Skip to main content

'ชุมชนบ้านกาหนั๊วะ' เรียนรู้การจัดการขยะ เปลี่ยนสิ่งไร้ค่าเป็นรายได้ให้ครัวเรือน

22 กรกฎาคม 2567

 

“ถ้าเราเข้าใจขยะ เราก็ใช้ประโยชน์จากขยะได้”  

นี่คือแนวคิดอันเป็นหัวใจสำคัญของชาวชุมชนบ้านกาหนั๊วะ ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ที่ใช้ในการบริหารจัดการขยะ การรู้จักกับขยะมากขึ้น นำไปสู่การคัดแยกและจัดการโดยเริ่มจากที่บ้าน จนสามารถทำให้สิ่งที่เคยเรียกว่า “ขยะ” กลายเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ทั้งยังทำให้ชุมชนสะอาดปลอดโรค


จุดเริ่มต้น อาสาลดขยะในชุมชน

 

ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่พาคนในชุมชนมองเห็น "ขยะ" ว่าเป็นประโยชน์คือ มาหะมะ สาอุ รองประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ที่ออกไปศึกษาเรียนรู้ด้านการจัดการขยะนอกพื้นที่หลายจังหวัด จนทำให้รู้ว่า 

“ถ้าเราเข้าใจขยะ เราก็ใช้ประโยชน์จากขยะได้”  

มาหะมะ บอกว่า ถ้าเราไม่รู้จักขยะ ก็จะคิดว่า ขยะก็คือ ขยะ ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่เมื่อรู้จักกับขยะทุกชนิดมากขึ้น จะรู้ว่าขยะแต่ละชนิดนำกลับมาสร้างประโยชน์ และเปลี่ยนเป็นเงินได้เช่นกัน

จากแนวคิดนี้ทำให้ มาหะมะ เริ่มต้นรณรงค์ให้มีการจัดการขยะแบบง่ายๆ จากในบ้านตนเองก่อน ด้วยการคัดแยกขยะเปียก และขยะแห้ง ในชีวิตประจำวันให้ได้


เปิดพื้นที่การเรียนรู้ “การจัดการขยะ ด้วยการทำปุ๋ยหมัก และขยะรีไซเคิล”  

 

จากปัญหาเดิมของพื้นที่ซึ่งขยะในชีวิตประจำวันมีปริมาณมากกันทุกบ้าน ทั้งขยะเปียก ขยะแห้ง แต่ทั้งหมดนี้เปลี่ยนเป็นคุณค่าได้ทันทีหากเลือกที่จะนำไปทำปุ๋ยหมักที่บ้าน  ใช้ได้กับสวนผักหรือจะทำเป็นน้ำหมักไว้ขายก็ได้เช่นกัน  

มาหะมะ ออกไปชวนคนในชุมชนให้ทำเรื่องขยะพร้อมกับรณรงค์ให้ชาวบ้านงดใช้สารเคมี เพื่อป้องกันสารพิษไหลลงสู่แหล่งน้ำ จากจุดเล็กๆ นี้ทำให้คนในชุมชนใส่ใจเรื่องการทำขยะจุลินทรีย์เพื่อใช้ร่วมกับการรดน้ำต้นไม้ โดยเฉพาะสวนยาง นอกจากนี้ ชุมชนยังให้ความสำคัญกับการนำขยะพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ เช่น ถุงพลาสติก ซองขนม กระดาษ เชือก มาอัดให้แน่นในขวดพลาสติก โดยต้องเป็นชิ้นส่วนไม่เปียก ไม่เน่า นำมาบรรจุใส่ขวดอัดให้แน่น จากนั้นจะใช้ไม้ยาวๆอัดให้แน่นจนขวดแข็ง ไม่สามารถบีบหรือบิดได้เลยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ต่อ เช่น ใช้แทนอิฐทำกำแพง เป็นต้น  


ชวนชาวบ้านทำความรู้จักขยะจุลินทรีย์ หรือขยะไส้ปลา

 

ขยะแบบนี้มาจากวิถีประมงของพื้นที่ ซึ่งเดิมชาวบ้านมองไส้ปลาเป็นขยะที่ไม่สามารถนำขายได้ แต่เมื่อมีการให้ความรู้ถึงวิธีการนำไปทำน้ำหมักจุลินทรีย์ ชาวบ้านกาหนั๊วจึงนำไปหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ร่วมกับน้ำรดต้นไม้ โดยเฉพาะการบำรุงต้นยางพารา ปริมาณที่ใช้คือ ขวดขนาด 2 ลิตร 2 ขวด ต่อยางพารา 1 ต้น  ชาวบ้านบอกว่า ขยะไส้ปลาช่วยทำให้น้ำยางพาราไหลได้ดีขึ้น

