Skip to main content

CONCUR. Patchwork แบรนด์เสื้อปะของคนรุ่นใหม่ชายแดนใต้ ไปไกลระดับโลก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน

14 กรกฎาคม 2567

มูฮำหมัด ดือราแม

 


“ผมเป็นคนขายเสื้อผ้ามือสองตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปี 1 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ใกล้มหาวิทยาลัยก็มีตลาดนัดรูสะมิแล จนกระทั่งมาถึงจุดที่ตัวเองไม่สามารถหาของดีๆ มาขายได้ตลอดเวลา จึงได้ทบทวนว่า ควรทำบางอย่างที่สามารถคุมคุณภาพการผลิตและการดีไซน์ได้ จึงไปอ่านงานเรื่องการดีไซน์ของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการทำ Patchwork”

ฮุสนีย์ สาแม เจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกายผ้าปะ “CONCUR. Patchwork” เล่าถึงที่มาของการเริ่มต้นทำธุรกิจเพื่อสังคม เขาบอกว่า CONCUR เป็นคำที่มีความหมายเหมือน คำว่า Gather หมายถึง การรวมกลุ่ม นิยามของ CONCUR คือ การรวมกลุ่มของเยาวชนรุ่นใหม่กับกลุ่มแม่บ้าน เพื่อจะสร้างบางอย่างที่มีผลต่อชุมชน คือจะฟื้นเศรษฐกิจของหมู่บ้านให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา

ฮุสนีย์ อธิบายความหมายของ Patchwork ว่า มาจากคำสองคำ คือ Patch หมายถึง การปะ และ Work หมายถึง งาน ดังนั้น Patchwork ก็คืองานปะนั่นเอง ซึ่งเดิม Patchwork มาจากสิ่งของที่ใช้งานไม่ได้แล้ว เช่น กางเกงขาดๆ เสื้อขาดๆ โดยเอาผ้ามารองแล้วเย็บติดกัน ก็เลยเกิดเป็นงานปะขึ้นมา

 

“แทนที่เราจะไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ เรากลับมามองของที่มีอยู่จะดีไหม กลับมาทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น ลดโลกร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนได้ พัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งมีครบในความเป็น CONCUR”


เมื่อตีโจทย์แตก งาน Patchwork ก็สร้างโอกาสมากมาย

 

ฮุสนีย์ เล่าว่า พอศึกษาเรื่องนี้ก็เห็นว่ามีคนขายงานแบบนี้ได้ด้วย จึงกลับมามองว่า ที่ปัตตานีก็มีจุดเด่นในเรื่องเสื้อผ้ามือสอง ซึ่งมีจุดแข็งคือ ราคาถูก หาซื้อง่าย และคู่แข่งน้อย จากปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้ ทำให้คิดว่า น่าจะมีศักยภาพพอที่จะสร้างธุรกิจในพื้นที่ได้

“พอตีโจทก์ 3 อย่างนี้แตก ก็ไปอ่านงานการทำ Patchwork ในญี่ปุ่น ก็พบว่าเขาให้คนแก่ทำ พอกลับมามองในพื้นที่บ้านเราก็พบว่า มีคนแก่เยอะที่ไม่มีงานทำและไม่ทำงานแล้ว แต่บ้านเราก็ยังมีคนว่างงานเยอะด้วยที่ไม่ใช่คนแก่ จึงไปติดต่อดูเขาว่าจะลองทำงานด้วยกันไหม”

 

นิยามของ CONCUR คือ การรวมกลุ่มของเยาวชนรุ่นใหม่กับกลุ่มแม่บ้าน เพื่อจะสร้างบางอย่างที่มีผลต่อชุมชน คือจะฟื้นเศรษฐกิจของหมู่บ้านให้มีชีวิตชีวาขึ้นมา

 

ฮุสนีย์ กล่าวว่า เมื่อลองทำแล้วปรากฏว่าไม่ใช่แค่ตีโจทย์ 3 อย่างเท่านั้น ยังบวกเพิ่มเรื่องการสร้างอาชีพด้วย กลายมาเป็นคำว่า Gather คือการรวมกลุ่มของ 4 อย่างที่เป็นจุดแข็ง คือ 1) ของหาง่าย 2) ราคาไม่แพง 3) คู่แข่งน้อย และ 4) การสร้างโอกาส

