักด้วยการไม่รู้ภาษา เป็นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กที่สามารถแตกประโยคได้ เมื่อเด็กเข้าใจพยัญชนะไทยแล้ว เด็กก็จะแปลงเป็นภาษาไทยได้โดยอัตโนมัติเมื่อไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น
“เมื่อความคิดสร้างสรรค์ไม่ถูกสกัดด้วยภาษา เด็กก็จะมีวิธีถ่ายโอนคำมลายูเป็นภาษาไทยได้ เหมือนในกระบวนการ TPR โดยเอาคำสองคำมาประกบแล้วมีความหมายในภาษามลายู บางคำก็มีความหมายในภาษาไทย เช่น ตอ-อะ-ตะ เชื่อมกับ ปอ-อู-ปู ครูก็ใช้โอกาสนี้อธิบายว่า ตะปูคืออะไรในภาษาไทย แล้วชมว่าเก่งมาก”
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่า การที่เด็กผสมคำเองแล้วมีความหมายขึ้นมาได้นั้น ทำให้เด็กรู้สึกมีความสุข รู้สึกตื่นเต้น ซึ่งวิธีการถ่ายโอนภาษานี้จะติดตัวเด็กไป แต่ถ้ายังถ่ายทอดเป็นภาษาไทยไม่ได้ ครูก็จะต่อยอดความคิดให้ เมื่อเด็กมีคลังคำศัพท์ภาษาไทยเยอะขึ้นเขาก็จะถ่ายทอดออกมาได้เอง
“ดังนั้น ทวิภาษาจึงตอบโจทย์ผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เด็กเรียนอย่างมีความสุขและปลอดภัยในสถานศึกษา นี่คือตัวชี้วัดสำคัญ”
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่าการสอนแบบทวิภาษาไม่มีปัญหากับหลักสูตรของรัฐเลย เพราะได้ตัวชี้วัดครบหมดทุกอย่างตามที่กำหนด
ความสำเร็จ 4 ประการ ผลสัมฤทธิ์การศึกษาสูง
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่า การวัดผลในช่วงแรกๆ ทางโครงการนำนักเรียนทวิภาษาและจากโรงเรียนคู่เทียบไปสอบ ผลออกมาว่านักเรียนทวิภาษามีผลสอบดีขึ้นชัดเจนในชั้น ป.3 และการสอบ NT ระดับ ป.3 ด้านการเขียนและอ่านภาษาไทยก็มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนทวิภาษาเช่นกัน
นอกจากผลสอบแล้ว สถาบันวิจัยภาษาฯ ระบุว่า โครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาฯ ในพื้นที่นี้มีผลสำเร็จ 4 ประการ คือ
1. พัฒนาการด้านภาษาไทย จากผลการทดสอบเด็กชั้น ป.1 (ปี 2559) พบว่ามีทักษะการเขียนในระดับคำและประโยคสูงกว่านักเรียนคู่เทียบถึง 2 เท่า และผลการทดสอบเขียนเรียงความภาษาไทยของนักเรียนชั้น ป.3 ก็มีทักษะการใช้คำและการสื่อความหมายเฉลี่ย 104 คำ สูงกว่านักเรียนคู่เทียบที่ทำได้ 52 คำ แม้นักเรียนทวิภาษาใช้เวลาเรียนรู้ภาษาไทยในชั้นเรียนน้อยกว่า และเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยการฟังพูดก่อนการอ่านเขียน
2. คะแนนเหนือกว่าทุกกลุ่มสาระ นักเรียนทวิภาษา ชั้น ป.1-6 ร้อยละ 72.5 สอบผ่านเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2560 ในรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทักษะการอ่านสูงกว่าโรงเรียนคู่เทียบที่ได้ร้อยละ 44.5 ทุกระดับชั้น
3. ผลสอบ O-NET (การทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน) นักเรียนทวิภาษาชั้น ป.6 ทำคะแนนสอบในปี 2560 ในรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของพื้นที่ชายแดนใต้ (ครอบคลุมทุกโรงเรียน)
4. ชุมชนสนับสนุนและส่งเสริม จากการสัมภาษณ์ครูและผู้ปกครองกว่า 200 คนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เมื่อปี 2553 และปี 2558 พบว่ามีการตอบรับในระดับมาก ส่วนใหญ่ระบุว่า "การอ่าน เขียนภาษาไทยเก่งขึ้น" และ "มั่นใจมากขึ้น"
ม.ราชภัฏยะลาต่อยอดองค์ความรู้ ผลิตครูทวิภาษา
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวว่า หลังสิ้นสุดโครงการของมหาวิทยาลัยมหิดล ทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก็มารับช่วงต่อเพื่อจะพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษาที่สนใจการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา-พหุภาษา
“มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาไม่อยากให้องค์ความรู้เรื่องนี้หายไป จึงเอาไปเข้าหลักสูตรการพัฒนาครู ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และส่งมาฝึกงานด้วย เพื่อให้เป็นทางเลือกในการจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายต่อไป”
ผอ.แวมัสนะห์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดการศึกษาแบบทวิภาษาฯ ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน บางโรงเรียนอาจจะไม่ได้ผล ต้องใช้ครูที่พูดภาษามลายูได้แต่บางโรงอาจะไม่มีครูที่พูดภาษามลายูได้
จากประสบการณ์ของโรงเรียนบ้านประจันที่ยืนหยัดอดทนสอนแบบทวิภาษาฯ มาได้ถึง 15 ปี และมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ยืนยันได้ว่าทวิภาษาฯ อาจตอบโจทย์การยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ดี แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการผลักดันในเชิงนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นการตอบสนองเท่าที่ควร