Skip to main content

‘แก้ววรรณา’ ผ้าทอย้อมครามเมืองแพร่ คืนชีพการย้อมผ้าด้วยภูมิปัญญาและวิถีธรรมชาติ

29 มิถุนายน 2567

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด

 


จากความตั้งใจที่จะหาสินค้าเอกลักษณ์ให้ชุมชน สู่เส้นทางการตามหาวิธีย้อมผ้าธรรมชาติให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในเมืองแพร่ ต่อยอดกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ศาสตร์การทำม่อฮ่อมธรรมชาติ


ตั้งต้นตามหาสีย้อมครามธรรมชาติ

 

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน การย้อมผ้าด้วยวิธีธรรมชาติในเมืองแพร่แทบจะไม่หลงเหลือให้เห็น แม้ในอดีตชาวบ้านจะใช้สีธรรมชาติก็ตาม แต่เมื่อการย้อมเคมีเข้ามาแทนที่ ด้วยต้นทุนที่ถูกและเวลาที่น้อยกว่า หลายครัวเรือนที่ยึดอาชีพย้อม และทอผ้าจึงหันไปใช้สีเคมีจากอุตสาหกรรม เพื่อลดเวลาและต้นทุน ดังนั้น การจะตามหาบ้านสักหลัง ช่างทอสักคน ที่ยังใช้กระบวนการธรรมชาติอยู่นั้น จึงยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แต่สุดท้าย วุฒิไกร  ผาทอง ก็ตามหาจนเจอ

ความตั้งใจที่จะตามหาภูมิปัญญาสีน้ำเงินของวุฒิไกร เริ่มต้นมาจากความต้องการที่อยากจะหาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับเมืองแพร่ เขาเล่าว่า หากไปดูคำขวัญจังหวัดแพร่เราจะพบสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของเราอยู่ในนั้น  

‘ม่อฮ่อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม’ ซึ่งคำแรกที่ก็คือ ม่อฮ่อม แต่ในตอนนั้นจะหาบ้านสักหลังที่ยังย้อมม่อฮ่อมด้วยครามธรรมชาตินั้นยากมาก

“แรกๆ เราก็ไปอาศัยถามผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เขาก็บอกว่าไม่ค่อยมีแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ไปเจอว่ายังมีบางบ้านที่ทำอยู่ ก็ไปทำร่วมกับเรา ให้เรามีความรู้เองตั้งแต่ต้นทาง หาฝักคราม เอามาย้อม ใช้กรด ด่าง ธรรรมชาติ ลองผิดลองถูกอยู่เป็นสี่ห้าปี จนเราย้อมเส้นด้ายด้วยครามธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเราจริงๆ”

เมื่อผ่านด่านแรกไปแล้ว โจทย์ต่อมาคือ การนำด้ายที่ย้อมครามไปให้กับช่างทอในชุมชน แต่ปัญหาก็ตามมาอีกครั้งเพราะช่างทอผ้ามีอยู่น้อยมาก และลายทอที่เขาทำก็เป็นลายเฉพาะไม่สามารถขึ้นลายตามความต้องการได้ สุดท้ายวุฒิไกรจึงรวมตัวตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมา แต่ก็ยังมีเรื่องตามมาอีก เพราะสมาชิกกลุ่มทอผ้าจะทอได้แต่ลายพื้นฐาน และเครื่องไม้เครื่องมือของแต่ละคนก็เป็นเครื่องมือเฉพาะตัว แต่วุฒิไกรกลับมองเป็นข้อดีเพราะลายผ้าที่ออกมาจะเป็นลายผ้าที่หลากหลายตามฝีมือของช่างทอ

