Skip to main content

‘เกาะเต่า’ แหล่งผลิตนักเรียนดำน้ำอันดับต้นของโลก

5 กรกฎาคม 2567

 

‘เกาะเต่า’ จุดเช็คอินดำน้ำระดับโลกที่นักท่องเที่ยวนานาชาตินิยมเดินทางมาเยือน ความเป็นมาอย่างไร ไปพูดคุยกับ โกดำ - อร่าม ลิ้มสกุล หนึ่งในบุคคลสำคัญคลุกคลีอยู่ในวงการดำน้ำมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก และยังเป็นคนไทยคนแรกบนเกาะเต่าที่ได้เป็นครูสอนดำน้ำในระดับ ‘มาสเตอร์’ อีกด้วย

“ปี 2538 ผมเริ่มเรียนดำน้ำที่บุดด้า วิว ไดฟ์ ตอนนั้นยังเป็นโฉลกบ้านเก่า Diving เป็นยุคแรก ๆ ของการดำน้ำเกาะเต่า ก่อนหน้านั้นผู้ประกอบการดำน้ำจะอยู่กันที่เกาะสมุย ยังไม่มีสถานประกอบการดำน้ำบนเกาะเต่า”

โกดำเล่าว่า ยุคนั้นเกาะเต่ายังมีแต่บังกะโลไม้มะพร้าว ค่าเช่าคืนละ 50 ถึง 100 บาท ส่วนมากเป็นบังละโลของชาวบ้าน ต่อมา บริษัทดำน้ำ สมุย อินเตอร์เนชั่นแนล ไดฟ์วิ่ง สคูล พาแขกจากเกาะสมุยมาดำน้ำที่เกาะเต่า เขาบอกว่า นั่นคือครั้งแรกที่ได้รู้จักการดำน้ำ จากการที่ประกอบการดำน้ำจากเกาะสมุยพาแขกมาพักค้างคืนแล้วเดินทางกลับในวันถัดไป วันนั้นคือ จุดเริ่มต้นของดำน้ำที่เกาะเต่า

โกดำ เล่าต่อว่า หลังจากนั้นจึงเริ่มมีธุรกิจดำน้ำเกิดขึ้นบนเกาะเต่า เจ้าแรกคือ เกาะเต่าไดฟ์เวอร์ ผ่านไประยะหนึ่งสถานประกอบการดำน้ำก็ทยอยเปิดตัวตามมาอีกหลายแห่งบนเกาะ พร้อมๆ กับชื่อเสียงของเกาะเต่าในฐานะแหล่งดำน้ำระดับโลกเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น

“แต่ครูสอนดำน้ำยังมีแต่ฝรั่ง ไม่มีคนไทยเลย แต่พอเริ่มมีร้านดำน้ำของคนไทย และเริ่มมีคนไทยเข้ามาเป็นทีมงานบริการดูแลนักท่องเที่ยวที่มาเรียนดำน้ำบ้าง ตัวผมเองได้เข้าไปช่วยดูแลแขกให้กับบุดด้า วิว ไดฟ์ ตอนหลังเขาก็ให้เรียนดำน้ำ เรียนมาเรื่อยตั้งแต่ดำน้ำเบื้องต้น มาจนจบในระดับไดฟ์มาสเตอร์ อาศัยว่าก่อนหน้านั้นเคยอยู่เมืองนอกมาก่อน พูดภาษาได้เลยได้เข้ามาในวงการดำน้ำ ตอนนั้นไดฟ์มาสเตอร์คนไทยมีผมคนหนึ่งกับพี่อีกคนที่เป็นญาติกัน”

โกดำ บอกว่า ต้นทุนสำคัญที่ทำให้เกาะเต่ากลายเป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับโลกในเวลาต่อมา คือสภาพภูมิศาสตร์ของเกาะที่มีกองหินปะการังกระจายตัวอยู่รอบ ๆ เกาะหลายจุด เช่น กองหินชุมพร กองหินตุ้งกู และรอบ ๆ เกาะเต่า น้ำใสเหมาะกับการฝึกดำน้ำในขั้นเบื้องต้น เพราะกระแสน้ำไม่รุนแรง ท้องทะเลก็เป็นพื้นทรายลาดเอียงลงไปเรื่อย ๆ ไม่มีหน้าผา

นักท่องเที่ยงจึงพูดกันปากต่อปากว่า ให้มาเรียนดำน้ำที่นี่ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ซึ่งรอบ ๆ เกาะเต่ามีจุดดำน้ำมากกว่า 30 จุด ทำให้สามารถดำน้ำได้เกือบตลอดทั้งปี จุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อมากที่สุดของเกาะเต่าคือ กองหินชุมพร (Chumphon Pinnacle) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ ที่นี่จะอุดมไปด้วยฝูงปลาบาราคูด้า และเป็นจุดที่พบฉลามวาฬได้บ่อยครั้ง

“ด้วยความที่ผมพูดได้ 3 ภาษาเขาเลยหนุนให้เป็นครูฝึก ตอนหลังผมไปเรียนเป็นคอร์ส ไดเร็คเตอร์ จึงสามารถสอนครูได้ด้วย เฉพาะบุดด้า วิว ไดฟ์ บริษัทเดียวตอนนั้น สามารถผลิตนักเรียนดำน้ำได้ปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนนับพันคน ถ้านับในเชิงพื้นที่ เขายกให้เกาะเต่าเป็นแหล่งผลิตนักเรียนดำน้ำที่มากที่สุดในโลก”

โกดำบอกว่า จนถึงตอนนี้มีนักเรียนดำน้ำที่จบหลักสูตรไปจากเกาะเต่าแล้วจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และบอกว่าหากเทียบกับทะเลฝั่งอันดามัน จะมีสีสันที่สดใสกว่า แต่ถ้าพูดถึงความปลอดภัยที่นี่ดีกว่า เพราะกระแสน้ำในอ่าวไทยไม่รุนแรงเหมือนฝั่งอันดามัน น้ำตื้นเว่า ทำให้เรียนดำน้ำได้ง่ายกว่า

โกดำ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจดำน้ำบนเกาะเต่ามีผู้ประกอบการชาวต่างชาติมาลงทุนมากขึ้น ในขณะที่การเรียนดำน้ำเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ธุรกิจดำน้ำสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเป็นวงกว้าง ทั้งอาชีพขับเรือ อาชีพอัดแทงค์อากาศ อาชีพซ่อมอุปกรณ์ดำน้ำ ซึ่งวงการดำน้ำได้สร้างให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย

“ที่สำคัญคือ ธุรกิจดำน้ำมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแยกกันไม่ออก ที่นี่นักดำน้ำจะมีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ กิจกรรมด้านการทำความสะอาดท้องทะเลอยู่อย่างต่อเนื่องร่วมกันทุกเดือน เพราะจุดขายของการดำน้ำคือ ทะเลที่สะอาดและมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์” โกดำ กล่าวทิ้งท้าย


 

‘เกาะเต่า’ แหล่งผลิตนักเรียนดำน้ำอันดับต้นของโลก
‘เกาะเต่า’ แหล่งผลิตนักเรียนดำน้ำอันดับต้นของโลก
‘เกาะเต่า’ แหล่งผลิตนักเรียนดำน้ำอันดับต้นของโลก
‘เกาะเต่า’ แหล่งผลิตนักเรียนดำน้ำอันดับต้นของโลก
‘เกาะเต่า’ แหล่งผลิตนักเรียนดำน้ำอันดับต้นของโลก
‘เกาะเต่า’ แหล่งผลิตนักเรียนดำน้ำอันดับต้นของโลก