เมื่อพูดถึงเมืองชายแดน เชื่อว่าหนึ่งในเมืองที่หลายคนนึกถึงก็คือ ‘แม่สอด’ เมืองชายแดนขนาดใหญ่ของจังหวัดตาก ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกของชายแดนไทย มีเพียงแม่น้ำเมยคอยกั้นแบ่งเขตแดนไทย-เมียนมา
ช่วงหลังมานี้ เศรษฐกิจการค้าชายแดนเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากลักษณะเฉพาะของการเป็นแหล่งเคลื่อนย้ายเงินทุน และการทำธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะการมาถึงของ ‘ทุนจีนสีเทา’ ปัญหาร่วมสมัยที่ดูจะทวีความรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้น รวมถึงการเติบโตของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่ตั้งฐานอยู่อีกฝั่งแม่น้ำ ดังนั้น หากนโยบายรัฐมีความชัดเจนในแนวทางการพัฒนาที่ชายแดน รวมถึงการออกแบบการแก้ปัญหาภัยคุกคามที่กำลังมีอิทธิพลเหนือพื้นที่ชายแดนอื่นๆ รอบประเทศไทย ก็จะทำให้เศรษฐกิจชายแดนกลายเป็นเพรชเม็ดงามที่ควรค่าแก่การลงทุน
จากการศึกษาของ ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงปัญหาที่มักหมมอยู่ในพื้นที่ชายแดน เช่น การติดสินบน ส่งส่วย ปัญหาแรงงานข้ามชาติ แต่หากมีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ จะทำให้แม่สอด กลายเป็นเมืองชายแดน ที่พร้อมจะเป็นหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมการค้าชายแดน
เนื่องจากลักษณะของเมืองชายแดน มีการเคลื่อนย้ายทั้งเงินทุนและตัวแรงงานผ่านไปมาอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของแรงงานข้ามชาติ ที่มักจะถูกเรียกเก็บสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการออกแบบระบบพาสปอร์ตแทนระบบใบอนุญาต และมีการชำระกฎหมายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ในส่วนนี้ก็จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะในส่วนของอุตสาหกรรมรับเหมาช่วง อุตสาหกรรมในภาคบริการ ภาคการเกษตร ฯลฯ ซึ่งต้องยอมรับว่าแม่สอด รวมถึงจังหวัดตากนั้น เป็นปลายทางที่แรงงานข้ามชาติจากเมียนมาร์หวังเข้ามาทำงานและเก็บเงิน
ปัจจุบันแรงงานจำนวนไม่น้อย ไม่ได้อยู่ระบบประกันสังคม และเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล เรียกได้ว่าการเป็นแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน ไม่สามารถเจ็บป่วยได้เลย และในบางราย แรงงานเหล่านั้นอาจจะหลบเลี่ยงการตรวจจากเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น หากมีการสังคายนาระบบกฎหมาย การประกาศควบคุมในส่วนของจ้างงานที่มีลักษณะพิเศษของเมืองชายแดน สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย สามารถเข้าระบบประกันสังคม และเข้ามาอยู่ในฐานข้อมูล ง่ายต่อการออกแบบนโยบายในระดับต่อไป
ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของแม่สอด คือ การเป็นเมืองชายแดนที่ย่อมรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นที่ของการปะทะสังสรรค์แลกเปลี่ยนของคนจากหลากหลายสารทิศ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันของชาวไทใหญ่ ชาวเมียนมา รวมถึงผู้อพยพที่ลี้ภัยสงครามที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลัง ในส่วนนี้เองเป็นจุดขายสำคัญซึ่งยากที่จะมีเมืองชายแดนไหนๆ ในไทยจะเหมือน
หากได้ผู้บริหารเมืองที่มีวิสัยทัศน์และคิดต่อยอด นำเอาพหุวัฒนธรรมของเมืองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะสามารถช่วยให้แม่สอดกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขึ้น เนื่องด้วยศักยภาพที่มีอยู่แต่เดิมที่สูงมาก เป็นต้นทุนเฉพาะแบบที่ไม่มีเมืองใดสามารถเลียนแบบได้
อย่างไรก็ดี ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนซับซ้อนและไม่ง่ายในการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาของการเป็นเมืองชายแดนที่มีความซับซ้อน ดังนั้น เมื่อมองเห็นต้นทุนศักยภาพของพื้นที่ที่ซ่อนอยู่แล้ว สำหรับแม่สอดจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค่อยๆ แก้ปมปัญหาที่ขมวดตึงให้คลายออกทีละปม เพื่อปลดล็อกศักภาพพื้นที่ให้สามารถเติบโตได้ แม้อุปสรรคจะมากเท่าใดก็ตาม โอกาสของแม่สอดยังคงมีความหวังเสมอ