Skip to main content

‘ไทรน้อยโมเดล’ ภารกิจช่วยเหลือเด็กของชุมชนในวิกฤตทางการศึกษา ให้ได้เรียนต่อ

12 กรกฎาคม 2567

 

เมื่อ ‘ความยากจนเฉียบพลัน’ เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่ง อีกหนึ่งผลกระทบที่ตามมาคือการศึกษาของลูกๆ เมื่อตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างดี ‘โรงเรียนไทรน้อย’ ที่รีบเข้าไปช่วยเหลือเหล่าบรรดาเด็กๆ ที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะความยากจนเฉียบพลัน โดยเฉพาะช่วงหลังโควิดที่ส่งผลต่อธุรกิจของหลายครอบครัว จากที่พอมีฐานะบ้าง กลายเป็นล้มละลาย กระทั่งไม่สามารถส่งลูกให้เรียนต่อได้

เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายสายเกินแก้ เมื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ทางโรงเรียนจึงรีบยื่นมือเข้าช่วยทันที แม้จะต้องรับเด็กจากโรงเรียนอื่นเข้ามาเรียนระหว่างเทอมการศึกษาก็ตาม

“ให้นักเรียนเข้ามาอยู่ในระบบก่อนเลย เดี๋ยวเรื่องอื่นค่อยมาคุยกันว่า”

ครูปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย เล่าถึงบทสนทนาของวันหนึ่งที่มีเสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานของดังขึ้น โดยเสียงปลายสายมาจากหนึ่งในคณะทำงานของ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’ ที่โทรมาบอกเล่าเรื่องราวของ ‘นนท์’ เด็กนักเรียนซึ่งกำลังยืนอยู่กลางทางแยกสำคัญของชีวิต

นนท์ (นามสมมติ) เป็นเด็กเรียนดี มีครอบครัวที่อบอุ่นและฐานะทางบ้านดีพอสมควร เขามีพี่สาวที่กำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนตัวนนท์เอง ก่อนหน้านี้กำลังเรียนหลักสูตรสองภาษาในโรงเรียนเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี และมีผลการเรียนในระดับดีมาก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

แต่หลังวิฤตโควิด-19 โลกทั้งใบเหมือนกลับตาลปัตร สถานการณ์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัว จากที่เคยมีรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน กลับกลายเป็นไม่มีงานจนรายรับไม่พอรายจ่าย หรือที่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะ ‘ยากจนเฉียบพลัน’  ไม่มีกระทั่งเงินสำหรับจ่ายค่าเทอม แม้ว่าทางโรงเรียนจะช่วยเหลือด้วยการลดค่าเทอมให้ก็ยังไม่สามารถหาเงินไปจ่ายได้ ส่งผลให้นนท์ต้องหยุดเรียนตั้งแต่ ม.1 เทอม 2 ยาวต่อเนื่องมาถึงหนึ่งปีการศึกษา

แม้ทางครอบครัวพยายามหาทางออกในหลายทาง จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากนักการเมืองในท้องถิ่นให้ติดต่อมาที่ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤติการศึกษาของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงนำไปสู่กระบวนการกู้วิกฤติให้กับครอบครัวของนนท์

ด้วยความรวดเร็วและการตัดสินใจอย่างเฉียบขาด จึงทำให้ นนท์ มีที่เรียนต่อทันทีที่ โรงเรียนไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โดยไม่ต้องรอปีการศึกษาใหม่ และเมื่อทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทางโรงเรียนจึงได้ตั้งระบบการดูแลช่วยเหลือที่เรียกว่า ‘ไทรน้อยโมเดล’ นอกจากเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของนนท์แล้ว ยังเป็นการเตรียมรองรับหากมีกรณีอื่นที่อาจต้องการความช่วยเหลือกลางคันอีก

การทำงานของ ‘ไทรน้อยโมเดล’ มีการไปเยี่ยมบ้านเพื่อพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองถึงปัญหาต่างๆ การดูแลช่วยเหลือจะเน้นที่การเยียวยาสภาพจิตใจและการปรับตัวเพื่อเข้าสู่โรงเรียนใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ให้เข้าที่เข้าทางก่อนที่จะกลับสู่ห้องเรียนจริงๆ

“เราไม่ได้ส่งให้เด็กเข้าห้องเรียนอย่างเดียว แต่เรามีความคิดที่ว่า เมื่อเด็กอยากเรียนแล้วเขาจะมีพลังบวกในตัวเองอย่างไร ถ้าเกิดเขาเดินก้าวไปๆ แล้วมันมีปัญหาอุปสรรค ถ้ากลายเป็นพลังลบหรือหมดแรง หมดกำลังใจจะทำให้เขาท้อ การคงแรงบวกไว้ในตัวเขาคือสิ่งสำคัญมากในการช่วยเหลือเด็กๆ” ครูปิติ ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย กล่าว

เรื่องราวของ ‘นนท์’ เป็นหนึ่งเรื่องราวของเด็กนักเรียนที่ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา’ สามารถกูวิกฤตในชีวิตของเด็กคนหนึ่งและครอบครัวหนึ่งกลับมาได้ และในอีกมุมหนึ่งยังทำให้เห็นบทบาทของ ‘ไทรน้อยโมเดล’ ที่ ‘โรงเรียน’ คือหัวใจของการศึกษา ท่ามกลางความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนที่มาช่วยกันขยับขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ให้เดินต่อไปในเส้นทางการศึกษาได้ ไม่ต้องละทิ้งความฝันและอนาคตของตัวเองไปกลางคัน

เพราะเด็กและเยาวชน คือทรัพยากรอันมีค่าของท้องถิ่น ชุมชน รวมถึงประเทศไทย ประเทศที่ประชากรได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพจะทำให้มีรากฐานเข้มแข็ง สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วในทุกมิติ

 

‘ไทรน้อยโมเดล’ ภารกิจช่วยเหลือเด็กของชุมชนในวิกฤตทางการศึกษา
‘ไทรน้อยโมเดล’ ภารกิจช่วยเหลือเด็กของชุมชนในวิกฤตทางการศึกษา