Skip to main content

‘ยิ่งคืน ยิ่งได้กลับมามาก’ แนวทางอนุรักษ์ของชุมชนบ้านบน ฟื้นชีวิตแม่น้ำบางปะกง

22 กรกฎาคม 2567

 

กว่าจะเป็นลานเรียนรู้ ‘บ้านปลาธนาคารปู’ ที่ชุมชนบ้านบน ตำบลบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ต้องผ่านความเจ็บปวดจากการสูญเสียทรัพยากรในท้องถิ่นมาแล้ว โดยเฉพาะการหายไปของ “โลมาอิรวดี” ที่เคยเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน เมื่อไม่มีโลมาอิรวดี นักท่องเที่ยวก็พลอยหายไปด้วย  ธุรกิจของพ่อค้าแม่ค้าขาดทุนย่อยยับ

หนึ่งในนั้นก็คือ ผู้ใหญ่มลิสุวรรณ พิสุทธิธัญรักษ์ ประธานกลุ่มชุมชนบ้านบนบางปะกง จากแม่ค้าขายหมวกและเสื้อยืดลายปลาโลมาอิรวดี ซึ่งในปี 2547 ถึง 2548 ถือเป็นยุคทองที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม “โลมาอิรวดี” จำนวนมาก เสื้อและหมวกจึงขายดิบขายดีไปด้วย เรียกได้ว่าทุกพื้นที่ในชุมชนกลายเป็นพื้นที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว

แต่ในปี 2549 กำไรจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ต้องหยุดลง เมื่อนักท่องเที่ยวลงเรือไปชมโลมาอิรวดี แต่ไม่เห็นโลมาสักตัว ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นว่า “โลมาอิรวดีหายไปไหน?”  จึงเริ่มสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำบางปะกง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้โลมาอิราวดีไม่มาปรากฏตัว โดยเฉพาะ ผู้ใหญ่มลิสุวรรณ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการพัฒนาและแนวทางการอนุรักษ์ในชุมชนบ้านบน เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์การหายไปของโลมาอิรวดีเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้งกับในเรื่องอื่นๆ  

 

ในปี 2549 กำไรจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ต้องหยุดลง เมื่อนักท่องเที่ยวลงเรือไปชมโลมาอิรวดี แต่ไม่เห็นโลมาสักตัว ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นว่า “โลมาอิรวดีหายไปไหน?”  จึงเริ่มสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำบางปะกง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้โลมาอิราวดีไม่มาปรากฏตัว 


เริ่มสำรวจ ทรัพยากร ในพื้นที่หายไป

 

ผู้ใหญ่มะลิสุวรรณ เล่าว่า ได้ออกไปศึกษาดูงานในต่างถิ่น และนำกระบวนการกลับมาใช้เป็นแนวทางสำรวจความเสียหายในบ้านเกิด ตอนนั้นค้นพบว่ามาจากการที่น้ำนิ่งทำให้โลมาอิรวดีไม่เข้ามา แม้แต่ป่าชายเลนที่เคยหนาแน่นก็ตายยืนต้นตั้งแต่ปี 2549 เรื่อยมา

ยิ่งในปี 2550 ใบต้นโกงกางแห้งจนร่วงหมดต้นและค่อยๆ ยืนต้นตายไปทีละต้น รวมไปถึงเจอปัญหาขยะมูลฝอยกองหมักหมมเต็มบริเวณป่าชายเลน สิ่งที่ทำได้เร็วสุดในตอนนั้นก็คือ เก็บขยะมูลฝอยออกจากพื้นที่ป่าชายเลนออกทุกวัน วันละ 1 ตัน

“เราคุยกับคนเฒ่าคนแก่ว่า ทรัพยากรของเราเริ่มสูญหายและลดน้อยลง ทั้งโลมาอิรวดี ปูแสม ปูก้ามดาบ กุ้งดีดขัน สาเหตุจากน้ำนิ่ง น้ำเสีย และขยะมูลฝอยมักหมมเยอะมากเกินไป หลังจากเก็บขยะออกหมด เชื่อไหม ในปี 2550 สภาพแวดล้อมเริ่มดีขึ้น ในปี 2551 ชุมชนรวมกลุ่มจัดกิจกรรม ปลูกป่าชายเลน ทำให้ปูแสม ปูกล้ามดาบเริ่มกลับคืนมา จึงเป็นเกิดโครงการ คืนชีวิตปูแสมกลับบ้าน และปูแสมก็กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสมบูรณ์” ผู้ใหญ่มะลิสุวรรณ เล่า


ชุมชนไม่เคยหยุดช่วยกันรักษาธรรมชาติ

 

ในปี 2557 ได้พัฒนาการสร้าง "บ้านปลา" โดยคนในชุมชน ก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรที่เคยหายไปฟื้นฟูกลับมา ส่วนขยะที่เคยอยู่บนหน้าดินบริเวณป่าชายเลน เมื่อช่วยกันเก็บออกจนก็กลับมาเป็นที่วางไข่ของสัตว์น้ำนานาชนิด ทำให้สัตว์น้ำกลับบ้านคืนถิ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปลากระบอก ปลาตะกรับ ปูก้ามดาบ ปูแสม และกุ้งดีดขัน  

“ที่สำคัญคือในวันที่ 7 ธันวาคม 2557 โลมาอิรวดีปรากฏตัวอีกครั้งผ่านมาทางบ้านปลา ทุกคนในชุมชน ต่างตื่นเต้นดีใจ เพราะนี่คือผลจากการที่ทุกคนออกมาช่วยกัน ร่วมใจกันสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ อย่างบ้านปลาที่ช่วยกันทำก็ทำให้มีทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปลาดุกมีเยอะมาก พอเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น โลมาอิรวดีก็เริ่มเข้ามากินอาหาร จะสังเกตได้ว่า ตั้งแต่ทำบ้านปลา โลมาอิรวดีเข้ามาบ่อยมาก”  ผู้ใหญ่มะลิสุวรรณ บอก

