Skip to main content

ข้าวไร่ ข้าวนา ภูมิปัญญาและเรื่องเล่าของคนบนเขาใน จ.น่าน

26 กรกฎาคม 2567

 

การปลูกข้าวไร่และข้าวนาปีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนในหมู่บ้านสว้าใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ด้วยภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาสลับซับซ้อนและมีพื้นที่ราบลุ่มไม่มาก ทำให้ชาวนาและคนในหมู่บ้านสว้าใต้ต้องประสบปัญหากับการปลูกข้าว และทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคของคนภายในหมู่บ้าน

แต่ด้วยการใช้องค์ความรู้เป็นธงนำ โดยเฉพาะการถอดข้อมูลงานวิจัยของปราชญ์ท้องถิ่นที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) เมื่อปี 2553 พบว่า เกษตรกรในท้องที่ ได้เคยรวมกลุ่มกันศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน ตั้งแต่การสำรวจปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหา ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายหน ในที่สุดชาวบ้านจากหมู่บ้านสว้าใต้ ก็สามารถเอาชนะเงื่อนไขและอุปสรรคในการปลูกข้าวและผลผลิตไม่เพียงพอได้  

ทั้งนี้ ชาวสว้าใต้ได้นำวิถีชุมชนนิยม มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินด้วยวิธีการ 2 ระดับ ดังนี้  

หนึ่ง คือ การแก้ไขปัญหาระดับครัวเรือนและเครือญาติ กรณีที่ข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค แต่ละครอบครัวก็จะมีการกักเก็บและกักตุนและทำเป็นข้าวส่วนกลาง เพื่อแลกเปลี่ยนและหยิบยืมกันภายในครอบครัว

สอง คือ การแก้ไขปัญหาระดับชุมชนจัดตั้ง “ธนาคารข้าว” ภายในชุมชนขึ้น โดยการกู้ยืมข้าวจะคิดในอัตรายืมข้าว 10 กิโลกรัม การนำมาใช้คืน หลังเก็บเกี่ยว ต้องคืนในอัตรา 11 กิโลกรัม เป็นต้น

ต่อมา จากแนวทางดังกล่าวได้ขยายผลนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนร่วมกันเพื่อทำนาในพื้นที่นาร้างขึ้น เมื่อได้ผลผลิตส่วนหนึ่ง จะปันไปช่วยเหลือให้กับชาวบ้านที่ประสบปัญหาข้าวไม่พอกิน เป็นการ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” ช่วยกันแก้ปัญหาของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน

นอกจากนี้ ชาวบ้านสว้าใต้ยังให้ความสำคัญกับการใช้ควายไถนา เพื่อลดต้นทุนในการผลิตจากเครื่องจักร และการเลี้ยงควายยังมีเป้าหมายเพื่อการค้าอีกด้วย เปรียบเสมือนเป็นเงินก้อนของชาวบ้าน หากจำเป็นต้องใช้ก็จะขายควายที่เลี้ยงเพื่อนำเงินก้อนมาบริหารจัดการต่อได้

อีกหนึ่งสิ่งที่ชาวนาจากหมู่บ้านสว้าใต้บริหารจัดการต้นทุนทรัพยากรที่มี คือความพยายามปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะสมกับการทำนาแบบอินทรีย์ ส่วนนี้เองทำให้ผืนนาบางส่วนในพื้นที่ เริ่มกลายเป็นนาแบบอินทรีย์ที่สัตว์น้อยใหญ่ที่อยู่ในผืนนาสามารถนำมารับประทานได้อย่างปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น กุ้ง หอย ปู ปลา หากจับในนาล้วนแล้วแต่ปลอดสารพิษสารเคมีจากยาฆ่าแมลง

ถึงกระนั้น ชาวนาบ้านสว้าใต้ ยังไม่หยุดพัฒนา พวกเขายังคงปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพสภาพพื้นที่ ซึ่งเป็นภูเขาสูงและสภาพอากาศที่ทนต่อโรคและแมลงทุกๆ สามปี รวมถึงการเสนอปัญหาเรื่องข้าวเข้าสู่แผนแม่บทของชุมชน

ทั้งนี้ ข้อสังเกตในการสร้างความเข้มแข็งของพี่น้องบ้านสว้าใต้ นอกจากการทำงานและความร่วมมือกันภายในหมู่บ้านเป็นไปอย่างเข้มแข็งและเข้มข้นแล้ว ยังเป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มาก็คือ การมีทีมวิจัยปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถเป็นที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงเพิ่มผลผลิตและหาจุดแข็งให้กับท้องถิ่นต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด


 

ข้าวไร่ ข้าวนา ภูมิปัญญาและเรื่องเล่าของคนบนเขาใน จ.น่าน
ข้าวไร่ ข้าวนา ภูมิปัญญาและเรื่องเล่าของคนบนเขาใน จ.น่าน
ข้าวไร่ ข้าวนา ภูมิปัญญาและเรื่องเล่าของคนบนเขาใน จ.น่าน
เนื้อหาล่าสุด