“ผมเริ่มงานในช่วงก่อนโควิด 19 ระบาด ตอนนั้นก็มีออเดอร์เข้ามาแล้ว 30-40 ตัวได้มาหมื่นกว่าบาท ก็เลยคิดว่าถ้าสามารถทำให้ออกมาดีๆ จะสามารถสร้างอาชีพให้ชาวบ้านได้ ตอนนี้ก็เข้าปีที่ 5 แล้ว”


Patchwork คือ การ Upcycling Product จากของเหลือใช้

 

ฮุสนีย์ บอกว่า ในเรื่องของผลิตภัณฑ์นั้น แต่ก่อนจับแค่ Patchwork ตอนนี้พยายามขยายสเกลให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยใช้คำว่า Upcycling

ฮุสนีย์ อธิบายว่า เมื่อก่อนจะมี 3 คำที่ใช้กัน คือ Recycle, Reuse และ Reduce พอมีปัญหา Fast Fashion ทำให้มีเสื้อผ้าในโลกจำนวนมากขึ้น จนเกิดคำนิยามใหม่เกี่ยวกับการนำเสื้อผ้าที่เหลือใช้มาทำใหม่ คือการ Remake หรือ Reuse แต่เขาจะใช้คำใหม่ คือ Upcycling เรียกว่า Upcycling Product

“งานของ CONCUR จะไม่ใช่แค่งานปะเสื้อผ้าอย่างเดียว แต่จะรวบรวมหลายเทคนิคเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเพ้นท์(ระบายสี) การปะ การเนา การตัด ทุกอย่างทำให้งานออกมามีลักษณะพิเศษ มีอัตลักษณ์ มีความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร”

ฮุสนีย์ บอกว่า คอนเซ็ปต์หลักๆ ของ CONCUR ก็คือ จะเอาเสื้อผ้าที่คนทั่วไปมองข้าม หรือเสื้อผ้าที่ควรจะทิ้งเป็นขยะ มาทำใหม่ มาดีไซน์ใหม่ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถขายได้ราคาแพงขึ้น

วัตถุดิบหลักๆ ก็มาจากตลาดนัดมือสอง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กางเกง ผ้า ก็เป็นตลาดแถวนั้นทั้งหมด ซึ่ง Patchwork มาจากการรวมหลายๆ ชิ้น เกิดจากการองค์ประกอบหลายๆ อย่าง เช่น เสื้อสีนี้ ผ้าสีนี้ กางเกงสีนี้ เอามายำรวมกันหลากหลายสี เช่น สีแดง สีดำ สีม่วง เอามาผสมกัน

“คนที่ทำงานแบบผมก็จะมีนิยามใหม่คือ Artist + entrepreneur กลายเป็น Artipreneur คือศิลปินผู้ประกอบการ”

 

คอนเซ็ปต์หลักๆ ของ CONCUR ก็คือ จะเอาเสื้อผ้าที่คนทั่วไปมองข้าม หรือเสื้อผ้าที่ควรจะทิ้งเป็นขยะ มาทำใหม่ มาดีไซน์ใหม่ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถขายได้ราคาแพงขึ้น


ตามเทรนด์ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น มีลูกค้าหลายประเทศ

 

ฮุสนีย์ บอกว่า ตอนนี้ CONCUR มีศักยภาพในการผลิตเดือนละ 40-50 ตัว เพราะเป็นงานแฮนด์เมด และเป็นงานที่ค่อนข้างใช้เวลาในการดีไซน์ โดยจะดีไซน์ตามเทรนด์ โดยสังเกตเทรนด์ในยุโรปว่า คนยุโรป คนอเมริกา หรือคนญี่ปุ่นชื่นชอบในการแต่งตัวลักษณะไหน เราดูแบบของเขาแล้วมาปรับให้เข้าสไตล์ของเรา

ฮุสนีย์ กล่าวว่า การดีไซด์ในช่วงแรกๆ จะดูจากใน Pinterest เพื่อค้นหาไอเดียก่อน พอได้ไอเดียมาแล้วก็มาปรับแต่งตามความต้องการได้

“ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นเสื้อกับกางเกง ขึ้นอยู่กับว่า ปัจจุบันมีความนิยมยังไงบ้าง แต่ตอนนี้ก็มีทุกอย่างแล้ว ทั้งกระเป๋า กางเกง เสื้อ หมวก แต่ถ้า Best Seller (ขายดีที่สุด) ก็คือเสื้อแจ็คเก็ต”

ฮุสนีย์ บอกว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นคนกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชาวต่างชาติก็เป็นชาวญี่ปุ่น ชาวไต้หวัน ล่าสุดก็มีออเดอร์จากประเทศฝรั่งเศส ส่วนลูกค้าประจำ จะส่งให้สยามเซ็นเตอร์ และTerminal 21 ล่าสุดมีคำสั่งซื้อเข้ามา 32 ตัวส่งไปกรุงเทพฯ แต่เป็นแบบ OEM คือการรับผลิตให้แล้วเขาเอาไปแปะยี่ห้อของเขาเอง ซึ่งรายนี้เขาจะเอาไปขายในงานที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา


เน้นขายทาง IG เป็นหลัก

 

“คนสั่งซื้อเขาจะให้ Concept กว้างๆ ว่าต้องการแบบไหน แต่ที่จริงเขาอยากซื้อคำว่า งานของเรา สไตล์ของเรา License ของเรา ที่มีความเป็น CONCUR อยู่ ซึ่งถ้าพูดถึง CONCUR เขาจะรู้ว่าเป็นแบรนด์ของเรา”

ฮุสนีย์ กล่าวว่า ช่องทางการขายคือ IG (Instagram) เป็นหลัก ชื่อช่องว่า CONCUR. Patchwork เพราะ IG จะเรียงภาพสวย วัยรุ่นปัจจุบันก็จะใช้ IG เป็นส่วนใหญ่ มีการโปรโมทสินค้าให้ลูกค้าเห็น แล้วก็ทำคลิปคอนเทนต์ลงไปเผยแพร่ช่องทางอื่นๆ

ฮุสนีย์ กล่าวว่า ปีที่แล้วได้โอกาสไปนำเสนองานที่มหาวิทยาลัยยูคอน รัฐคอนเนกติคัต สหรัฐอเมริกา เรื่องเสื้อผ้า Upcycling ระหว่างไปเรียนคอร์สที่นั่น และยังมีโอกาสไปถ่ายรูปและโปรโมทงานที่นิวยอร์กด้วย

“สิงที่ได้ก็คือทุนจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้เยอะ แต่เป็นก้อนแรกที่เราได้จากการแข่งขันกับคู่แข่งจาก 10 ประเทศในอาเซียนและผมก็ได้ที่ 1”  

 

เสื้อตัวแรกที่จ้างชาวบ้านทำเริ่มต้นด้วยเงิน 70 บาท แล้วเอาไปขายได้ 490 บาท ได้กำไรถึง 420 บาท ถ้าทำได้ 10 ตัวก็จะได้ 4,200 บาท ซึ่งแนวทางนี้นอกจากจะทำให้มีกำไรแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านอยู่รอดได้ด้วย


สร้างงานเสริม เพิ่มรายได้

 

ฮุสนีย์ บอกว่า เราแบ่งทีมงานตามความถนัดของแต่ละคน ปัจจุบันมีทีมงาน 2 สายหลักๆ คือ สายดีไซน์ก็จะอยู่ที่ออฟฟิศปัตตานี และสายเย็บผ้ากับทีมวาดรูปก็จะอยู่ที่ยะลา โดยสายเย็บผ้าก็จะแบ่งเป็นเย็บจักรและเย็บมือ รวมทั้งหมด 14 คน โดยทีมยะลาจะมารับงานที่ปัตตานีสัปดาห์ละครั้งไปผลิต เสร็จแล้วเอากลับมาขายที่ปัตตานี

