องอาจ เดชา
เมื่อพูดถึง "เสน่ห์ของแม่ฮ่องสอน" ทุกคนมักนึกถึง “เมืองสามหมอก” เป็นเมืองที่มีภูมิประเทศที่รายล้อมด้วยภูเขาสูงสลับทับซ้อน มีแม่น้ำหลายสาย จึงมีอากาศเย็นสบายและมีหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี นอกจากนั้น ยังเป็นเมืองชายแดนที่ติดกับรัฐฉาน (Shan) รัฐคะยา (Kayah) และรัฐกะเหรี่ยง (Kayin) ประเทศเมียนมาหรือพม่า จึงทำให้แม่ฮ่องสอนนั้นมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ปัจจุบันมีถึง 10 ชาติพันธุ์ด้วยกัน ประกอบด้วย ไทใหญ่ กะเหรี่ยง คนเมือง ละเวือะ ลาหู่ ลีซู ม้ง ปะโอ กะเรนนี (กะเหรี่ยงแดง)และจีนยูนนาน
ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทำให้แม่ฮ่องสอนนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมไปถึงอาหารและขนมพื้นบ้าน อย่างเช่น เป็งม้ง ส่วยทมิน และอาละหว่า ซึ่งมีรสชาติที่หวานหอม นุ่ม อร่อยจนใครหลายคนได้ลิ้มลองแล้วติดใจ กลายเป็นอีกมนต์เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของแม่ฮ่องสอนไปแล้ว
'เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า' คือชื่อขนม เป็นภาษาพม่าที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกัน
ขนมทั้งสามอย่างนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศเมียนมาหรือพม่า ต่อมามีการปรับปรุงสูตรเดิมจนทำให้ขนมมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นและแตกต่างจากขนมประเทศต้นทาง ที่สำคัญคือ ขนมทั้งสามอย่างนี้ไม่ได้เป็นขนมที่หากินกันได้ง่ายๆ เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะในวิธีการทำและมีไม่กี่คนที่ทำเป็น ถ้าอยากกินต้องมาที่แม่ฮ่องสอนเท่านั้น และถ้าอยากกินขนมที่อร่อยที่สุดต้องมาที่อำเภอแม่สะเรียงเท่านั้น
แม่สว่าง- ศศิเขมณัฐ กันญณัฏฐิ์ เจ้าของ ร้านแม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บอกกับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอารมณ์ดีว่า ร้านของแม่ถือว่าเป็นตำรับเลยนะ ถ้าอยากกินขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า อร่อยๆ ก็ต้องมาที่แม่สะเรียงเท่านั้น
“แม่จะขายช่วงเช้า พอบ่ายๆ ก็ขายหมดแล้ว ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ แม่จะต้องทำเพิ่มถึงจะพอขาย หลายคนมาไม่ทันก็อด ต้องรอพรุ่งนี้เช้าอีกวันกันเลยละ”
สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียนและนักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส ซึ่งเกิดและเติบโตที่อำเภอแม่สะเรียง บอกเล่าเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ราว 100 ปีก่อนที่ผู้คนตามแนวตะเข็บชายแดนยังไปมาหาสู่กันได้อย่างง่ายๆ พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งอยู่ติดประเทศเมียนมาและทิศเหนือรัฐฉานขึ้นไปเป็นประเทศประเทศอินเดีย ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ได้สัญจรข้ามพรมแดนไปมา หลายคนหนีภัยสงคราม การล่าอาณานิคม เสาะแสวงหาแผ่นดินที่เหมาะสมอาศัยอยู่ คนพม่าและคนอินเดียจำนวนหนึ่งได้รอนแรมข้ามมาถึงฝั่งไทย และเห็นว่าเมืองเล็กๆ ในหุบเขาแม่ฮ่องสอนมีความสงบ อุดมสมบูรณ์ น่าอยู่ บางแห่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ อย่าง เมืองยวมใต้ หรือที่คนพม่าเรียก “ไมลองยี” (อำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน) จึงได้ตัดสินใจตั้งรกรากถิ่นฐาน เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่
“คุณพ่อของแม่สว่าง เป็นคนหนึ่งที่ข้ามชายแดนพม่ามาทางแม่น้ำสาละวินพร้อมพี่น้องในครอบครัว ต่อมาเมื่อได้รับสัญชาติไทยจึงสมัครเป็นตำรวจไทยโดยประจำการที่ศาลจังหวัดแม่สะเรียง แม่สว่างมีโอกาสได้เรียนรู้การทำขนมจากญาติๆ ครอบครัวของพ่อ ฝึกฝนการทำขนมจนชำนาญ จึงยึดเป็นอาชีพแม่ค้าขนมมานานหลายสิบปี”
