Skip to main content

104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน

9 กรกฎาคม 2567

มูฮำหมัด ดือราแม

 

เปิดมิติใหม่สลายความรุนแรงด้วยพลังความรู้สร้างอาชีพ โชว์ 104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ ชู 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้ และ 1 โมเดลธุรกิจมูลค่าสูง

เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาจัดสัมมนา “พหุภาคีในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่างและสามจังหวัดชายแดนใต้” ยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก โชว์ 104 โมเดลแก้จน 6 หน่วยงานร่วมลงนาม MOU ขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ (DSS) พัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคม เปิดมิติใหม่สลายความรุนแรงชายแดนใต้ด้วยพลังความรู้สร้างอาชีพ ชู 6 ผลงานเด่นโมเดลพร้อมใช้ และ 1 โมเดลธุรกิจมูลค่าสูงเพื่อแก้จน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องน้ำพราว โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จัดสัมมนา “พหุภาคีในพื้นที่จังหวัดภาคใต้แก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ ภายใต้หัวข้อ “โหม๋ภาคีพร้อมพรั่ง เพิ่มพลังแก้จน ... ปรับปรนผลงาน ความรู้ เทคโนโลยีพร้อมใช้ โยงใยสู่ชุมชนนักปฏิบัติ” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมีแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน

โอกาสนี้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ”เรื่องการขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้“ ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ บพท. ร่วมลงนาม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล และร่วมกันบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ (DSS) พื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคมในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการเปิดมิติใหม่สลายความรุนแรงชายแดนใต้ด้วยพลังความรู้สร้างอาชีพ

สาระสำคัญในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มี 4 ประการ ประกอบด้วย 

  1. เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาระบบและโครงสร้างการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และนำมาพัฒนาเป็นระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ 
  2. เพื่อขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่เบ็ดเสร็จ แม่นยำในการพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ และขจัดความยากจน และยกระดับฐานะทางสังคม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
  3. เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรมขจัดความยากจน และยกระดับฐานะทางสังคมในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ และ 
  4. เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนจนเป้าหมาย ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ และหาแนวทางในการปรับปรุงเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้เอื้อต่อการสร้างหรือเพิ่มรายได้ เพื่อให้คนจนเป้าหมายสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ได้ติดตามการกระบวนการดำเนินงานและผลงานจากโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้ง 6 มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากหน่วย บริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)มาอย่างต่อเนื่อง เห็นบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนการนำองค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ (อววน.) สู่การพัฒนาพื้นที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของงาน นั่นคือ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาหนุนเสริมงานแก้ไขปัญหาความยากจนที่ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังตัวอย่างผลงานกว่า 100 โมเดลแก้จน และเทคโนโลยีพร้อมใช้ทุกสถาบันการศึกษา ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้

ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ในงานนี้มีการนำโมเดลแก้จน และนวัตกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีพร้อมใช้ ที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมาแล้ว รวม 8 ด้าน จากคณะนักวิจัย 6 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มาจัดแสดง ประกอบด้วย

1) โมเดลแก้จนด้านสังคมและคุณภาพชีวิต
2) นวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีชีวมวล 
3) เทคโนโลยี การเกษตรและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรประเภทผัก ผลไม้  
4) นวัตกรรมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ  
5) เทคโนโลยีปศุสัตว์และอาหารสัตว์ 
6) เทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ 
7) เทคโนโลยีอาหาร สมุนไพร และการแปรรูป และ 
8) เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารทะเล

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ที่เรื้อรังยาวนานมากว่า 20 ปี ด้วยแนวทางสันติวิธี จากการสร้างรายได้-เสริมความมั่นคงด้านอาชีพ ด้วย 104 นวัตกรรมและเทคโนโลยีพร้อมใช้บนฐานงานวิจัย เพื่อยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการสนับสนุนจากระบบกองทุน อววน. ภายใต้ความร่วมมือกันของภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่


6 ผลงานเด่นโมเดลพร้อมใช้

โดยในเวทีมีการนำเสนอ 6 ผลงานเด่นโมเดลพร้อมใช้ของ 6 สถาบันการศึกษา และชุมชนนักปฏิบัติ และ 1 โมเดลธุรกิจมูลค่าสูงเพื่อแก้จน  ได้แก่  

-    ผลงานกระจูดแก้จนและขยายผล Soft Power มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง 
-    ยกมูลค่าประมงต้นทาง สู่อาหารฮาลาลพรีเมียม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
-    การยกระดับผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรง เสม็ดขาว  มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
-    เสบียงเมืองโมเดล กระบวนการแก้จนไร้รอยต่อ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
-    กาแฟฟาฏอนี Fatoni Roastery มหาวิทยาลัยฟาฏอนี
-    กระบวนการทางสังคมเพื่อการรับ ปรับ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 
-    การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตด้วยโมเดลธุรกิจมูลค่าสูงเพื่อแก้จนโครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วม (Cluster) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก บพท.


ติดตามผลงานโครงการได้ที่เพจ ศูนย์สื่อสารวิจัยภาคใต้  
รายงาน “สถานการณ์ความยากจนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2565 -2567” 


 

104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน
104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน
104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน
104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน
104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน
104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน
104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน
104 โมเดลแก้จนชายแดนใต้ 6 ผลงานเด่นพร้อมใช้งาน