ธนาคารโลกเสนอแนะ ไทยพัฒนาเมืองรองและท้องถิ่น เพื่อปลดล็อคศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ธนาคารโลก จัดทำรายงานการตามติดเศรษฐกิจไทย เสนอแนะให้ประเทศไทยเน้นไปที่การพัฒนาเมืองรองและท้องถิ่น เพื่อปลดล็อคศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
รายงานฉบับล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายการพัฒนาไปยังเมืองรอง เพื่อบรรเทาปัญหาความแออัดในกรุงเทพมหานคร และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค
ภาพรวมเศรษฐกิจไทย: ปัจจัยและความท้าทาย
รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เติบโตเพียงร้อยละ 1.5 โดยวิเคราะห์ว่าเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความล่าช้าของงบประมาณภาครัฐ การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 2 และภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 3 รวมถึงการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
ความสำคัญของการพัฒนาเมืองรอง
ธนาคารโลกชี้ว่า การพัฒนาเมืองรองมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่โตเดี่ยวมากที่สุดในโลก มีความแออัดมากขึ้น และมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ในรายงานระบุว่า เมืองรองหลายแห่งในประเทศไทย มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ โดยมีตัวเลขการเติบโตของรายได้ต่อหัว และการว่างงานที่ลดลง
ตามรายงานของธนาคารโลก เผยว่า การเติบโตของ GDP ต่อหัวประชากรในเมืองรองนั้นสูงกว่ากรุงเทพฯ ถึงเกือบ 15 เท่า ขณะที่ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปี 2566 อัตราการว่างงาน ลดลงจากร้อยละ 6.3 จากปี 2564 เหลือร้อยละ 5.4 ในปี 2565
ส่วนการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และสัดส่วนของหนี้สาธารณะ คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.6 ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568
การกระจายความเจริญ กุญแจสู่อนาคต
ในรายงานของธนาคารโลก ระบุว่า การพัฒนาเมืองรองจะช่วยกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ทำให้เกิดการกระจายรายได้และการลงทุนอย่างเท่าเทียมมากขึ้น โดยยกตัวอย่าง เชียงใหม่ ขอนแก่น และนครราชสีมา ว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน โดยเน้นว่า การเพิ่มขีดความสามารถของเมืองรองนั้น เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ธนาคารโลกเสนอให้ไทยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ เช่น เส้นทางคมนาคม การเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การเสริมสร้างศักยภาพด้านการศึกษาและการสาธารณสุข และ การส่งเสริมความสามารถของสถาบันในเมืองรอง จะช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ โดย การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพจะสามารถเพิ่มโอกาสในการแข่งขันระดับโลกให้กับประเทศไทย
ข้อเสนอแนะจากธนาคารโลก
ธนาคารโลก เสนอแนะให้ประเทศไทยพิจารณาบทบาทของตนในฐานะ "ผู้จัดการที่รอบคอบของพื้นที่" (prudent managers of portfolio of places) โดยเน้นการบริหารจัดการเมืองรอง ให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันในท้องถิ่น
นอกจากนี้ ในรายงานยังเสนอให้เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการของท้องถิ่น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญ และขีดความสามารถในการบริหารจัดการของท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยให้เมืองรองสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและธุรกิจในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การพัฒนาเมืองรองและท้องถิ่นเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อคศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ข้อเสนอแนะจากธนาคารโลก ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระจายความเจริญและการลงทุนไปยังเมืองรอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ และความสามารถของสถาบันในเมืองรองจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างโอกาสในการแข่งขันระดับโลก
ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเมืองรองในการเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างโอกาสให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค การพัฒนาเมืองรองไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหาความแออัดในกรุงเทพมหานคร แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมั่นคงให้กับประเทศไทยในระยะยาว