Skip to main content

'โรงเรียนบ้านตาเปาว์’ สร้างพื้นที่ปลอดภัยและอบอุ่น ด้วย Active Learning และจิตวิทยาเชิงบวก

20 กรกฎาคม 2567

 

 

เมื่อปัญหาสุขภาพใจของเด็ก ๆ มีความรุนแรงมากขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันมากมายของสังคม โดยเฉพาะเด็กๆ ในชุมชนบ้านตาเปาว์ จังหวัดสุรินทร์ ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างลงเรือประมงในทะเลภาคใต้ปีละหลายเดือน ทำให้ ครูไซอิ๋ว - ปีร์พฤจิกาล หมายเจริญ นำ ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ เติมเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้แบบ  Active Learning ใน โรงเรียนบ้านตาเปาว์ ด้วยเป้าหมายที่อยากสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจและพัฒนาให้โรงเรียนเป็น Safe Zone ของเด็ก ๆ โรงเรียนจึงกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยและอบอุ่น แม้จะในวันที่พ่อแม่อยู่กลางทะเลที่ห่างไกลก็ตาม


7 ปี  Active Learning ‘โรงเรียนบ้านตาเปาว์’

 

โรงเรียนบ้านตาเปาว์ เป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 140 คน ครู 14 คน อยู่ห่างจากตัวเมือง 18 กิโลเมตร ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างลงเรือประมงนานครั้งละ  2 - 3 เดือน จึงค่อยกลับบ้านได้ครั้งหนึ่ง บางส่วนมีอาชีพทำนาและเป็นเกษตรกร พื้นที่จึงมีลักษณะสังคมค่อนข้างเป็นแบบชนบทมากกว่าสังคมเมือง

“ปัญหาของโรงเรียนบ้านตาเปาว์ก็คงเหมือนโรงเรียนอื่นทั่วไปในประเทศไทย ตอนนี้มีครูครบชั้นก็จริง แต่ส่วนใหญ่ต้องสอนไม่ตรงเอก อย่างตัวเองจบด้านภาษาไทย แต่ก็ต้องสอนประจำชั้น ป.3 ทุกวิชา ทำให้บางทีวิชาอื่นๆ ที่ครูไม่ได้เรียนมาอย่างเจาะลึกก็เข้าไม่ถึงแก่นของวิชานั้น อาจสื่อสารกับเด็ก ๆ ได้ไม่ตรงจุด ลงรายละเอียดหรือตอบบางคำถามให้เขาไม่ได้ ทำให้มีงานมากขึ้นที่เราต้องไปหาคำตอบให้เขา เราจึงคิดหากระบวนการเรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ที่สามารถมาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้” ครูไซอิ๋ว บอก

เมื่อทางเขตการศึกษาได้แนะนำทางโรงเรียนให้รู้จักกับ “กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก” หรือ  Active Learning ซึ่งเป็นการจุดประกายให้กับภูมิทัศน์ใหม่ทางการศึกษาของโรงเรียนในท้องถิ่นเล็กๆ แห่งนี้ ให้สามารถปรับตัวสอดคล้องไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ไวขึ้น  

กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ไม่ใช่การเรียนแบบเอาหลักสูตรและผลสอบเป็นตัวตั้ง แต่จะเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดของนักเรียน เพื่อแก้โจทย์และพาไปสู่เป้าหมายได้

ครูไซอิ๋ว จึงได้ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมและร่วมกับเพื่อนครู ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน จนห้องเรียนของเธอกลายเป็นห้องเรียนต้นแบบ จากนั้นค่อยๆ เก็บประสบการณ์และพัฒนาเรื่อยมา จนตอนนี้ ครูไซอิ๋วสามารถเป็นวิทยากรให้กับเขตพื้นที่การศึกษาได้  โดยมีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในตอนนี้คือ การนำหลัก “จิตวิทยาเชิงบวก” มาปรับใช้กับการสอนแบบ Active Learning ด้วย จนกระบวนการ Active Learning ขยายไปสู่โรงเรียนต่างๆ ทั่วทุกเขตการศึกษา

