Skip to main content

‘โรงเรียนวัดพังยอม’ เปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นที่เรียนรู้อย่างสนุกสนานด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์

12 กรกฎาคม 2567

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 


กระบวนการสร้างห้องเรียนแบบใหม่ที่  ‘โรงเรียนวัดพังยอม’ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถึงแม้เป็นโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัด แต่ด้วยการตัดสินใจเปลี่ยนห้องเรียนทั่วไปให้กลายเป็นการเรียนการสอนแบบ Active Learning หรือ กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก ด้วยการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ โดยมีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็น PLC Coaching หรือทีมช่วยให้คำปรึกษา ทำให้สามารถเปลี่ยนแนวคิดการเรียนการสอนของครู จากที่จำกัดเฉพาะวิชาที่ถนัด ไปสู่การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ จนสามารถสร้างแนวทางใหม่ๆ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน มีความสุขกว่าที่เคย และที่สำคัญ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น

ครูเชาวลี ทองสุข หรือ ‘ครูฟิวส์’ บอกว่า ในการเรียนการสอนปกติ เธอมีหน้าที่รับผิดชอบสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนระดับชั้นประถม 1-6 โรงเรียนวัดพังยอม  และไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับการสอนวิทยาศาสตร์เลย

แต่หลังจากได้แลกเปลี่ยนกับทีมโค้ชหรือที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงในการเปลี่ยนผ่านจากห้องเรียนทั่วไปให้เป็นห้องเรียนแบบ Active Learning ที่ให้ความสำคัญกับหลักการว่า เด็กจะต้องเป็นเจ้าของการเรียนรู้ นำไปสู่มุมมองใหม่ๆ ทำให้พบว่า หัวใจสำคัญของการเรียนรู้คือ ‘การตั้งคำถาม’ ซึ่งกระบวนทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถกระตุ้นสิ่งนี้ให้เด็กๆ ได้

 

Active Learning ต้องคิดอยู่บนพื้นฐานว่า “เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้” มีหัวใจสำคัญ 3 ดวงที่ต้องยึดกุมไว้ให้มั่น หัวใจดวงแรก คือ ต้องรู้ประสบการณ์เดิมของเขาบวกฐานความรู้เดิมคืออะไร หัวใจดวงที่สอง คือ เมื่อได้คิดแล้วต้องลงมือทำ และหัวใจดวงที่สาม คือ การที่เขาได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง โดยสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เดิมได้ ซึ่งครูจะมีบทบาทในการช่วยตั้งคำถามเพื่อพาเขาไปสู่เป้าหมาย

 

ขณะเดียวกันก็ค้นพบว่า ถึงตัวเองไม่ได้สอนวิทยาศาสตร์ ก็สามารถนำกระบวนการวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชั้นเรียนได้เช่นกัน หากมีความเข้าใจหลักการพื้นฐานพอ จากนั้นจึงค่อยบวกความถนัดในความรู้ของตัวเองลงไปให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกันก็จะทำให้เด็กสนุกขึ้น

“อย่างการเรียนรู้ของเด็กๆ ในช่วงหน้าฝน ทั้งโรงเรียนตกลงกันว่าจะเรียนรู้เรื่องน้ำ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กๆ สัมผัสได้ เราจึงจัดให้มีโครงการวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ให้ทำพร้อมกำหนดวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ใช้ เพื่อนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่สำหรับเขาตามเป้าหมายที่เราต้องการ

“ขณะเดียวกันเมื่อเราสอนภาษาอังกฤษ ก็จะมีการตั้งคำถามด้วยภาษาอังกฤษในชั่วโมงการสอนของเรา ให้นักเรียนคุ้นชินกับการตั้งคำถามของครูและกล้าที่จะบอกสิ่งที่เขาคิด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นให้เราและเพื่อนๆ ฟัง” ครูฟิวส์เล่า

ครูฟิวส์บอกว่า แม้จะเปลี่ยนมาสอนมาเป็นรูปแบบนี้ ก็ไม่กังวลกับตัวชี้วัดในการสอนตามหลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเอาเรื่องที่จะสอนมาเป็นตัวตั้งก่อน แล้วถ้าต้องนำไปเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดใด ก็สามารถเอาสิ่งที่ได้มาใส่ทีหลัง เพราะกระบวนการสอนวิทยาศาสตร์แบบ Active Learning มีครบในนั้นอยู่แล้ว

ครูฟิวส์ ยังได้ถ่ายทอดเคล็ดลับของกระบวนการ Active Learning ว่า ต้องคิดอยู่บนพื้นฐานว่า “เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้” มีหัวใจสำคัญ 3 ดวงที่ต้องยึดกุมไว้ให้มั่น หัวใจดวงแรก คือ ต้องรู้ประสบการณ์เดิมของเขาบวกฐานความรู้เดิมคืออะไร หัวใจดวงที่สอง คือ เมื่อได้คิดแล้วต้องลงมือทำ และหัวใจดวงที่สาม คือ การที่เขาได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง โดยสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้เดิมได้ ซึ่งครูจะมีบทบาทในการช่วยตั้งคำถามเพื่อพาเขาไปสู่เป้าหมาย

"คำถามมีความสำคัญมาก จะต้องพาเด็กไปพบความรู้ใหม่จากคำถามได้ แต่คำว่าค้นพบความรู้ใหม่ ไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนกับที่เราวางไว้แต่แรก เพียงแค่เป็นไปในทางเดียวกัน สอดคล้องกัน ความหมายเหมือนกันก็คือเขาพบองค์ความรู้ใหม่แล้ว”