เขาบอกว่า ปัจจุบันทีมงานทำแบบพาร์ทไทม์ เพราะแต่ละคนมีงานหลักอยู่แล้วคือกรีดยาง งานส่วนนี้ก็จะเป็นอาชีพเสริมที่มีรายได้มากกว่าอาชีพหลัก ช่วงเช้ากรีดยางได้ 80 บาท พอมาเย็บหมวกใบหนึ่งก็จะได้ 100 บาท ถ้า 2 ใบก็ 200 บาท รวมแล้วก็ได้ 280 บาทต่อวัน เป็นงานเสริมที่ทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น ยกเว้นคนที่ไม่มีงานอื่นก็ให้เป็นอาชีพหลักของเขา ซึ่งทีมงานก็กระจายตามที่ต่างๆ ในยะลา


จาก 70 บาท กลายมาเป็น 2 แสน

 

ฮุสนีย์ บอกว่า เสื้อตัวแรกที่จ้างชาวบ้านทำเริ่มต้นด้วยเงิน 70 บาท แล้วเอาไปขายได้ 490 บาท ได้กำไรถึง 420 บาท ถ้าทำได้ 10 ตัวก็จะได้ 4,200 บาท ซึ่งแนวทางนี้นอกจากจะทำให้มีกำไรแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านอยู่รอดได้ด้วย

“นี่คือชิ้นแรกที่ได้ พอเราเห็นเงินจำนวนนี้แล้ว เราก็พอจะมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตได้ “

ฮุสนีย์ กล่าวว่า นวัตกรรม Patchwork จะสร้างอาชีพได้จริง เพราะพิสูจน์มาแล้วในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จาก 70 บาทกลายมาเป็น 200,000 บาท อนาคตมันก็จะเติบโตต่อไปตามสถิติที่บันทึกไว้

ฮุสนีย์ บอกว่า กำลังคิดวิธีที่จะทำให้เป็น Mass Product ได้อย่างไร ตอนนี้ยังเป็น Niche Product (สินค้าเฉพาะกลุ่ม) จะเพิ่มปริมาณก็ต้องวางระบบใหม่ เพราะตอนนี้แค่เอาวัตถุดิบไปส่งให้ทีมงานทำ ก็ต้องเพิ่มศักยภาพคนและต้องใช้ทุน ซึ่งตอนนี้พยายามประคองไปก่อนเพราะเศรษฐกิจยังซบเซา ต้องค่อยๆ ไป ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาได้แค่นี้ก็ดีแล้ว


วางเป้าหมายธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลก

 

ฮุสนีย์ กล่าวว่า งาน Patchwork เริ่มมีเยอะในประเทศในช่วง 4-5 ปีนี้ แต่อาจจะยังไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก ถ้าแบรนด์ดังๆ ในประเทศไทยก็มี Fundamental, Carnival และ Isra BORO แต่ CONCUR ไม่ใช่แบรนด์ธุรกิจจ๋า เป็นธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise (SE)

“ถ้า Social Enterprise เกี่ยวกับเสื้อผ้า แบรนด์ CONCUR ก็อยู่ในอันดับแรกๆ แต่ถ้าเชิงสวยงามและการดีไซน์แบบสุดยอดยังไม่ถึงระดับนั้น”

ฮุสนีย์ กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายที่จะเป็นหนึ่งใน SE ในระดับโลก มีแบรนด์ TOM เป็นโมเดล TOM ขายรองเท้าได้ 1 คู่ ก็จะบริจาคให้ชาวแอฟริกา 1 คู่ เราก็มามองว่าเราจะช่วยปัญหาในพื้นที่อย่างไร

“TOM ขายรองเท้า 1 คู่แล้วบริจาค 1 คู่ได้ ทำไม CONCUR จะทำไม่ได้”

ฮุสนีย์ กล่าวว่า ถ้า CONCUR ขายได้ตัวหนึ่งก็จะหัก 30% จากกำไรสุทธิไปบริจาคช่วยเหลือชาวบ้าน คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง คนยากจน คนพิการ จะซื้อข้าวสารให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายๆไป

ฮุสนีย์ บอกว่า ล่าสุดลงไปช่วยผู้ป่วยติดเตียงจากอุบัติเหตุตกรถเครนมา 7 ปี หลังจากปันผลกำไรแต่ละเดือนแล้วก็จะลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน ตอนนี้ลงไปแล้ว 25 หมู่บ้านจากเป้าหมาย 100 หมู่บ้านในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส

 

