Skip to main content

โรงเรียนบ้านนาเส ออกแบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ด้วยห้องเรียน Active Learning

7 กรกฎาคม 2567

 

จากความรู้สึกที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนหรือการศึกษาของเด็กไทย ด้วยความคิดที่ว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่ทำไมการเรียนการสอนของเด็กในยุคนี้แทบไม่ต่างกันเลยกับ 20–30 ก่อน ทำให้ ครูบิ้ว – พิมพ์พลอย กิติโชติ ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนบ้านนาเส สนใจที่จะนำกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning มาปรับใช้ จนสามารถเปลี่ยนห้องเรียน ‘ภาษาอังกฤษ’ ที่เคยเป็นเหมือนยาขมของเด็กๆ ให้กลายเป็นห้องเรียนอันแสนตื่นเต้น จนเด็กๆ ถามแทบทุกครั้งว่า “วันนี้ครูจะให้ทำอะไร” ด้วยความกระตือรือล้นอยู่เสมอ  

“นี่คือเสียงตอบรับการสอนของเราค่ะ”  ครูบิ้ว บอก  

โรงเรียนบ้านนาเส อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโรงเรียนชนบทขนาดไม่ใหญ่นัก เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กว่าร้อยละ 90 ของครอบครัวเด็กนักเรียนมีรายได้ไม่มาก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรทำสวนยางหรือรับจ้างกรีดยาง มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ประกอบอาชีพพ่อค้าแม่ค้าและเป็นข้าราชการ

ด้วยบริบทอันเรียบง่าย ทำให้มุมมองความคิดของผู้ปกครองและเด็กนักเรียนส่วนหนึ่ง ไม่มีความกระตือรือร้นต่อการเรียนรู้ ขณะที่รูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนก็ยังคงเป็นรูปแบบเดิมๆ ไม่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดความกระหายการเรียนรู้ได้เท่าที่ควร ทำให้เหล่าคุณครูโรงเรียนบ้านนาเส ค่อนข้างกังวลต่อผลลัพธ์ทางการศึกษา โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษจะมีความสำคัญต่อโอกาสใหม่ ๆ ในวันข้างหน้า เพราะวิชานี้เหมือนเป็นประตูบานแรกที่จะพาเด็ก ๆ เปิดออกไปสู่โลกกว้างได้

เพื่อมองหาที่ปรึกษาทางความคิดและการออกแบบการเรียนการสอนใหม่ ๆ ให้เกิดศักยภาพสูงสุดต่อนักเรียน ทางผู้บริหารโรงเรียนบ้านนาเสและคุณครูส่วนหนึ่ง จึงตัดสินใจได้เข้าร่วมโครงการ ‘ครูเพื่อศิษย์’ และใช้กระบวนการ  PLC Coaching ร่วมกับทาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อปรับเปลี่ยนจากห้องเรียนรูปแบบเดิมให้เป็น ห้องเรียนแบบ Active Learning ที่มีหลักการสำคัญคือเด็กต้องเป็นเจ้าของการเรียนรู้

ครูบิ้ว บอกว่า PLC (Professional Learning Community) ก็คือ ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เป็นกระบวนการการตัดสินใจร่วมกันของคนทั้งโรงเรียนผ่านการพูดคุยปรึกษาหารือ เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่ยึดติดกับกรอบการเรียนรู้แบบเดิมที่ออกแบบมาจากส่วนกลาง เพื่อทลายข้อจำกัดและมองหาจุดอ่อนและจุดแข็งในการเรียนการสอนที่มีเด็ก ๆ เป็นศูนย์กลางและสอดคล้องไปกับบริบทพื้นที่

ในการพูดคุยแลกจะเป็นการเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ของแต่ละคน ไม่มีผิดหรือถูก โดยทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาช่วยเป็นที่ปรึกษา  ด้วยการแนะนำให้ใช้หลักคิดแบบวิทยาศาสตร์มาปรับใช้ในรูปแบบ  Active Learning

ช่วงแรกๆ พบปัญหาและมีความกังวลอยู่บ้างว่า สิ่งที่ทำมาถูกทางหรือไม่ แต่การมี Coaching จากมหาวิทยาลัยที่มาช่วยดูช่วยแนะนำ เมื่อได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้นก็ทำให้ผ่านพ้นปัญหาตรงจุดเริ่มต้นมาได้

