Skip to main content

สาวญี่ปุ่นผู้รักเมืองไทย และห้องสมุดเพื่อเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการเข้าถึงหนังสือ

15 กรกฎาคม 2567

 

 

 

โยชิมิ โฮริอุจิ (Yoshimi Horiuchi) หญิงสาวชาวญี่ปุ่นผู้รักหนังสือและการอ่าน ซึ่งบกพร่องทางการมองเห็นมาแต่กำเนิด เธอเป็นหนอนหนังสือที่หลงรักเมืองไทย รักในภาษาไทย และวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีหลายอย่างคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทำให้เธอเริ่มเรียนภาษาไทยตั้งแต่อายุ 19 ปี


เธอบอกว่า ทำอย่างไรถึงจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการอ่าน เพื่อส่งเสริมโอกาสในการอ่านที่เท่าเทียมกัน ทำอย่างไรถึงจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กพิการและไม่พิการ เพราะเรารู้ว่า คนชนบทและคนพิการยังไม่ได้รับความเท่าเทียมในเรื่องการอ่าน  แม้ว่าอัตราการรู้หนังสือของคนไทย มีการรายงานว่า สูงถึงร้อยละ 92.3 แต่ในขณะเดียวกัน เด็กไทยกลับมีการอ่านหนังสือเพียง 5 เล่มต่อปี และคนไทยอย่างน้อย 1.1 ล้านคนเป็นคนพิการ และร้อยละ 77 ของคนพิการเหล่านั้นอาศัยอยู่ในชนบทของประเทศไทย 


จากโครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ในกรุงเทพฯ สมัยที่เป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอมองว่าควรไปทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในต่างจังหวัดมากกว่า เพราะโอกาสในการเข้าุถึงหนังสือของเด็กและคนพิการในชนบทมีน้อยกว่าในกรุงเทพฯ มาก และย้ายไปทำห้องสมุดที่ อ.พร้่าว จ.เชียงใหม่ ตามคำแนะนำของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชนใน อ.พร้าว ในปี 2555


“เราสนใจอยากจะทํางานด้านสังคม เพราะว่าเราเป็นคนพิการและก็มีใครๆ เข้ามาช่วยเราตลอด คือเราเป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือเป็นหลัก ทีนี้พอโตขึ้น เราก็อยากจะช่วยเหลือคนอื่นบ้าง ก็เลยอยากจะทํางาน จะได้ทำประโยชน์ต่อสังคมได้บ้าง พอกลับมาเมืองไทย เราจึงอยากจะสร้างห้องสมุดในเมืองไทย เพราะว่าเราเป็นคนตาบอด เป็นผู้หญิง เป็นญี่ปุ่นด้วย ก็คิดว่าเราจะทําอะไรได้บ้างในประเทศไทย เราก็เลยคิดได้ว่า โอ้ใช่ๆ คนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แต่เราชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ก็เลยอยากจะทํางานด้านนี้ จึงตัดสินใจทำห้องสมุด”


นอกจากทำ ห้องสมุดรังไหม แล้ว เธอยังได้สร้างศูนย์การเรียนรู้บนดอยหลายแห่ง โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การนำ รถห้องสมุดเคลื่อนที่ ไปให้บริการตามโรงเรียนในท้องถิ่น, กิจกรรมนำหนังสือใส่ถุงผ้าไปเยี่ยมเยือนให้กับผู้พิการ คนป่วย คนชราที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้,กิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้แก่เด็กบนดอย,โครงการฅนเผ่าเล่านิทาน, โครงการเล่มเดียวในโลก เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ล้วนช่วยเติมเต็มชีวิต สร้างจินตนาการ ส่งเสริมการอ่านให้คนเมืองพร้าว รวมทั้งอำเภอใกล้เคียงเช่น อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  


เธอยังเชื่อว่า การอ่านหนังสือนั้นสามารถเปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนแปลงโลกได้


 

เนื้อหาล่าสุด