ถ้า CONCUR ขายได้ตัวหนึ่งก็จะหัก 30% จากกำไรสุทธิไปบริจาคช่วยเหลือชาวบ้าน คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง คนยากจน คนพิการ จะซื้อข้าวสารให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายๆไป


อีก 7 ปี ตลาดต้องการสูงถึง 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

ฮุสนีย์ เล่าว่าในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเขาที่ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ Upcycling จากข้อมูลของ Money Bank ที่สำรวจความต้องการเสื้อผ้า Upcycling พบว่า ในปี 2575 หรืออีก 7 ปีข้างหน้าจะเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมมาก มีมูลค่าสูงถึง 16 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเกิดงานลักษณะนี้อีกมาก

ฮุสนีย์ บอกว่า สถิตินี้บอกว่าเกิด Demand (ความต้องการ) สูงมาก เราจึงกลับมามองที่จังหวัดยะลาซึ่งมีตลาดนัดมะพร้าวที่เปิดขายเสื่อผ้ามือสองมาเกือบ 70 ปีแล้ว เสื้อผ้าไม่เคยขาดตลาด เชื่อว่าในอนาคตอีก 70 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้ที่จะไม่ขาดตลาดเช่นกัน

“ในเมื่อทรัพยากรหรือวัตถุดิบหลักของเรามีอย่างยั่งยืนอยู่แล้ว ก็จะทำให้ธุรกิจของเรายั่งยืนตามไปด้วย เสื้อผ้าราคา 5 บาท 10 บาท เรานำมาต่อยอดให้มีราคาหลักพันก็ยังได้ ขอให้เป็นโอกาสของคนยะลา ปัตตานีและนราธิวาสได้ทำเรื่องนี้ได้ซึ่งผมจะช่วยผลักดัน”


รักษ์โลกและช่วยเหลือคน

 

ฮุสนีย์ บอกว่า การผลิตเสื้อตัวหนึ่งต้องใช้น้ำ 2,700 ลิตรเพื่อทำให้เกิดฝ้าย ในขั้นตอนการผลิตก็มีการใช้สารเคมีต่างๆ ถ้าเราปล่อยไว้มันก็จะวนอยู่อย่างนั้น น้ำเสียก็ปล่อยทิ้งไว้ตรงนั้น

“แทนที่เราจะไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ เรากลับมามองของที่มีอยู่จะดีไหม กลับมาทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น ลดโลกร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนได้ พัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งมีครบในความเป็น CONCUR”

ฮุสนีย์ บอกว่า ใครจะมาเรียนรู้ก็มาได้ หรืออยากสร้างแบรนด์ของตัวเองก็ได้ เพราะแค่ขยะในตลาดนัดรูสะมิแลแห่งเดียวก็เยอะแล้ว ถ้าสร้างคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันเหมือนเขาได้อีก 5 คน 10 คน เดือนหนึ่งก็จะจัดการขยะได้อีกเยอะ เดือนหนึ่งตนใช้เสื้อผ้าเก่า 10-15 กิโลกรัมในการเย็บเสื้อใหม่ได้ 50 ตัว

ฮุสนีย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรมาแล้วหลายครั้ง และพยายามดึงนักศึกษาเข้ามาหาประสบการณ์การดีไซน์ โดยมีแผนจะร่วมมือกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ให้นักศึกษามาเก็บชั่วโมงดีไซน์งานได้

 

ผู้ที่สนใจเข้าไปชมผลงานได้ที่ Instagram: concur.patchwork

 

 

CONCUR. Patchwork แบรนด์เสื้อปะของคนรุ่นใหม่แดนใต้ ไปไกลระดับโลก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน
CONCUR. Patchwork แบรนด์เสื้อปะของคนรุ่นใหม่แดนใต้ ไปไกลระดับโลก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน
CONCUR. Patchwork แบรนด์เสื้อปะของคนรุ่นใหม่แดนใต้ ไปไกลระดับโลก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน
CONCUR. Patchwork แบรนด์เสื้อปะของคนรุ่นใหม่แดนใต้ ไปไกลระดับโลก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน
CONCUR. Patchwork แบรนด์เสื้อปะของคนรุ่นใหม่แดนใต้ ไปไกลระดับโลก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน