รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด
จากความชอบในรสสัมผัสของแยมโฮมเมดฝีมือคุณย่า กลายเป็นแรงบันดาลใจให้หลานสาวสร้างแบรนด์แยมผลไม้ ใช้ผลไม้ท้องถิ่นที่มีเฉพาะในเชียงรายเท่านั้น พร้อมกับการสร้างรายได้ให้ชุมชน
เริ่มจากความรักในรสชาติแยมของคุณย่า
“ตอนเด็กๆ เราเป็นคนชอบกินขนมปังกับแยมมาก แยมที่อร่อยที่สุดสำหรับเรา คือ แยมสตรอเบอรี่โฮมเมดที่คุณย่าทำเอง รสชาติกับเนื้อสัมมผัส จะไม่เหมือนแยมที่ขายในท้องตลาด คุณย่าเล่าว่าสูตรนี้ได้มาจากมิชชันนารีชาวอังกฤษที่เข้ามาสอนศาสนา แยมของย่าจะมีสตรอเบอรี่เป็นชิ้นๆ เหมือนเรากินผลไม้จริงๆ คู่กับขนมปัง”
ต่อม- มณีรัฐ เขมะวงค์ ผู้ก่อตั้ง ‘แยมบ้านไม้หอม’ เล่าย้อนถึงความประทับใจที่มีต่อแยมฝีมือคุณย่า ซึ่งกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอลองทำแยมผลไม้ขึ้นมา ในช่วงแรกของการลองผิดลองถูก ต่อมเริ่มจากลองใช้สูตรของคุณย่ามาทำชิมเองในครอบครัว จากนั้นก็ลองทำเสิร์ฟให้ลูกค้าในเกสต์เฮาส์ของครอบครัว ลองทานเป็นอาหารเช้า ซึ่งก็ได้ผลตอบรับดีเช่นกัน
“พอเราเอามาให้ลูกค้าที่มาพักทานกับขนมปังตอนเช้า เขาก็ถามว่ามีขายแบบกระปุกไหม อยากซื้อกลับไปเป็นของฝากให้คนที่บ้าน เพราะรสชาติดี ผลไม้ในแยมสดมากๆ ไม่เคยกินแบบนี้ที่ไหนมาก่อน ก็เลยมองเห็นช่องทางว่าเราน่าจะทำแยมขายจริงจัง”
หลังจากตั้งใจว่าจะทำแยมจริงจัง สิ่งที่ตามมาคือการหาจุดเด่นให้กับสินค้า ต่อมบอกว่า ถ้าไปแข่งกับแยมในตลาดใหญ่ไม่มีทางสู้ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องราคาและต้นทุนการผลิต ดังนั้น จุดเด่นที่เลือกเอามาใช้ คือ การชูความเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่หาทานได้เฉพาะในพื้นที่เชียงรายเท่านั้น ตัวอย่างเช่น แยมสับปะรด ก็ใช้สับปะรดสายพันธุ์ภูแล ซึ่งเป็นสิ้นค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดเชียงราย
ส่วนแยมลิ้นจี่ ใช้ลิ้นจี้พันธุ์ท้องถิ่น ที่จะปลูกได้ดีในพื้นที่สูงเท่านั้น เมื่อนำมาทำแยมจะได้รสชาติที่ดี เพราะมีปริมาณน้ำน้อย เนื้อเยอะ และเมื่อนำมาทำแยมแบบโฮมเมด ที่ไม่เติมสารเพิ่มความเหนียว ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ลูกค้าก็จะได้รสชาติของผลไม้จริงๆ
ยกระดับมูลค่าวัตถุดิบท้องถิ่น
ผลไม้ หากขายสดราคามักจะเป็นไปตามกระแสของตลาด เกษตรกรแทบจะไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้เลยว่า พอใจที่จะขายเท่าไร แต่ในทางกลับกันหากแปรรูป สร้างมูลค้าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ราคาของวัตดุดิบสามารถกำหนดได้ตามความพอใจของเกษตรกรและเจ้าของแบรนด์ที่นำมาแปรรูป ซึ่งการกำหนดราคารับซื้อตามความพอใจของเกษตรกร คือ วิธีคิดที่แยมบ้านไม้หอม นำมาใช้เพิ่มมูลค่าให้กับทุนในท้องถิ่น
ต่อมอธิบายว่า ในชุมชน ชาวบ้านที่ยังมีกำลังทำงาน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกผลไม้ พอเราทำแยมและรับซื้อผลผลิตโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ประโยชน์แรกที่ได้ คือ เรื่องราคา ชาวบ้านจะได้ราคาดี และเราเองก็ได้ผลไม้คุณภาพดีไปทำแยม หรือในกรณีที่ฤดูกาลไหนผลไม้บางชนิดมีทีท่าว่าจะล้นตลาด เช่น ลูกหม่อน ลูกพลับ เราก็จะรับซื้อนำมาทำแยมและจัดราคาโปรโมชั่น เพื่อให้สินค้าระบายออกได้เร็ว ลูกค้าได้ของสดใหม่ เกษตรขายผลผลิตได้ ไม่ต้องปล่อยทิ้งคาสวน
“พอเราทำงานใกล้ชิดกับท้องถิ่น ประโยชน์อย่างแรกที่เราจะได้เลยคือ เรื่องคุณภาพสินค้า เพราะเขาไว้ใจและเชื่อใจเรา ของที่เราได้ก็จะเป็นของที่ดี สด ใหม่ ตัวอย่างเช่น แยมลูกหม่อน แยมบางที่ที่เป็นอุตสาหกรรมจะใช้ลูกหม่อนพร้อมก้านเอาลงไปเคี่ยวทำแยม รสจะติดฝาด และแยมของเราใช้ลูกหม่อนที่เก็บมือ ตัดก้านออกทุกลูก คนที่เอามาส่งให้เราก็เป็นคุณยายที่บ้านปลูกลูกหม่อน ว่างจากการเลี้ยงหลาน”
นอกจากเรื่องวัตถุดิบแล้ว บ้านไม้หอมยังใช้แรงงานจากคนในชุมชนเป็นกำลังสำคัญในฝ่ายผลิต ต่อมเล่าว่า ข้อดีข้อแรก คือ ส่งเสริมการจ้างงานให้กับชุมชน ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน ข้อสอง คือ การทำงานกับคนในชุมชนจะเป็นเหมือนญาติสนิท มากกว่าการจ้างงานแบบโรงงานลูกน้องเจ้านาย ถ้าวันไหนมีงานด่วน ออร์เดอร์เยอะต้องส่งให้ทันเวลา เราก็สามารถให้เขามาช่วยทำงานเพิ่มให้เราในวันหยุด
ในมิติของทุนท้องถิ่น ต่อมมองว่า ท้องถิ่นมีของดีอยู่แล้วทั้งวัตถุดิบและแรงงาน ถ้าเราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งเหล่านั้นได้ ชุมชนและเกษตรกรก็จะเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจของเรา ซึ่งในอนาคต บ้านไม้หอมวางแผนไว้ว่า นอกจากร้านของฝากและห้างสรรพสินค้าที่ขายอยู่ในปัจจุบัน จะลองไปร่วมมือกับโรงแรม นำแยมจากชุมชนเข้าไปเสิร์ฟให้กับลูกค้าในมือเช้า เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่ได้นำเสนอเรื่องราวของชุมชนในอีกหนึ่งมิติ
แยมผลไม้บ้านไม้หอม
อ.แม่จัน จังหวัดเชียงราย
Facebook: Baanmaihorm Home and Farm