Skip to main content

‘Natipong’ ลูกปัดมโนราห์ งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมชาวใต้

26 กรกฎาคม 2567

 

พิชญุตม์ เค้าอ้น

 


จากการเติบโตมาในวิถีชีวิตแบบคนใต้ของ ป้อม- เนติพงศ์ ไล่สาม ทำให้เขาหยิบจับเอาภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรม “มโนราห์” ที่อยู่คู่กับคนใต้มาอย่างยาวนาน มาปรับเปลี่ยนดีไซน์ให้โดดเด่นทันสมัย จนกลายเป็นแบรนด์ “Natipong” ที่ผลิตสินค้าหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ อย่างลูกปัดลวดลายโนราห์อันเป็นลายเซ็นที่ภาคภูมิใจของภูมิปัญญาชาวใต้

 

"มโนราห์ อัตลักษณ์ของปักษ์ใต้เป็นสิ่งที่ผมมองว่ามันสวยงาม และยังอยากให้มันอยู่คู่ภาคใต้แบบนี้ แต่ถ้าเราเก็บมันไว้บนหิ้ง ก็คงไม่มีใครอยากแตะต้องมันอีก ผมเชื่อว่าการต่อยอดทางวัฒนธรรมจะช่วยให้สิ่งที่กำลังจะหายไปตามกาลเวลา กลับมามีคุณค่าและงดงามเหมือนสมัยเด็กที่ผมเติบโตมากับการดูมโนราห์"


เปลี่ยนวัฒนธรรมเก่าแก่ ให้ทันสมัยด้วยการออกแบบ

 

“ผมโตมาในชุมชนหัตถกรรม เราเห็นคุณป้าคุณน้าหลาย ๆ ครอบครัวในชุมชนมีอาชีพเสริมเป็นช่างฝีมือหัตถกรรม บรรจงประดิษฐ์ลวดลายโนราห์อันเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานของพวกเราชาวใต้ แต่หลังจากไปเรียนด้านศิลปะแล้วกลับมาที่บ้าน พบว่าสินค้าลวดลายมโนราห์เหล่านี้กำลังค่อย ๆ ถูกหลงลืมไปทุกวัน ๆ

“ผมรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของผมที่จะหยิบมันกลับมาชุบชีวิตใหม่อีกครั้ง ด้วยความรู้ด้านศิลปะที่ผมมีอยู่ เลยไปเรียนวิธีการทำตั้งแต่ต้นจากคุณป้าคุณน้าในชุมชน และนำมาปรับใช้ จนกลายเป็น Natipong แบบทุกวันนี้ครับ”

ป้อม เล่าถึงจุดเริ่มต้นจากการเติบโตและผูกพันกับวิถีชีวิตของคนใต้ ที่เห็นว่าวัฒนธรรมที่เขาเคยเห็นทุกเมื่อเชื่อวันเมื่อครั้งที่เป็นเด็ก กำลังค่อย ๆ หายไป จึงมุ่งมั่นที่จะเอาความรู้ด้านการออกแบบดีไซน์ที่เขาถนัด มาปรับเข้ากับภูมิปัญญาการทำงานหัตถกรรมฝีมือของชาวใต้ ให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นที่สามารถสวมใส่ได้อย่างทันสมัยมากขึ้น และเพิ่มสินค้าด้านการตกแต่งบ้านเพื่อสื่อสารประเด็นการนำวัฒนธรรมเก่าแก่ ให้กลับมาข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันอีกครั้ง

“นอกจากขายสินค้า อีกมุมหนึ่งที่ผมตั้งใจทำก็คือ การเปิดศูนย์เรียนรู้ด้านหัตถกรรมมโนราห์บ้านขาว เพื่อส่งมอบความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้ทดลองมาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีนี้  มันเป็นการพัฒนาต่อยอดคนในชุมชนที่สนใจให้มีทักษะด้านหัตถกรรม และมีฝีมือติดตัวไว้ประกอบอาชีพได้อีกด้วย”

ป้อม บอกถึงสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้นว่า  เพราะเขาเชื่อว่าการพัฒนาผู้คนในชุมชนให้มีทักษะในด้านศิลปะหัตถกรรม และสามารถหยิบจับวัฒนธรรมที่แต่ละคนสนใจแตกต่างกัน ให้นำมาออกแบบดีไซน์เป็นงานศิลปะในรูปแบบที่ Natipong ออกแบบเอาไว้ หรืออยากออกแบบตามใจชอบก็สามารถทำได้เช่นกัน

เขาบอกว่า เสียงตอบรับของคนในชุมชนต่างชื่นชมกับการที่ป้อมได้สร้างพื้นที่ให้งานศิลปะและวัฒนธรรมเก่าแก่ที่มีอย่างยาวนาน


ต่อยอดวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านวิธีคิดแบบคนรุ่นใหม่

 

“ผมโตมากับวัฒนธรรมนี้ ความเป็นคนใต้ มโนราห์ อัตลักษณ์ของปักษ์ใต้เป็นสิ่งที่ผมมองว่ามันสวยงาม และยังอยากให้มันอยู่คู่ภาคใต้แบบนี้ แต่ถ้าเราเก็บมันไว้บนหิ้ง ก็คงไม่มีใครอยากแตะต้องมันอีก ผมเชื่อว่าการต่อยอดทางวัฒนธรรมจะช่วยให้สิ่งที่กำลังจะหายไปตามกาลเวลา กลับมามีคุณค่าและงดงามเหมือนสมัยเด็กที่ผมเติบโตมากับการดูมโนราห์ ผมทำ Natipong เพราะคิดแบบนี้ครับ”

ป้อม กล่าวเมื่อถามถึงการหยิบเอาวัฒนธรรมหรือสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง มาต่อยอดทางธุรกิจ เขาบอกว่า นอกจากจะเป็นการชุบชีวิตวัฒนธรรมบางอย่างที่อาจจะถูกหลงลืมไป ยังเป็นการหวนระลึกถึงความทรงจำวัยเด็กที่เขาเติบโตมาในวิถีชีวิตของชาวสงขลาอีกด้วย

“อยากให้คนที่กำลังคิดจะเริ่มทำธุรกิจลองมองหาสิ่งที่เป็นของไทย ๆ เรานี่แหละครับ ถ้าเราผลักดันภูมิปัญญาหรือวัตถุดิบในท้องถิ่นทั่วประเทศไทยให้ไปสู่สายตาคนระดับประเทศได้ ทุกวันนี้ผมได้ทำให้ลายมโนราห์ที่เคยอยู่แค่ในชุดมโนราห์เท่านั้น สามารถไปอยู่ในเสื้อผ้าที่เหมาะกับการสวมใส่ทั่วไปได้ ผมคิดว่ามันยังต้องมีวัตถุดิบให้ทุกคนได้หยิบมาปรับใช้อีกจำนวนมากนะครับ” ป้อมบอกทิ้งท้าย

 


เฟสบุ๊ก Natipong
 


 

‘Natipong’ ลูกปัดมโนราห์ งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมชาวใต้
‘Natipong’ ลูกปัดมโนราห์ งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมชาวใต้
‘Natipong’ ลูกปัดมโนราห์ งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมชาวใต้
‘Natipong’ ลูกปัดมโนราห์ งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมชาวใต้
‘Natipong’ ลูกปัดมโนราห์ งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมชาวใต้
‘Natipong’ ลูกปัดมโนราห์ งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมชาวใต้
เนื้อหาล่าสุด