เป็นเด็กสายช่างใช่ว่าต้องใส่เสื้อช็อปแล้วตีกันเหมือนที่เขาว่าเสมอไป เพราะในบางครั้งพวกเขาเองต่างหากที่มองตาแล้วเข้าใจกันและกันและช่วยเหลือกันได้ดีที่สุด เหมือนในเรื่องที่เราจะพาไปทำความรู้จัก Safe Zone เว็บแอปพลิเคชัน ผลงาน นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคพังงา ซึ่งหยิบยกเอาปัญหาเพื่อนๆ ที่ผู้ใหญ่อาจไม่ทันมองเห็นมาเป็นโจทย์ในการสร้างพื้นที่เยียวยาหัวใจให้แก่กัน
ทำไมต้อง Safe Zone
ผลพวงจากการระบาดของโควิด - 19 ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพหรือเศรษฐกิจของผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่นักศึกษาสายปฏิบัติอย่างเด็กอาชีวศึกษาก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ด้วยข้อสังเกตนี้ทำให้ เอเป็ค- นาถวัฒน์ ลิ้มสกุล นักศึกษาแผนกพาณิชยกรรมและบริการฐานวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการท่องเที่ยว วิทยาลัยเทคนิคพังงา ลองทำแบบสอบถามกับเพื่อนนักศึกษา ทำให้ค้นพบว่า แท้จริงแล้วความเครียดของคนวัยเขาไม่ได้เกิดจากการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิดเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายส่งผลให้มีคนในวัยนี้จำนวนไม่น้อยเผชิญปัญหาความเครียดสะสมได้เช่นกัน
“เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น เยาวชนเองก็มีการแข่งขันกันมากขึ้น เช่น เพื่อให้มีงานดี ๆ ทำ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้บางคนเกิดความกดดันและความเครียด ยังไม่นับรวมปัญหาเศรษฐกิจที่แย่ลงในช่วงการระบาดของโควิด เด็กหลาย ๆ บ้าน ไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่เพียบพร้อมมากนัก เมื่อบ้านเขามีเงินน้อยลงก็เริ่มเครียด เหล่านี้คือสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เราอยากมีพื้นที่สำหรับแก้ปัญหาตรงนี้ให้กับเพื่อนเยาวชนครับ”
เอเป็ค เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขากับเพื่อนๆ อยากพัฒนาแอปพลิเคชั่น Safe Zone ขึ้น เพื่อดูแลสภาพจิตใจของกันและกันด้วยหลักที่ถูกต้อง โดยร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ นัส - นัฐศิกานต์ เพ็งจันทร์ และ ส้ม - พิยะดา นิลบุศย์ ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมนี้ จากนั้นจึงได้ไปปรึกษากับนักจิตวิทยา ครั้งแรกได้รับคำแนะนำเบื้องต้นมาว่า ควรกลับไปเริ่มต้นที่การสอบถามกับกลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขาต้องการอะไร จะได้ออกแบบเครื่องมือสำหรับแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างตรงจุดที่สุด
“เราเลยลงไปสัมภาษณ์เพื่อนๆ นักศึกษาในวิทยาลัย รวมถึงเด็กทุนที่อาศัยอยู่ในหอพักของวิทยาลัย กลุ่มที่ฐานะทางบ้านขาดแคลนทุนทรัพย์ ผมเองก็เรียนด้วยการขอทุนเหมือนกันจึงพอจะเข้าใจว่าความเครียดมันเป็นยังไง เราไปสัมภาษณ์เขาว่าเวลามีความเครียดเค้าจัดการยังไง ใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เมื่อได้ข้อมูลก็เอาเครื่องมือเหล่านั้นมาสรุปแล้วออกแบบเป็นฟังก์ชั่นต่างๆ ในแอป Safe Zone เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากที่สุดครับ”