ผู้ใหญ่มะลิสุวรรณบอกด้วยว่า จริงๆ แล้ว โลมาอิรวดีอยู่กับเราตลอด เพราะเป็นโลมาอิรวดีปากอ่าวแม่น้ำบางปะกง แต่ถ้าอยากเห็นควรจะมาในช่วงพฤศจิกายน ถึงธันวาคม จะได้เห็นเยอะ

 

"ในวันที่ 7 ธันวาคม 2557 โลมาอิรวดีปรากฏตัวอีกครั้งผ่านมาทางบ้านปลา ทุกคนในชุมชน ต่างตื่นเต้นดีใจ เพราะนี่คือผลจากการที่ทุกคนออกมาช่วยกัน ร่วมใจกันสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ อย่างบ้านปลาที่ช่วยกันทำก็ทำให้มีทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น"


แนวทางอนุรักษ์ สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างรายได้  

 

เมื่อท้องถิ่นแข็งแรงทำให้มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่เช่นกัน หลายภาคส่วนจึงเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่ชุมชนต้องการหรือขาดอยู่ ทั้งเรื่ององค์ความรู้และงบประมาณสนับสนุน

วชิรศักดิ์ วัฒนวรรณศักดิ์ ผู้ช่วยพนักงานพิทักษ์ป่า กรมทรัพยากรและชายฝั่งทะเล เล่าว่า ด้วยความที่ผู้ใหญ่มะลิสุวรรณมีหัวใจรักบ้านเกิด อยากให้พื้นที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน จึงเริ่มจากการพัฒนาธนาคารต้นกล้า ตามด้วยธนาคารปูแสม ซึ่งการทำธนาคารปูแสม เป็นกุศโลบายสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านนำปูไข่นอกกระดองมาขายที่ธนาคารปู แทนการนำไปขายในตลาด โดยผู้ใหญ่มะลิสุวรรณจะให้ราคาที่แพงกว่าตลาด แล้วนำไปปล่อยในพื้นที่อนุรักษ์ให้ปูแสมได้ขยายพันธุ์ต่อไป

“ยิ่งคืนก็ยิ่งได้กลับมากกว่าเดิมครับ คืน 1 ตัว ได้คืนเป็นหมื่น เป็นการคืนห่วงโซ่ให้ระบบนิเวศ  และคืนอาชีพดักปูกระป๋อง เพราะถ้าไม่มีทรัพยากร อาชีพนี้ก็ต้องหายไปด้วย รายได้จากอาชีพนี้ ลงกู้กระป๋องภายใน 2 ชั่วโมง ก็มีเงินกลับบ้านแล้วครับคนละพัน แต่ละคนก็จะลงคนละ 500 กระป๋อง ทำงาน 2 ชั่วโมง ก็ได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว”

 

“ให้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้กลับคืนมาอย่างมากมาย เพราะพื้นที่แห่งนี้ สิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จากการให้คืนแก่ธรรมชาติ”


พื้นที่เล็กๆ สร้างการเรียนรู้และปลูกฝังคนรุ่นใหม่รักสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจุบัน ชุมชนยังได้จัดพื้นที่ป่าชายเลนให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมและเรียนรู้ระบบนิเวศของเด็กและเยาวชน ช่วงหลังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลัดกันเข้ามาปลูกป่าชายเลนและสร้างบ้านปลา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสร้างการเรียนรู้ให้กับตัวนักศึกษาเอง เพราะกิจกรรมที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญต่อการการอนุรักษ์และทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่สูญหาย ป้องกันป่าชายเลนไม่ให้ตายยืนต้น

การสร้างบ้านปลาก็หาวัตถุจากในชุมชน อาทิ ไม้ไผ่ ใบจาก นักศึกษาที่เข้ามาร่วมกิจกรรม “สร้างบ้านปลา” ก็มาจากหลากหลายภาควิชา ถือเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้และผูกพันกับสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร โดยเฉพาะการเรียนรู้แนวคิดที่ว่า

“ให้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้กลับคืนมาอย่างมากมาย เพราะพื้นที่แห่งนี้ สิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จากการให้คืนแก่ธรรมชาติ”


 

‘ยิ่งคืน ยิ่งได้กลับมามาก’ แนวทางอนุรักษ์ของชุมชนบ้านบน ฟื้นชีวิตแม่น้ำบางปะกง
‘ยิ่งคืน ยิ่งได้กลับมามาก’ แนวทางอนุรักษ์ของชุมชนบ้านบน ฟื้นชีวิตแม่น้ำบางปะกง
‘ยิ่งคืน ยิ่งได้กลับมามาก’ แนวทางอนุรักษ์ของชุมชนบ้านบน ฟื้นชีวิตแม่น้ำบางปะกง
‘ยิ่งคืน ยิ่งได้กลับมามาก’ แนวทางอนุรักษ์ของชุมชนบ้านบน ฟื้นชีวิตแม่น้ำบางปะกง
‘ยิ่งคืน ยิ่งได้กลับมามาก’ แนวทางอนุรักษ์ของชุมชนบ้านบน ฟื้นชีวิตแม่น้ำบางปะกง
‘ยิ่งคืน ยิ่งได้กลับมามาก’ แนวทางอนุรักษ์ของชุมชนบ้านบน ฟื้นชีวิตแม่น้ำบางปะกง