“กระบวนการทำ Active Learning ของบ้านตาเปาว์ เริ่มจากการให้คุณครูมาช่วยกันเขียนแผน เพื่อจัดกระบวนการเรียนการสอนร่วมกัน จะทำไปด้วยกันทุกชั้นเรียนตั้งแต่อนุบาลเลย หากถามว่าการลงหลักปักฐานของ Active Learning  โรงเรียนแห่งนี้เริ่มอย่างไร ตอนแรกแนวคิดนี้มาจากเขตพื้นที่การศึกษาแนะนำมา ซึ่งทำให้เด็ก ๆ ประสบผลสำเร็จทางการศึกษาในหลายประเทศ จึงเห็นว่าน่าจะลองนำมาปรับใช้ในพื้นที่ได้ จึงชวนเพื่อนครูอีก 7 - 8 คน มาทำเรื่องนี้ด้วยกัน มีการติดตามผลไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าได้ผลดี ไม่มีปัญหาก็เริ่มขับเคลื่อนไป ขยายไปเรื่อยๆ ไปยังโรงเรียนแห่งอื่น จนตอนนี้มีการใช้  Active Learning  เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา” ครูไซอิ๋วเล่า

 

กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ไม่ใช่การเรียนแบบเอาหลักสูตรและผลสอบเป็นตัวตั้ง แต่จะเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดของนักเรียน เพื่อแก้โจทย์และพาไปสู่เป้าหมายได้

 

เมื่อกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เดินหน้าไป จากเดิมที่เพื่อนครูเคยมองว่า ต้องเตรียมสื่อ ครูต้องทำงานหนัก กลายเป็นไม่หนักแล้ว เพราะครูรู้แล้วว่า หน้าที่ของครูเป็นเพียงการเตรียมการสอนและวางกระบวนการไว้ จากนั้นเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่จะไปถึงเป้าหมายด้วยตัวเองโดยมีครูคอยชี้แนะ

 

ครูไซอิ๋ว ยอมรับว่า ในช่วงแรกหลายคนยังไม่เข้าใจคำว่า Active Learning มากนัก คิดว่าแค่ให้เด็กๆ ทำงานประดิษฐ์ ตัดกระดาษ ทำชิ้นงานแปะๆ ไป ยิ่งครูบางคนรู้สึกว่า กระบวนการแบบนี้เป็นภาระของครู แต่พอทำไปเรื่อยๆ ทำให้เข้าใจว่าสื่อหรือวัสดุอุปกรณ์การสอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่ครูว่าจะมีแผนการจัดการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กได้ลงมือทำหรือคิดเอง รวมถึงยอมให้เด็กๆ มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือความรู้ของเขาออกมา ทุนหรืออุปกรณ์จึงไม่ใช่หัวใจหลักในการเรียนรู้ในรูปแบบนี้

“จากช่วงแรกที่ยังคลำทางกันไม่ถูก พอลงมือทำไปสักพัก ก็เริ่มเห็นปัญหา จึงเริ่มแก้ปัญหาด้วยกัน ทำให้เราเห็นทิศทางที่จะไปถึงเป้าหมายได้ว่าเป็นแบบไหน ก็เดินไปพร้อมกัน และเราจะมีอีกกระบวนการหนึ่งคือ การจัดอบรมทุกๆ ปี คอยช่วยกันแลกเปลี่ยนความคิด ใครมีไอเดียอะไรใหม่ๆ ก็เอามาแลกเปลี่ยนกันตลอด ทำไปสักพักเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางบวกของเด็กๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เด็กมั่นใจขึ้น ผลการเรียนดีขึ้นในทุกกลุ่มการเรียนรู้ ครูคนอื่นๆ จึงเริ่มนำมาปรับใช้”

ครูไซอิ๋วบอกว่า เมื่อกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning เดินหน้าไป จากเดิมที่เพื่อนครูเคยมองว่า ต้องเตรียมสื่อ ครูต้องทำงานหนัก กลายเป็นไม่หนักแล้ว เพราะครูรู้แล้วว่า หน้าที่ของครูเป็นเพียงการเตรียมการสอนและวางกระบวนการไว้ จากนั้นเป็นเรื่องของเด็ก ๆ ที่จะไปถึงเป้าหมายด้วยตัวเองโดยมีครูคอยชี้แนะ

“ตอนเตรียมอาจจะเหนื่อยบ้าง แต่พอเข้าชั่วโมงเรียน ครูแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย อาจต้องสอดแทรกในส่วนที่ต้องเสริมสิ่งที่เกี่ยวกับองค์ความรู้บ้างเท่านั้น ชวนเขาคิดและแลกเปลี่ยน ชี้ให้เห็นวิธีการนำสิ่งที่เขาได้ไปใช้ ครูทำหน้าที่แค่คอยกระตุ้นดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาจากเด็กๆ แค่นั้นเองค่ะ ”