Safe Zone คือ ‘พื้นที่ผ่อนคลายความเครียด’
เอเป็ค เล่าว่า สิ่งที่เขาออกแบบและเผยแพร่จะเป็นเนื้อหาเชิงบวกเท่านั้น ต้องไม่มีอะไรที่เป็นลบ ไม่มีความเหงา หรือความเศร้าปน และจะให้ความสำคัญมากกับการใช้สีตามหลักจิตวิทยา เพราะอยากให้คนที่มีความเครียด เมื่อเข้ามาจะมีความรู้สึกผ่อนคลายได้ทันที โทนสีทั้งหมดที่ใช้ทั้งหมดมีงานวิจัยอ้างอิงว่าสามารถผ่อนคลายความเครียดได้จริง
นอกจากนี้ การทำงานของ Safe Zone จะสร้างพื้นที่กิจกรรมเชิงบวกขึ้น จากข้อมูลที่สำรวจพบว่า หลายคนมีภาวะเครียดจากการที่ไม่มีกิจกรรมทำในแต่ละวัน เมื่อเห็นปัญหาก็จะใส่กิจกรรมสร้างสรรค์มาเป็นเครื่องมือสร้างกิจกรรม เพื่อให้คนที่กำลังประสบปัญหาไม่นึกวนเวียนกับสิ่งที่ทำให้เขาเครียด เช่น กิจกรรมให้เพื่อน ๆ ถ่ายรูปท้องฟ้ามาอวดกัน เพราะที่วิทยาเลยเทคนิคพังงาจะมีอยู่มุมหนึ่งที่ท้องฟ้าสวยมาก ตอนเย็น ๆ ทุกคนก็ชอบออกมาดูท้องฟ้า แอดมินจะสร้างหัวข้อให้ทุกคนถ่ายรูปท้องฟ้ามาโชว์ตามไอเดียของแต่ละคน ทำให้เกิดความระตือรือร้น มีส่วนร่วมสนุก และมีความสุขที่ได้ทำอะไรร่วมกัน ขณะที่ผลลัพธ์ ทางทีมบอกว่ามีการสุ่มติดตามเก็บข้อมูลด้วย เช่น น้องคนหนึ่งที่มีภาวะซึมเศร้า เมื่อสอบถามว่ารู้สึกดีขึ้นไหมระหว่างก่อนใช้กับหลังใช้ Safe Zone ได้คำตอบว่าน้องรู้สึกดีขึ้น
“มันไม่ถึงขั้นที่เราจะเข้าไปแก้ปัญหาของเขาได้หมด เพราะเราไม่ใช่จิตแพทย์ที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนของความเครียด แต่เราแค่สร้างเครื่องมือขึ้นมาอีกเครื่องมือหนึ่ง เพื่อไปผ่อนคลายทำให้เขารู้สึกดีขึ้น”
สำหรับในเชิงเทคนิค เอเป็ค บอกว่า พวกเขาเรียนอยู่ในแผนกพาณิชยกรรมฯ ไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี IT หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการทำเว็บไซต์และแอปเลย แต่เมื่อตัดสินใจกันว่าจะทำก็ไปเสาะหาความรู้เพิ่มเติมกันด้วยตัวเองในทุกมิติ ยอมรับว่ายากในตอนแรก แต่สุดท้ายก็สำเร็จออกมาและมีการใช้งานจริง จากเดิมที่เคยใช้กันในสถาบันตอนนี้เปิดให้ใช้งานได้เป็นการทั่วไปแล้ว
Safe Zone ผลงานของนักศึกษากลุ่มนี้ เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวดรางวัล Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปี 2564 และได้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมนำเสนอในการประชุมวิชาการนานาชาติ โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ปี 2565 โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนั้น 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, บังคลาเทศ, ญี่ปุ่น, อินเดีย, และ จีน โดยผลงาน Safe Zone ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผลงานตัวอย่างที่นำเสนอบนเวทีในระหว่างพิธีเปิดการประชุมครั้งนั้นด้วย