Skip to main content

'น้ำผึ้งชันโรง’ น้ำผึ้งดีจากป่าพรุนราธิวาส สู่สารสกัดต้านเซลล์มะเร็งและอัลไซเมอร์

23 กรกฎาคม 2567

 

ปทิตตา หนดกระโทก

 


"ชันโรง" หรือ ผึ้งจิ๋ว ภาษามาลายูเรียกว่า "กือลูโล๊ะ" ที่เป็นแมลงตัวเล็กๆ คล้ายผึ้งหลวงที่ไม่มีเหล็กใน อาหารสุดโปรดจะเป็นเกสรดอกไม้ทุกชนิด ทำให้น้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงจึงมีการผสมผสานจากดอกไม้นานาพันธุ์ รวมไปถึงน้ำหวานจากพืชสมุนไพร ทำให้น้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงจะมีคุณภาพสูงมีกลิ่นหอมรสชาดอร่อยหวานอมเปรี้ยว ที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งรสชาติจากตามธรรมชาติ และน้ำผึ้งชันโรง เป็นที่ยอมรับว่ามีคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณทางยา ในการยับยั้งและบรรเทาอาการโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้

ก้าวแรกที่เดินเข้าไปใน วิสาหกิจชุมชนฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถาบันศึกษาปอเนาะฮายาตุซซอฮาบะห์ 
เราจะพบกับตอไม้นานาชนิด ที่ด้านบนของตอไม้จะเป็นถาดไม้ทรงสี่เหลี่ยมและมีกระเบื้องหลังคาปิดทับด้านบนไว้อีกชั้นหนึ่ง วางเรียงรายในบริเวณที่ร่ม

บรรยากาศเต็มไปด้วยความเขียวขจีและร่มรื่น ที่บริเวณตอไม้ต่างๆ จะมีช่องหรือรูเล็กๆ ที่มีตัว “ชันโรง” หรือ ผึ้งจิ๋ว บินหรือตอมอยู่ที่บริเวณที่เป็นรังหรือบ้านของตัวชันโรงที่มีจำนวน 150 ลัง

สุดิรมัน สาแม็ง ผู้ดูแลฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง บอกว่า ได้เริ่มทำฟาร์มชันโรงมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปีแล้ว จากการที่น้ำหวานหรือน้ำผึ้งจากชันโรงมีราคาแพง และแถวบริเวณบ้านที่พักอาศัยโดยรอบ เป็นพื้นที่ติดต่อกับแนวเขตของป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งจะมีเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของชันโรง

สุดิรมัน บอกว่า สภาพดังกล่าวถือว่าธรรมชาติเอื้ออำนวย จึงปรึกษากับสมาชิกในครอบครัวเพื่อลงทุนสร้างเป็นฟาร์มชันโรงขึ้น และการศึกษาสายพันธุ์ของชันโรงว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้าง แล้วตระเวนซื้อชันโรงจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ต.ปูโยะ ที่มีชันโรงมาทำรังที่ต้นไม้ เขาบอกว่า ในจุดนี้ถือว่าทำให้ชาวบ้านมีรายได้ด้วย โดยรับซื้อในราคาท่อนหรือตอละ ประมาณ 200 บาทขึ้นไปขึ้น อยู่กับว่าที่ที่ชันโรงไปทำรังเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม้เนื้ออ่อน ถ้าไม้เนื้อแข็งจะมีราคารับซื้อแพงกว่า

สุดิรมัน เล่าต่อว่า ชันโรงที่รับซื้อจากชาวบ้านจะนำมาแยกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ นำไปเรียงไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งสายพันธุ์ที่เลี้ยงไว้ในขณะนี้เป็นสายพันธุ์อิตาม่า โตราซิก้า และอาพิคาลิส โดยเฉพาะสายพันธุ์อิตาม่า จะให้น้ำหวานหรือน้ำผึ้งที่มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งปัจจุบันฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง ได้ขยายกิจการไปเลี้ยงชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว ในพื้นที่ อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งมี 3 สาขาด้วยกัน

สุดิรมัน บอกว่า หัวใจสำคัญของการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากชันโรง คือ ช่วงของการเปิดถาดหรือรังเพื่อเก็บน้ำผึ้ง จะต้องเก็บน้ำหวานในถ้วยที่ชันโรงสร้างไว้ในถาดให้หมดเกลี้ยงสนิท มิเช่นนั้นหากน้ำหวานหรือน้ำผึ้งตกค้าง ชันโรงจะไม่นำน้ำหวานจากเกสรดอกไม้มาวางใส่ไว้ในถ้วย แต่ชันโรงจะสร้างถ้วยขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือว่าเสียรายได้และโอกาสที่เราต้องรอชันโรงสร้างถ้วยขึ้นมาใหม่ แทนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

สุดิรมัน บอกว่า การตัดสินใจเลี้ยงชันโรง ถือว่าเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี มีผู้บริโภคจากทั่วสารทิศสั่งชื้อน้ำผึ้งชันโรงมาไม่ขาดสาย ทั้งจาก เชียงใหม่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช รวมไปถึงลูกค้าจากฝั่งมาเลเซียก็สั่งชื้อเช่นกัน จากฟาร์มชันโรงที่มีอยู่ 3 สาขา

สุดิรมัน บอกว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม น้ำผึ้งชันโรงจะมีสีเขียวมรกต หรือชาวบ้านเรียกว่า น้ำผึ้งมรกต ซึ่งได้มาจากน้ำหวานจากดอกเสม็ดที่เบ่งบานในบริเวณป่าพรุ  ที่นอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารแล้วยังมีสรรพคุณทางยา และเป็นที่มาที่ไปที่ทำให้มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นำน้ำผึ้งชันโรงจากฟาร์มไปวิจัย เพื่อสกัดเอาสารป้องกันช่วยยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งและเซลล์อัลไซเมอร์

ทางด้าน ผศ. ดร.ธนเสฏฐ์ ทองใสเกลี้ยง อาจารย์จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำน้ำผึ้งชันโรงมาแปรรูปในรูปแบบผงขึ้นมาแล้วโดยบรรจุในแคปซูล ขั้นตอนต่อไป คือ การทดสอบกับเซลล์มะเร็งและเซลล์อัลไซเมอร์ว่า สารสกัดที่ได้จากน้ำผึ้งชันโรงจะมีผลช่วยยับยั้งหรือสรรพคุณในการรักษาโรคหรืออาการอย่างไร

ผศ. ดร.ธนเสฏฐ์ กล่าวว่า ถือเป็นความโชคดีของคนไทยกับความหวังในการต่อสู้กับโรคร้ายที่อีกไม่นานเกินรอก็จะหายไป และน้ำผึ้งชันโรงที่ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สกัดสารจากน้ำผึ้งชันโรงเป็นผงบรรจุแคปซูลนั้นถือว่าเป็นแห่งแรกในโลก และขอภาวนาให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว 

 

สำหรับผู้สนใจทดลองรสชาติน้ำผึ้งชันโรง ติดต่อสอบถามหรือสั่งซื้อได้ที่ 
สุดิรมัน สาแม็ง หมายเลขโทรศัพท์ 065 3929024 
หรือ ติดต่อทางเฟสบุ๊กเพจ sudir shop, ฟาร์มชันโรงพรุโต๊ะแดง และ stingless bee

น้ำผึ้งชันโรงจำหน่ายทั้งแบบบรรจุขวดทั้งปลีกและส่ง โดยขนาดบรรจุ 270 กรัม ขายปลีกราคาขวดละ 350 บาท ขายส่งราคาขวดละ 250 บาท และขนาดบรรจุขวด 750 กรัม ขายปลีกในราคาขวดละ 1,200 บาท ขายส่งราคาขวดละ 800 บาท หากมีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมากก็จะสามารถลดราคาได้อีก