Skip to main content

‘แอร์แว’ นวัตกรรมเครื่องสูบน้ำที่ราบสูงจากภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นอีสาน

25 กรกฎาคม 2567

 

สืบเนื่องจากสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านผาชัน อยู่ในบริเวณริมหน้าผาหินขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยที่เบื้องล่างคือ แม่น้ำโขงที่ไหลคดเคี้ยวทอดยาวมาจากต้นกำเนิดหลายพันกิโลเมตร

ดูเหมือนว่า หมู่บ้านผาชัน ตำบลสำโรง  อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี จะเป็นหมู่บ้านในอุดมคติ เพราะอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร รวมถึงสามารถหาโปรตีนเนื้อสัตว์ไว้บริโภคอย่างพอเพียง จากการจับปลาในแม่น้ำโขง ซึ่งไหลผ่านข้างหมู่บ้านได้

แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เมื่อแขกผู้มาเยือนได้เดินทางถึงหมู่บ้านผาชันจะพบว่า รถยนต์สี่ล้อต้องเข้าเกียร์ต่ำเพื่อไต่ขึ้นไปบนผาสูงกว่าจะถึงหมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่ และเมื่อถึงหมู่บ้านผาชันจะสังเกตเห็นพื้นดินรอบๆ เป็นหินผาที่ยากต่อกันขุดน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคบริโภค

ที่สำคัญคือ เมื่อเราขับรถขึ้นที่สูงในระดับนั้น ท่อประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ก็ยากที่จะมีแรงดันมากพอในการส่งน้ำสะอาดเข้าสู่หมู่บ้าน ปัญหาขาดแคลนน้ำจืด จึงเป็นปัญหาที่ดูผิดที่ผิดทางเมื่อพูดถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง

แต่ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านและความพยายามแก้ไขปัญหาของคนในหมู่บ้าน จึงทำให้มีการคิดค้นอุปกรณ์ที่เรียกว่า "แอร์แว" ซึ่งเป็นเครื่องมือสูบน้ำเฉพาะของที่นี่  

“แอร์” มาจากคำว่า “อากาศ” ส่วน “แว” มาจากคำว่า “แวะไปแวะมา” ในภาษาอีสาน ปราชญ์ ชาวบ้านได้นำเอาหลักการวิทยาศาสตร์อย่างง่าย มาประยุกต์ด้วยการใช้ความดันจากอากาศทำหน้าที่สูบน้ำ เพื่อส่งน้ำไปตามท่อประปาของคนในหมู่บ้าน

ก่อนที่โครงการแอร์แว จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้มีการระดมสมองระดมความคิดและภูมิปัญญาภายในหมู่บ้าน มีการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงให้เป็นฝายเก็บน้ำ โดยใช้ชื่อ ฝายเก็บน้ำวังอีแร้ง และเมื่อประสบความสำเร็จในการทำระบบประปาภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านผาชันก็ได้สร้างฝายเก็บน้ำวังอีแร้ง 2 ขึ้นมา

จะเห็นว่า หมู่บ้านผาชัน เป็นภาพสะท้อนของความเข้มแข็งระดับชุมชน ที่คนในหมู่บ้านต่างช่วยเหลือกันผ่านการระดมความคิดและปัญญาเพื่อแก้ปัญหา

จากเดิมที่หมู่บ้านผาชัน ต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด โดยเฉพาะฤดูแล้งที่น้ำในแม่น้ำโขงลดลงจนเห็นเกาะแก่ง ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ไม่สามารถเดินทางลงไปตักน้ำและนำมาเก็บไว้ใช้บริโภคได้เท่าที่ควร

การเกิดขึ้นของแอร์แว นอกจากจะทำให้ปัญหาความมั่นคงเรื่องน้ำบริโภคของคนในพื้นที่หมดไป ยังช่วยฉายภาพของศักยภาพของชุมชนที่สมบูรณ์ แม้เป็นหมู่บ้านที่ห่างไกล ยากต่อการเข้าถึงของสาธารณูปโภค แต่ถ้าหากคนในชุมชนต่างร่วมมือร่วมใจกันแล้วทุกอุปสรรคก็สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้

 

 

‘แอร์แว’ นวัตกรรมเครื่องสูบน้ำที่ราบสูงจากภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นอีสาน
‘แอร์แว’ นวัตกรรมเครื่องสูบน้ำที่ราบสูงจากภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นอีสาน
‘แอร์แว’ นวัตกรรมเครื่องสูบน้ำที่ราบสูงจากภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นอีสาน