Active Learning ผสาน ‘จิตวิทยาเชิงบวก’

 

ครูไซอิ๋วบอกว่า “จิตวิทยาเชิงบวก” ถือเป็นศาสตร์ใหม่ ที่อยากนำมาทดลองปรับใช้ในห้องเรียน เนื่องจากสภาพสังคมในปัจจุบัน เรื่องสุขภาพจิตดูจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น และเธอเองก็มองว่า สุขภาพใจนั้นสำคัญกับการเรียนของนักเรียนมาก จึงขอเข้ารับการอบรมและเรียนรู้ในเรื่องนี้

“ตอนแรกทุกคนก็งงเหมือนกันว่า เป็นครูภาษาไทย ทำไมไม่เน้นที่ภาษาไทย พออบรมเสร็จ เราก็นำมาออกแบบให้จิตวิทยาเชิงบวกอยู่ในการเรียนการสอนของเรา โดยจะเน้นที่สอนให้เขาได้รู้จักกับ character strengths หรือคุณลักษณะที่เป็นจุดเด่น 24 ตัว มีอะไรบ้าง จากนั้นก็ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมไหนบ้างที่แสดงถึงคุณลักษณะด้านนี้ เช่น ความซื่อสัตย์ มีอะไร ทำอะไรถึงจะเรียกว่า ซื่อสัตย์ เป็นต้น” ครูไซอิ๋วเล่า

จิตวิทยาเชิงบวก บางคนอาจมองว่า จะต้องมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยามาก่อน แต่ครูไซอิ๋ว บอกว่า ความจริงแล้วใครๆ ก็เรียนรู้และนำมาใช้ได้  ซึ่งเธอเองก็เริ่มต้นจากศูนย์เช่นกัน

“เป้าหมายของจิตวิทยาเชิงบวกที่อยากเน้นคือ character strengths ซึ่งมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน เช่น ซื่อสัตย์ อารมณ์ขัน ความคิดสร้างสรรค์ การใฝ่รู้ มีวินัย คนทุกคนจะดึงคุณลักษณะเหล่านี้ออกมาเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ การออกแบบการสอนของเราก็จะใส่สถานการณ์ต่าง ๆ เข้าไปเพื่อให้เด็กได้ทดลองคิดว่า หากวันหนึ่งเขาต้องเจอกับปัญหาหรือสถานการณ์แบบนี้ เขาจะดึงจุดแข็งส่วนไหนของเขามาใช้เพื่อให้ผ่านเหตุการณ์ช่วงนั้นไปได้”

“บางทีเด็กตัวเล็กๆ เขาไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร บางคนคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย เรียนก็ไม่เก่ง ไม่ได้เรื่องอะไรเลย แต่เขาอาจไม่รู้ว่าการที่เขามีอารมณ์ขันก็เป็นจุดแข็งที่จะทำให้เขาผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ และเอาตัวรอดในสังคมได้เหมือนกัน เด็กๆ จะรู้จักสถานการณ์ รู้จักตัวเองและปรับตัวกับมันได้” ครูไซอิ๋ว บอก

การนำจิตวิทยาเชิงบวกไปใช้นั้น ครูไซอิ๋วบอกว่า อาจไม่ต้องจริงจังขนาดตั้งเป็นรายวิชาขึ้นมา  แต่สามารถสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันได้ เช่น การพูดคุยกันในตอนเช้า จะหาวิธีให้นักเรียนได้ลองสำรวจตัวเอง  เช่น ถามว่าวันนี้มีอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกดี เมื่อเด็กๆ บอกออกมา เช่น ช่วยแม่ล้างจาน เพียงเท่านี้ก็เป็นการเริ่มต้นวันด้วยความคิดดีๆ ให้กับพวกเขาได้ ทำให้เขารู้สึกถึงคุณค่า แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่เขาก็ได้เริ่มต้นทำแล้ว

ส่วนในวิชาก็ทำได้เหมือนกัน ครูไซอิ๋วยกตัวอย่างว่า เวลาสอนแล้วเด็กพูดหรือแสดงพฤติกรรมที่เป็น character strengths ของเขาออกมา ก็ควรพูดชื่นชมในตอนนั้น เช่น มีอารมณ์ขันนะเนี่ย เพื่อให้รู้ว่า นั่นคือจุดเด่นของเด็กคนนั้น เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ต้องบอก และทำให้เขาได้ทำความเข้าใจเรื่องความสมดุลพอดีในการแสดงคุณลักษณะแต่ละด้าน

