Skip to main content

‘AMPHAN’ เครื่องหอมกลิ่นอโรมา ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด

21 กรกฎาคม 2567

 

พิชญุตม์ เค้าอ้น

 

 

จากความชื่นชอบธูปหอมไล่ยุงที่คุณแม่ทำกับเพื่อนในชุมชน ผสมเข้ากับความรู้ด้านการออกแบบและการประยุกต์เอาวัตถุดิบในชุมชนมาใช้ของลูกชาย เกิดเป็น ‘Amphan’ แบรนด์เครื่องหอมที่ใช้วัตถุดิบเหลือใช้จากผลผลิตทางเกษตรในชุมชน


จุดเริ่มต้นของความหอม

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของแบรนด์ Amphan เมื่อ คุณแม่อัมพัน เครืออยู่ รวมตัวกันกับกลุ่มเพื่อน ทำธูปหอมใช้กันเองในชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด และกลายเป็นสินค้าที่คนต้องการซื้ออย่างมากจากการระบาดของโรคไข้เลือดออกในเวลานั้น จนเมื่อ สันติ เครืออยู่ ลูกชายกลับมาอยู่ที่บ้านเพื่อดูแลครอบครัวและรับช่วงต่อธุรกิจ สันติ จึงนำความรู้ด้านการออกแบบที่เรียนมา ปรับปรุงดีไซน์และเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถ่านดูดกลิ่น และเครื่องหอมอโรมา

“อ.แม่สอด ทำอาชีพเกษตรกรกันเยอะครับ และสิ่งที่เรียกว่าขยะทางการเกษตรบางอย่าง กลับเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการทำผลิตภัณฑ์ดูดกลิ่น เราทดลองจนนำผิวมะกรูดที่กลุ่มแม่บ้านในชุมชนชอบใช้ทำน้ำพริกอยู่แล้วว่า สามารถเอากลับมากลั่นเป็นน้ำมันหอมอโรมาได้ หรือไปเจอว่าถ่านเมล็ดปาล์มในโรงสีรอบชุมชนเหลือเยอะมาก แถมยังมีคุณสมบัติในการดูดกลิ่นที่ดีอีกด้วย ก็เลยนำมาบดผสมกับกาวยางไม้ และใช้เทคนิคของการทำธูปแบบดั้งเดิมเพื่อผลิตเป็นถ่านเมล็ดปาล์มไว้ใช้ดูดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์” สันติ บอก

สันติ เล่าให้ฟังถึงวิธีการประยุกต์วัตถุดิบเหลือใช้จากชุมชน ผสมผสานเข้ากับการออกแบบดีไซน์ที่สวยงาม ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมของแบรนด์ Amphan ที่โดดเด่นเรื่องการนำผลผลิตเหลือใช้ในชุมชนแม่ตาวมารีไซเคิล และออกแบบอย่างสวยงาม ไปไกลถึงชนะรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมบนเวที DeMark ในประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นของฝากชิ้นสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยือน อ.แม่สอด

 

“ความแข็งแรงของท้องถิ่น คือ ประเทศไทยเรามีภูมิปัญญาชาวบ้านเยอะมากที่ดี และรอเวลาส่งออกไปสู่สายตาระดับโลกอยู่ครับ ถ้าหยิบมาใช้กับธุรกิจได้อย่างถูกทาง” 

 

สันติ ยังเล่าต่อว่าในชุมชนเองก็มีบ้านที่ปั้นถ่านสวยมากๆ มีบ้านที่ออกแบบแพคเกจสวยมากๆ มีบ้านที่รู้วิธีทำธูปหอมแบบดั้งเดิม ก็เลยกระจายงานให้ทุกบ้านที่ทำเป็นหรืออยากทำได้ทดลองทำร่วมกัน เพราะอยากให้คนในชุมชนเข้าถึงอาชีพและรายได้ที่ดีขึ้น เหมือนสมัยคุณแม่เริ่มต้นทำกับกลุ่มแม่บ้านในชุมชน

“จนช่วงโควิดระบาด ยอดขายผลิตภัณฑ์เราตกหมด เลยลองเปลี่ยนจากการขายผลิตภัณฑ์อย่างเดียว มาเพิ่มกิจกรรมให้ลูกค้าได้ใช้บริการด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลองทำพิซซ่าเตาถ่านด้วยถ่านเมล็ดปาล์ม หรือทดลองปั้นถ่านเมล็ดปาล์มเป็นรูปต่าง ๆ ตามความชอบ ก็มีลูกค้าในชุมชนพาลูกหลานมาร่วมกิจกรรมทุกรอบที่จัดเลยครับ”

สันติ เล่าย้อนไปถึงช่วงที่เจอปัญหาโรคระบาดที่สร้างผลกระทบให้ธุรกิจ แต่การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น และแรงสนับสนุนจากลูกค้าในชุมชนทำให้ Amphan สามารถปรับตัวอยู่ได้ในช่วงเวลาที่ธุรกิจต้องทยอยปิดตัวลง โดยบอกว่าลูกค้าชื่นชอบกิจกรรมที่จัดมาก เพราะมองว่าเป็นเรื่องดีมาก ๆ ที่ในชุมชนจะมีพื้นที่ให้ลูกหลานได้ออกแบบงานศิลปะและฝึกความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้อย่างเต็มที่


ธุรกิจกับภูมิปัญญาในท้องถิ่น

 

“ความแข็งแรงของท้องถิ่น คือ ประเทศไทยเรามีภูมิปัญญาชาวบ้านเยอะมากที่ดี และรอเวลาส่งออกไปสู่สายตาระดับโลกอยู่ครับ ถ้าหยิบมาใช้กับธุรกิจได้อย่างถูกทาง” สันติ กล่าว

สันติ ตอบสั้น ๆ ถึงเหตุผลที่เชื่อมั่นและทำให้หยิบเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ในการทำธุรกิจ เขามีความเชื่อว่าในชุมชนมีของดี ๆ อยู่เยอะมากกำลังรอการสนับสนุน เหมือนที่ Amphan หยิบเอาภูมิปัญญาการทำเครื่องหอมจากชาวบ้านมาออกแบบดีไซน์ให้สวยงามอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชุมชน จนกลายเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวแม่สอด

 

เฟสบุ๊ก AMPHAN
 


 

‘AMPHAN’ เครื่องหอมกลิ่นอโรมา ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด
‘AMPHAN’ เครื่องหอมกลิ่นอโรมา ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด
‘AMPHAN’ เครื่องหอมกลิ่นอโรมา ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด
‘AMPHAN’ เครื่องหอมกลิ่นอโรมา ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด
‘AMPHAN’ เครื่องหอมกลิ่นอโรมา ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด
‘AMPHAN’ เครื่องหอมกลิ่นอโรมา ที่ใช้วัตถุดิบจากชุมชนแม่ตาว อ.แม่สอด
เนื้อหาล่าสุด