Skip to main content

‘เทศบาลดงสิงห์’ ท้องถิ่นสมาร์ทแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยข้อมูล

4 กรกฎาคม 2567

 

ไปรู้จักกับ เทศบาลตำบลดงสิงห์ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่นำเอาโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์รายครัวเรือนมาใช้กับชุมชน ทำให้เกิดเป็น ‘ท้องถิ่นสมาร์ท’ ที่สามารถวางแผนดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างตรงเป้า ตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือกระทั่งการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ต่อให้คนที่บ้านออกไปทำงานเหลือตัวคนเดียวในบ้าน หากมีเหตุฉุกเฉินก็สามารถแจ้งเหตุให้เทศบาลรับรู้และเข้าช่วยเหลือได้ทันที

ทวีสิทธิ์ มนตรีชน นายกเทศบาลตำบลดงห์ กล่าวว่า ตำบลดงสิงห์ มีขนาดไม่ใหญ่ มีอยู่ประมาณ 18 หมู่บ้านเท่านั้น แต่มีลักษณะพิเศษคือเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมแทบทุกปี ดังนั้น ภัยธรรมชาติเป็นปัญหาหลัก อาชีพส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เป็นเกษตรกร ด้วยบริบทแบบนี้จึงมีแนวคิดที่จะนำระบบฐานข้อมูลมาใช้วางแผนการบริหารจัดการในชุมชน เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนภัยพิบัติ รวมถึงสามารถชดเชยเยียวยาได้

ต่อมา เมื่อทราบว่าทางคณะก้าวหน้ามีโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์รายครัวเรือน ทางทีมงานจึงนำระบบ Digital Data Platform มาให้ทดลองพร้อมอบรมวิธีการ ผลปรากฏว่าดีมาก นอกจากเรื่องภัยพิบัติแล้ว กลายเป็นว่าสามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย

“ด้วยระบบฐานข้อมูลทำให้เราทราบข้อมูลของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบางทั้งตำบล จากข้อมูลชุดนี้ เราพัฒนาต่อไปในเรื่องระบบแจ้งเตือนสำหรับกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงและกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีผู้ดูแล โดยติดตั้งอุปกรณ์คล้ายนาฬิกาไว้ที่ข้อมือ สมมติมีเหตุที่ต้องการใช้รถฉุกเฉินของเทศบาลก็สามารถแจ้งเข้ามาและระบุตำแหน่งได้ทันที”

อย่างไรก็ตาม ทวีสิทธิ์ บอกว่า โมเดลนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพราะอุปกรณ์ไม่เพียงพอที่จะติดให้กับทุกคนที่ต้องการได้ เป็นโครงการนำร่องภายใต้งบประมาณที่มี ที่เริ่มจากการติดให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง มีความจำเป็นมากๆ ก่อน

“กลุ่มแรกๆ ที่เราติดอุปกรณ์ให้จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่มีผู้ดูแล เนื่องจากต้องออกไปทำงานหารายได้เข้าครอบครัว ซึ่งเมื่อติดตั้งอุปกรณ์นี้เขาก็อุ่นใจ เครื่องนี้ก็จะสื่อสารกับเทศบาลเพื่อส่งคนมาดูแลในกรณีที่เขาต้องการ รวมถึงนำส่งโรงพยาบาลหากมีเหตุฉุกเฉิน”

ส่วนกรณีภัยพิบัติตามความตั้งใจแรก ทวีสิทธิ์ บอกว่า สามารถใช้ฐานข้อมูลนี้ประเมินระดับน้ำเพื่อแจ้งเตือนน้ำท่วมให้ประชาชนได้ เป็นข้อมูลเรียลไทม์ที่ดูได้ตลอด ซึ่งข้อมูลครัวเรือนที่ได้นี้ ไม่ว่าเรื่องใดๆ เกี่ยวข้องกับหน่วยงานไหนในท้องถิ่นเราก็จะส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานนั้นใช้ประโยชน์

“สาเหตุที่เราสนใจเรื่องการทำฐานข้อมูล เนื่องจากเคยไปดูงานมาหลายแห่ง เช่น เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งทำได้ดีมาก แต่ใช้งบประมาณเยอะ อย่างไรก็ตาม เราดูแล้วบางด้านนำมาประยุกต์ใช้กับเทศบาลตำบลดงสิงห์ได้ เมื่อทราบว่าคณะก้าวหน้ามีเทคโนโลยีตัวนี้จึงประสานไป พอลองใช้แล้วเป็นเรื่องที่ดีมาก แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นโมเดลการทำงานท้องถิ่นของเรา”

หลังมีเครื่องมือแบบนี้ ทวีสิทธิ์ บอกว่า ทำให้การบริหารจัดการหลายด้านง่ายขึ้น ยิ่งกรณีการนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ชุมชนประทับใจมาก แม้แต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานโครงการต่างๆ ที่ลงในพื้นที่ ประชาชนก็สามารถดูได้ว่าเส้นไหนดำเนินการไปแล้วอย่างไร เสร็จหรือไม่ พูดได้ว่าข้อมูลทุกอย่างของชุมชนสามารถเอาไปอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ได้หมด

“ในมุมของเรา การทำงานท้องถิ่นข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเรามีข้อมูล เราก็เอาไปออกแบบงานที่ตรงจุดตรงเป้าได้ รวมถึงคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้ ตอนนี้ตำบลดงสิงห์มีข้อมูลพร้อมแล้ว แผนมีแล้ว แต่งบประมาณยังขาดจริงๆ หากมีงบประมาณพร้อม เชื่อได้ว่า หลายๆ เรื่องที่วางแผนไว้จากฐานข้อมูลจะช่วยขยับให้ท้องถิ่นเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้น หากมีการกระจายอำนาจมากกว่านี้ อย่างท้องถิ่นผม งบมีเมื่อไหร่ ดูแลดีขึ้นกว่านี้แน่นอน เพราะเรามีข้อมูลชัดเจน จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการของพี่น้องประชาชนที่แท้จริง” ทวีสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

‘เทศบาลดงสิงห์’ ท้องถิ่นสมาร์ทแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยข้อมูล
‘เทศบาลดงสิงห์’ ท้องถิ่นสมาร์ทแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยข้อมูล
‘เทศบาลดงสิงห์’ ท้องถิ่นสมาร์ทแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยข้อมูล
‘เทศบาลดงสิงห์’ ท้องถิ่นสมาร์ทแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยข้อมูล
‘เทศบาลดงสิงห์’ ท้องถิ่นสมาร์ทแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยข้อมูล
‘เทศบาลดงสิงห์’ ท้องถิ่นสมาร์ทแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยข้อมูล