“ตอนแรกคือ ไม่เข้าใจว่ากระบวนการวิทยาศาสตร์ จะมาใช้กับวิชาภาษาอังกฤษได้อย่างไร แต่เมื่อได้ไปอบรมก็เข้าใจว่ากระบวนการวิทยาศาสตร์ พื้นฐานก็คือ การสังเกตและการคิดวิเคราะห์ ที่นักเรียนสามารถรวบรวมข้อมูลได้ด้วยตัวเอง เมื่อเราจับจุดได้ก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปออกแบบกับการสอนภาษาอังกฤษ อย่างเช่นถ้าจะสอนเด็ก ป.2 เรื่อง this กับ that ใช้อย่างไร เราไม่ต้องบอกว่า this ใช้กับของอยู่ใกล้ that ใช้กับของอยู่ไกล เราปรับเป็นไม่บอกก่อน เราวาดรูปให้เขาเห็น แล้วให้เขาสังเกตจากรูปวาดที่เราวาดให้ดู ให้นักเรียนในชั้นได้มีส่วนร่วมค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง”

ครูบิ้ว บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมมุติฐาน การคิด วิเคราะห์ จะเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับทั้งคุณครูและเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน โดยจะยังไม่ตัดสินว่าความคิดเหล่านั้นผิดหรือถูก แต่จะค่อยมาสรุปบทเรียนกันในช่วงท้ายคาบว่า สรุปแล้วจากที่แลกเปลี่ยนกันของใครน่าจะใช่ที่สุด เขาก็คิดกันและได้ข้อสรุปด้วยตัวเองว่า this กับ that ใช้อย่างไร โดยที่ครูไม่ต้องเริ่มจากการอธิบายก่อน

ครูภาษาอังกฤษโรงเรียนบ้านนาเส เล่าอีกว่า การเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าเพื่อนและคุณครูรับฟังความคิดเห็นของเขา สามารถลดอคติความกลัวที่มีต่อภาษาอังกฤษลงได้ เมื่อสิ่งนี้หายไป ทักษะการพูด การเขียน วิชาภาษาอังกฤษก็จะดีขึ้นเองตามลำดับ

“เราเห็นชัดนะว่าเด็ก ๆ มั่นใจในตัวเองมากขึ้น การสอนแบบ Active Learning ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าความรู้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแบก ต้องจด ต้องจำ และไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นเรื่องเครียด แต่เขาทำได้ด้วยตัวเขาเอง ค้นพบความรู้ด้วยตัวเอง และสุดท้ายคือเด็ก ๆ ภูมิใจที่เขาทำออกมาได้ด้วยตัวเอง หลายคนเลยมาสะท้อนให้เราฟังว่า วันนี้สนุก วันนี้รู้สึกว่าได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่ม สนุกที่ได้ข้อมูลใหม่ ๆ จากเพื่อน เขารู้สึกตื่นเต้นว่าวันนี้ครูจะให้ทำอะไร นี่คือเสียงตอบรับของเขา”

ครูบิ้ว สรุปทิ้งท้ายว่า ทั้งการเรียนการสอนแบบ Active Learning หรือการ PLC คือจุดเปลี่ยน เป็นกระบวนการที่ช่วยกันคิดเพื่อปรับแก้ในระบบของโรงเรียน หรือก็คือการพัฒนาทั้งคุณภาพของระบบบริหารจัดการ และผลลัพธ์ที่จะเกิดเป็นการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงขึ้นในชั้นเรียน เพราะการค้นพบใหม่ ๆ ของเราหรือของเพื่อนครู สุดท้ายก็จะถูกถ่ายทอดระหว่างกันในการ PLC แล้วลงไปสู่นักเรียนเพื่อให้พัฒนาเกิดสมรรถนะใหม่ทางการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องติดอาวุธให้เขา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเล็กหรือไกลแค่ไหนก็ตาม

 

โรงเรียนบ้านนาเส ออกแบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ด้วยห้องเรียน Active Learning
โรงเรียนบ้านนาเส ออกแบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ด้วยห้องเรียน Active Learning
โรงเรียนบ้านนาเส ออกแบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ด้วยห้องเรียน Active Learning
โรงเรียนบ้านนาเส ออกแบบการเรียนรู้ภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ด้วยห้องเรียน Active Learning