สร้อยแก้ว บอกว่า จริงๆ แม่ฮ่องสอนมีคนทำขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า ขายเกือบทุกอำเภอ แต่ที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยจะมี 2 อำเภอหลักๆ คือ อำเภอเมือง และอำเภอแม่สะเรียง ปัจจุบันเหลือคนทำเป็นไม่กี่คนแล้ว เนื่องจากเป็งม้งเป็นขนมที่ใช้เวลาในการทำนาน นับตั้งแต่การผสมแป้ง กวนแป้ง อบความร้อน ซึ่งการอบความร้อนแต่โบราณนั้น จะมีการนำแผ่นสังกะสีวางไว้ด้านบนเหนือถาดขนมและนำถ่านร้อนๆ ซึ่งนิยมใช้กาบมะพร้าวเผามาวางไว้ เพื่อให้ร้อนทั้งด้านบน ด้านล่าง ให้สุกทั่วถึง
“ในอดีตการทำขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า จะทำกันในเฉพาะเทศกาลทางศาสนาสำคัญๆ เพื่อนำไปถวายพระ เจ้าที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เสร็จแล้วจึงแจกจ่ายแบ่งปันกันกิน แต่เมื่อเวลาผ่านไป บ้านเมืองมีการค้าขายมากขึ้น ทั้งอาหารและขนมมีการทำขายทั้งในตลาดสดยามเช้าและริมถนนหนทางให้คนทั่วไปเลือกซื้อตามใจชอบ ขนมทั้งสามอย่างจึงไม่เพียงแต่มีคนแม่ฮ่องสอนเท่านั้นที่ชอบ คนต่างจังหวัดที่มีโอกาสมาเยือนยามได้ลองชิมขนมท้องถิ่นนี้ พวกเขาก็มักจะติดใจ ด้วยเพราะหน้าขนมราดกะทิชุ่มเหมือนครีม ทำให้มีกลิ่นหอม หวาน มัน อร่อย”
พิชชาพา เดชา เป็นคนเชียงใหม่ แต่มีโอกาสเดินทางไปเยือนแม่สะเรียงแล้วได้ลองทานขนม เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่าของแม่สว่างจนติดใจ บอกว่า ครั้งแรกที่ได้รู้จักขนมนี้ก็เพราะครั้งหนึ่งมีโอกาสไปลงพื้นที่แถวแม่สะเรียง แล้ววันนั้นบังเอิญขับรถผ่านหน้าร้านพอดี และสะดุดตากับชื่อขนม ‘ส่วยทมิน’ คิดว่าขนมอะไรชื่อแปลกดีไม่เคยได้ยินมาก่อน เลยวนรถกลับมา หน้าร้านไม่ได้มีแค่ขนมส่วยทมิน แต่ยังมีขนมอาละหว่า ขนมเป็งม้ง เลยซื้อไปลองชิมพอได้ชิมครั้งแรก คือชอบมาก
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนมเป็งม้งที่ชอบเป็นพิเศษ ขนมจะมีหน้าเป็นกะทิที่อบให้มีกลิ่นหอมเหมือนกัน แต่เนื้อขนมจะแตกต่างกันไป ด้วยความอยากรู้เราเลยลองค้นข้อมูลดู ถึงรู้ว่าเป็นขนมท้องถิ่นที่นี่จริงๆ เราสนับสนุนขนมไทยขนมท้องถิ่นอยู่แล้ว ยิ่งได้ชิมขนมที่เป็นต้นตำรับแบบนี้ ยิ่งชื่นชมเจ้าของร้านเลย ที่ยังรักษาต้นตำรับขนมโบราณพื้นบ้านได้แบบนี้ ถ้ากลับไปอีกครั้งจะไปอุดหนุนอีกแน่นอนค่ะ”
“ขนมมันมีชีวิตของมันนะ มันต้องการการเอาใจใส่เหมือนคนเรานี่แหละ ถ้าเราไม่ใส่ใจ มันจะออกมาไม่ดี ไม่งามเลย โดยเฉพาะเป็งม้ง เป็งม้งที่ดีจะขึ้นฟูเป็นซี่ๆ ถ้าวันไหนขึ้นซี่ แมจะดีใจมาก แต่ถ้าวันไหนทำพลาดเนื้อขนมไม่ฟู แม่รู้ว่าวันนั้นเราพลาดละ เราไม่ได้ใส่ใจเพียงพอ เป็งม้งเป็นขนมที่ต้องมีสมาธิกับมัน ต้องเอาใจใส่ลงไป” คำพูดของแม่สว่างวัย 70 กว่าปี ทำให้ใครหลายคนอึ้ง ไม่คิดว่าการทำขนมพื้นบ้านของแม่สว่างจะมีความลึกซึ้งกว่าภาพขนมที่เราเห็น
ทุกวัน นอกจากแม่สว่างจะขายขนมเป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า อยู่หน้าร้านแล้ว แม่สว่างยังรับออเดอร์จากหน่วยงานของภาครัฐ ไม่ว่าโรงเรียน เทศบาล ที่ว่าการอำเภอ เพื่อจะนำไปเป็นอาหารว่างสำหรับการประชุมหรือหากมีแขกบ้านเมืองมาเยือน หรือบางครั้งก็มีออเดอร์มาจากเชียงใหม่กันด้วย
หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยือนอำเภอแม่สะเรียง สามารถแวะไปอุดหนุนลิ้มลองขนม เป็งม้ง ส่วยทมิน อาละหว่า กันได้เลย ร้านตั้งอยู่ตรงสี่แยกเทศบาลเมืองแม่สะเรียง หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 098-855-8200 หรือติดตามได้ที่เพจ แม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า
ข้อมูลและภาพประกอบ : สร้อยแก้ว คำมาลา, องอาจ เดชา, เฟสบุ๊กแม่สว่างขนมเป็งม้ง ขนมส่วยทมิน ขนมอาละหว่า