“บางคนเป็นคนใฝ่รู้มาก ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่เขาจะพูดตลอด เราต้องชื่นชมว่า สิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดีนะ คือความใฝ่รู้ แต่เราก็ต้องบอกว่ารออีกนิด เดี๋ยวครูพูดจบแล้ว เรามาตอบคำถามกัน เพื่อให้เขารู้จังหวะ ไม่จำเป็นว่า เราจะต้องเอาเรื่องเหล่านี้ไปลงในรายวิชา ไปสอนว่า ความใฝ่รู้คืออะไร วัดผลกันจริงจังอะไรแบบนั้น ใช้ชีวิตประจำวันง่าย ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ทบทวนตัวเอง เห็นจุดแข็งคุณค่าของตัวเองก็พอ รวมถึงการทำให้เขาได้รู้จักกับสถานการณ์ ซึ่งครูได้เอามาออกแบบเป็นเกมชื่อ ‘นักล่ามหาสมบัติ’ เพื่อให้เขาเรียนรู้แบบสนุกด้วย”

 

“บางทีเด็กตัวเล็กๆ เขาไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร บางคนคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดีเลย เรียนก็ไม่เก่ง ไม่ได้เรื่องอะไรเลย แต่เขาอาจไม่รู้ว่าการที่เขามีอารมณ์ขันก็เป็นจุดแข็งที่จะทำให้เขาผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ และเอาตัวรอดในสังคมได้เหมือนกัน เด็กๆ จะรู้จักสถานการณ์ รู้จักตัวเองและปรับตัวกับมันได้” 

 

ครูไซอิ๋วเล่าว่า เธอได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่น่าประทับใจเกิดขึ้นในหลายกรณีหลังจากที่นำกระบวนการนี้มาใช้ในห้องเรียน อย่างเช่น นักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งเธอสังเกตมาพักใหญ่แล้วว่า ดูเหมือนไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รู้สึกว่าไม่มีด้านที่ดีเลยสักอย่าง กีฬาก็เล่นไม่ได้ เวลาครูสอน ก็มักพูดว่า เขาทำไม่ได้หรอก ในการนำจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ ครูจะค่อย ๆ ชี้ให้เขาเห็นว่า คุณลักษณะเด่นของเด็กคนนี้มีด้านใดบ้าง เขาก็จะค่อยๆ มั่นใจมากขึ้น เชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้และเวลาที่เขาทำได้ ก็จะรู้สึกถึงพัฒนาการของตัวเองมากขึ้น

7 ปี ของการนำ Active Learning มาใช้ ครูไซอิ๋ว บอกว่า รู้สึกว่าพอใจกับผลที่ออกมามากๆ ถ้ามองย้อนไปว่า กุญแจความสำเร็จอยู่ตรงไหน อันดับแรกคือ ‘ครู’ ที่ต้องเข้าใจก่อนว่า กระบวนการ Active Learning  คืออะไรและต้องนำมาใช้ให้ถูกต้อง เพราะเชื่อว่าตอนนี้ครูเกินกว่าครึ่งคิดว่า Active Learning คือการให้เด็กทำอะไรก็ไม่รู้ไม่เห็นได้เรียนเลย

“เราต้องเปลี่ยนความคิดจากกรอบเดิมที่ครูสอน เด็กฟัง จำแล้วก็ตอบไปตามครู การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว ครูจะเป็นผู้เตรียมการสอน บอกโจทย์และแนวทางการเข้าถึงเป้าหมาย ส่วนเด็ก ๆ คือผู้ลงมือทำด้วยตัวเขาเอง ในแบบของเขาเอง สิ่งที่ได้คือ กระบวนการคิดของเด็ก ๆ อย่ากังวลว่าเป็นการเสียเวลา เพราะ Active Learning สอนทั้งองค์ความรู้ ทักษะการทำงาน ทักษะการคิดไปพร้อม ๆ กัน”

ครูไซอิ๋วบอกว่า สิ่งที่สำคัญในกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ เด็กๆ สนุกสนานและมีความสุขที่จะเรียนรู้มากขึ้น


 

โรงเรียนบ้านตาเปาว์’ สร้างพื้นที่ปลอดภัยและอบอุ่น ด้วย Active Learning และจิตวิทยาเชิงบวก
โรงเรียนบ้านตาเปาว์’ สร้างพื้นที่ปลอดภัยและอบอุ่น ด้วย Active Learning และจิตวิทยาเชิงบวก