ครูฟิวส์ ให้หลักคิดเพิ่มเติมว่า เมื่อตั้งโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ไปให้เขาก็ต้องเปิดกว้างด้วย อย่างให้โจทย์เรื่องน้ำ แต่สิ่งที่เขาสนใจหาคำตอบไม่เหมือนกัน อย่างตอนที่สอน ชั้น ป.3 มีเด็ก 18 คน เขาก็จะมีโจทย์ของตัวเองต่างกันไป 18 เรื่อง เมื่อได้โจทย์ก็จะให้ตั้งวัตถุประสงค์ว่าต้องการหาคำตอบนี้เพื่ออะไร จากนั้นก็จะพาเด็กๆ ไปสู่การหาคำตอบโดยเริ่มต้นจากการรวมข้อมูลความรู้และความคิดที่มีต่อเรื่องนั้นๆ

 

“อย่างการเรียนรู้ของเด็กๆ ในช่วงหน้าฝน ทั้งโรงเรียนตกลงกันว่าจะเรียนรู้เรื่องน้ำ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็กๆ สัมผัสได้ เราจึงจัดให้มีโครงการวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ให้ทำพร้อมกำหนดวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ใช้ เพื่อนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่สำหรับเขาตามเป้าหมายที่เราต้องการ"

 

“บางคนบอกว่าที่มาความรู้มาจากกูเกิ้ล เราก็จะถามขยายต่อไปว่ากูเกิ้ลเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้ได้คำตอบหรือไม่ อย่างโจทย์เรื่องการรู้สภาพอากาศในแต่ละวัน คำตอบก็จะออกมาเรื่อยๆ บางคนบอกว่าข้อมูลเขามาจากประกาศเสียงตามสาย ซึ่งครูยังไม่รู้เลยว่า อบต.พูดเรื่องนี้ในแต่ละวันด้วย แต่นี่คือคำตอบจากพื้นที่ของเขา”

ครูฟิวส์บอกว่า หลังจากนั้น ก็จะพาเด็กไปสู่การตั้งสมมติฐาน หากบางคนรวบรวมข้อมูลแล้วไปเจอข้อสังเกตใหม่ก็อาจเปลี่ยนสมมติฐานได้ ซึ่งไม่เป็นไรเพราะขั้นตอนต่อไปจะไปสู่การออกแบบการทดลองและการทดลองจริง โดยจะต้องมีการบันทึกและอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองกัน สิ่งสุดท้ายที่ต้องออกมา คือ สรุปผลการทดลองและองค์ความรู้ใหม่ที่ค้นพบได้

“สิ่งสำคัญเวลาเราช่วยคือ คำถามต้องไม่ถามชี้นำ เป็นคำถามปลายเปิด หรือเป็นคำถามที่ย้อนจากคำตอบนักเรียน เพื่อต่อยอดจากสิ่งที่นักเรียนคิด ใช้เหตุผลในการตั้งคำถามและเรียนรู้ร่วมกันไปกับนักเรียนไปทีละก้าว บทบาทของครู ต้องจดจ่อกับการฟัง เพื่อสังเกตสิ่งที่นักเรียนต้องการสื่อสาร 
แล้วนำมาตั้งคำถามให้ตรงประเด็นและถูกจังหวะ ให้โอกาสและเวลากับนักเรียนออย่างเพียงพอ ไม่เร่งหาคำตอบ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ ซึ่งเด็กจะมีความสุขมากในห้องเรียนนี้”

เมื่อถามว่า การสร้างห้องเรียนแบบ Active Learning ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ครูฟิวส์ บอกว่ การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มตั้งแต่ผู้บริหาร ต้องสนับสนุนและเห็นตรงกันจึงจะพาครูไปทำได้ โรงเรียนของเราทำเรื่องนี้ทั้งกระบวนการ ครูทุกคนจึงทำได้ แต่ถามว่าจะเปลี่ยนได้เลยไหม ยอมรับว่าไม่ง่าย เพราะครูทุกคนเชื่อว่าการสอนตัวเองดีอยู่แล้ว การเปิดใจเรียนรู้จึงสำคัญพอกัน อย่างเราไม่ใช่ครูวิทยาศาสตร์ พอบอกว่าต้องสอนวิทยาศาสตร์ก็มีคำถามในใจแล้วว่า ทำไมจะต้องเป็นวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าครูฟิวส์เองก็มีคำถามนี้

“แต่เราเลือกทดลองทำ เพราะการลงมือทำไปแล้ว ถึงไม่โอเคสำหรับเราหรือนักเรียนก็แค่กลับมาเหมือนเดิม แต่ผลออกมาปรากฏว่า เด็กสนุก เห็นชัดว่าเขามีทักษะคิดหลายรูปแบบมากขึ้น รู้จักรวมและแยกแยะข้อมูล คิดเป็นลำดับ และดูเหมือนว่าจะคิดได้อย่างซับซ้อนขึ้น ในโรงเรียนก็คุยกัน ทำให้คนอื่นเห็นสิ่งที่เราทำ จากวงเล็กๆ ก็จะกว้างขึ้นเป็นทั้งระบบและกลายเป็นครอบครัวเดียวกันในที่สุด” ครูฟิวส์ กล่าวทิ้งท้าย


 

‘โรงเรียนวัดพังยอม’ เปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นที่เรียนรู้อย่างสนุกสนานด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์
‘โรงเรียนวัดพังยอม’ เปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นที่เรียนรู้อย่างสนุกสนานด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์
‘โรงเรียนวัดพังยอม’ เปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นที่เรียนรู้อย่างสนุกสนานด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์
‘โรงเรียนวัดพังยอม’ เปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นที่เรียนรู้อย่างสนุกสนานด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์
‘โรงเรียนวัดพังยอม’ เปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นที่เรียนรู้อย่างสนุกสนานด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์
เนื้อหาล่าสุด