Skip to main content

'เกลือหวานปัตตานี' สินค้าขึ้นชื่อแต่โบราณ สู่การต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า

12 กรกฎาคม 2567

 

 

 

“รสชาติของเกลือปัตตานีจะมีความเค็มกลมกล่อม ลองอมเม็ดหนึ่ง แล้วก็ดื่มน้ำตามเข้าไป ห้ามเคี้ยว แล้วจะมีความหวานจริงๆ ติดลิ้น" 

รอหานิง กรูแป สมาชิกฝ่ายผลิตของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาเกลือบานา อ.เมือง จ.ปัตตานี บอกว่า จริงๆ แล้ว เกลือปัตตานีไม่ได้หวานเหมือนน้ำตาล แต่จะมีความเค็มไม่จัด ไม่เค็มขม เพราะใช้น้ำจากอ่าวปัตตานีที่มีส่วนผสมของน้ำกร่อยมาทำนาเกลือ เป็นที่มาของคำว่า เกลือหวานปัตตานี

“เกลือหวานปัตตานีมีชื่อเสียงมานานแล้ว แต่ของมีน้อยและมีเป็นช่วงๆ เท่านั้น หน้าฝนก็ทำไม่ได้ ทำให้ขาดตอน รสชาติของเกลือปัตตานีเหมาะสำหรับปรุงอาหาร เวลาปรุงอาหารทำให้อาหารไม่ขมแบบโด่งๆ คือรสชาติกลมกล่อมอร่อย แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม เพราะค่าความเค็มมีน้อย”  รอหานิง บอก

ลูกค้าส่วนมากจะเป็นโรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งทางวิสาหกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือปัตตานีเป็น 6 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน เกลือสะตุ เกลือสปาขัดผิว เกลือพริกไทยดำบานา เกลือขมิ้นบานา และเกลือหอมสปาเท้า

รอหานิงบอกว่า เกลือปัตตานี ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากของคนมาเลเซียอีกด้วย แต่ทุกวันนี้พื้นที่ทำนาเกลือเหลือน้อยมาก เพราะถูกเปลี่ยนเป็นนากุ้ง เมื่อนากุ้งล่ม เจ้าของก็ปล่อยทิ้งร้าง ส่วนชาวบ้านก็ไม่มีกำลังพอที่จะปรับที่กลับมาเป็นนาเกลือเหมือนเดิม ด้วยความหายากนี้ ทางจังหวัดจึงจะมีการเสนอให้เกลือหวานปัตตานีเป็นมรดกโลกด้วย

 

 

 


 

เนื้อหาล่าสุด