เมื่อทดลองจนเห็นผล ทำให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นประโยชน์จากไส้ปลา จึงเปลี่ยนจากการทิ้งลงถังขยะ นำไปทำเป็นน้ำหมักจุลินทรีย์ เป็นส่วนสำคัญที่ชุมชนใช้สร้างการเปลี่ยนแปลง  ทั้งยังช่วยลดการใช้สารเคมีในสวนยางพาราด้วย นอกจากนี้ น้ำหมักยังขายได้ สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนอีกไม่น้อย


สร้างการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบ “ลดขยะ นำกลับมาสร้างประโยชน์”

 

มาหะมะ ยังยกระดับการทำความเข้าใจเรื่องขยะให้กับชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมเก็บขยะทุกวันศุกร์ และนัดกันทำความสะอาดศาสนสถาน พร้อมทั้งเปลี่ยนเวรรับผิดชอบในแต่ละสัปดาห์ สร้างจิตสำนึกเรื่องการจัดการขยะให้เกิดขึ้นกับทุกคน จึงทำให้ขยะข้างทางเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากพลังในการจัดการของคนในชุนชน โรงเรียน มัสยิด ที่ช่วยให้ความรู้ในเรื่องขยะนำกลับมาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ อย่างเช่น ที่มัสยิด เน้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ทุกสัปดาห์ และให้เฝ้าระวังการทิ้งขยะให้ถูกวิธี ต้องคัดแยกก่อนทิ้ง  ส่วนโรงเรียนก็ให้ความรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน หากมีงานกิจกรรมภายในชุมชน เด็กและเยาวชน จะรวมตัวกันแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลความสะอาดแต่ละจุดในชุมชน ด้วยการเตรียมอุปกรณ์การเก็บขยะ และเฝ้าระวังการทิ้งขยะให้ถูกวิธี  ที่สำคัญต้องแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบ อย่างชัดเจน รวมไปถึงความกล้าหาญที่เดินเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของงาน  เพื่อขอความร่วมมือ จัดการกับขยะ  คัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะเปียก และขยะแห้ง


โรงเรียน ฝึกนักเรียนมีความรับผิดชอบ กำจัดขยะอย่างถูกวิธี  

 

อีกหนึ่งพื้นที่ที่ให้การปลูกฝังที่ดีเรื่องการจัดการขยะแก่เด็กๆ ก็คือ โรงเรียน ซึ่งทางชุมชนได้จัดแบ่งเขตในการดูแลและจัดการขยะ พร้อมปลูกจิตสำนึกในเรื่องของการคัดแยกขยะ การทิ้งขยะให้ถูกที่ ซึ่งนักเรียนจะมีเขตบริการให้รับผิดชอบ โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายภาคีต่างๆ เข้ามาให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะในชุมชน

ทางเครือข่ายภาคีจะเข้ามาให้ความรู้เรื่องการกำจัดขยะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ยังหมั่นเข้ามาให้ความรู้สัปดาห์ละ 3 วัน คือ วันจันทร์ พุธ และพฤหัสบดี เพื่อคัดแยกและรณรงค์ให้นำขยะไปกำจัดอย่างถูกวิธี เนื่องจากขยะแต่ละชนิดมีวิธีการกำจัดที่ถูกต้องแตกต่างกัน ซึ่งการที่โรงเรียนทำหน้าที่ปลูกฝังให้นักเรียนกำจัดขยะให้อย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันไม่ให้ขยะไหลสู่ทะเลและแม่น้ำ เป็นอีกหนึ่งวิธีทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามาช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยจุดเริ่มต้น

“ฝึกฝนนักเรียนให้รู้จักความรับผิดชอบ กำจัดขยะ ในเขตพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย”



 

'ชุมชนบ้านกาหนั๊วะ' เรียนรู้การจัดการขยะ เปลี่ยนสิ่งไร้ค่าเป็นรายได้ให้ครัวเรือน
'ชุมชนบ้านกาหนั๊วะ' เรียนรู้การจัดการขยะ เปลี่ยนสิ่งไร้ค่าเป็นรายได้ให้ครัวเรือน
'ชุมชนบ้านกาหนั๊วะ' เรียนรู้การจัดการขยะ เปลี่ยนสิ่งไร้ค่าเป็นรายได้ให้ครัวเรือน
'ชุมชนบ้านกาหนั๊วะ' เรียนรู้การจัดการขยะ เปลี่ยนสิ่งไร้ค่าเป็นรายได้ให้ครัวเรือน
'ชุมชนบ้านกาหนั๊วะ' เรียนรู้การจัดการขยะ เปลี่ยนสิ่งไร้ค่าเป็นรายได้ให้ครัวเรือน