หลังได้ผ้าทอม่อฮ่อมตามที่ตั้งใจ ความท้าทายต่อมาคือ ทำยังไงให้ม่อฮ่อมของแก้ววรรณาแตกต่างจากที่อื่น โดยเฉพาะในยุคที่สื่อออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยม และภาพจำของคนส่วนใหญ่ การใส่ม่อฮ่อมจะให้ภาพที่โบราณ ไม่นำสมัย และใส่ได้ไม่ทุกโอกาส วุฒิไกรจึงสร้างภาพจำใหม่ให้กับผ้าทอ ด้วยการใช้แบบเสื้อผ้าตามสมัยนิยมเข้ามาแทนที่แบบผ้าพื้นเมือง

“ผมเอาม่อฮ่อมมาตัดเป็นกางเกงใส่เอง คนก็ถามว่าซื้อกางเกงยีนส์จากไหน ผ้านุ่ม สีสวย ผมบอกว่าไม่ใช่ยีนส์ เป็นผ้าทอม่อฮ่อมเมืองแพร่นี่แหละ”

หลังจากค่อยๆ สร้างภาพจำให้เป็นที่รับรู้ว่าม่อฮ่อมไม่ได้ตัดได้แค่ชุดกุยเฮง ชุดพื้นเมือง แต่สามารถประยุกต์เป็นเสื้อผ้าหลากหลายรูปแบบในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญยังใช้การผลิตจากกระบวนการธรรมชาติทุกขั้นตอน ก็มาถึงเรื่องของการหาตลาด

วุฒิไกรเล่าว่า แรกๆ เขาใช้วิธีออกบูธสินค้าในงานศิลปหัตกรรมต่างๆ เพื่อจะได้เจอกับลูกค้าโดยตรง ให้ลูกค้าสัมผัสสินค้า และมีเวลาอธิบายถึงความแตกต่างของผ้าย้อมเคมีกับผ้าธรรมชาติ ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องเผยแพร่ความรู้เรื่องความแตกต่างของผ้าธรรมชาติ เพราะหากไม่ใช่คนที่คลุกคลีกับวงการผ้าจริงๆ จะแยกแทบไม่ออกถึงความแตกต่าง

“บางทีผมจะแนะนำให้ลูกค้าไปถามกับคนขายผ้าว่า ที่บอกว่าเป็นผ้าธรรมชาติ ใช้อะไรย้อม ใช้ครามจากไหน ย้อมได้ครั้งละกี่ผืน ถ้าเขาตอบว่าย้อมได้ทีละจำนวนมาก ก็ไม่ใช่แล้วครับ” วุฒิไกร บอก


ต่อยอดสู่การอนุรักษ์ศาสตร์การย้อมผ้า และคืนป่าให้กับชุมชน

 

แก้ววรรณา กลายเป็นแบรนด์ผ้าธรรมชาติที่คนซึ่งรักและชอบในผ้าทอรู้จักเป็นอย่างดี แต่วุฒิไกรไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างแบรนด์สินค้า เขายังต่อยอดด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนหันมาปลูกครามส่งให้กับแก้ววรรณา และกลุ่มเครือข่ายที่ต้องการครามธรรมชาติไปใช้ในธุรกิจสีย้อม เขาอธิบายต่อว่า จริงๆ แล้วแต่เดิมชาวบ้านปลูกครามไว้ทั้งใช้เองและจำหน่าย แต่ติดปัญหาตรงที่พอปลูกขาย เขาก็ไม่รู้จะเอาไปขายใคร เพราะในตอนนั้นคนหันไปใช้สีเคมีกันหมดแล้ว

“พอเราหันมาทำให้ชุมชนเห็นว่า ตอนนี้ครามธรรมชาติเป็นที่ต้องการ มีคนพร้อมซื้อจำนวนมาก และผ้าที่ใช้สีธรรมชาติก็ขายได้ราคาดี มีตลาดที่ชัดเจน เขาก็ค่อยๆ หันมาปลูกครามให้เรา ซึ่งต้นครามจะเติบโตได้ดี ก็ต้องมีป่าที่สมบูรณ์ มันก็ลดการทำลายป่าลงไปโดยปริยาย”

นอกจากนี้แก้ววรรณา ยังมีศูนย์การเรียนรู้เล็กๆ ที่ให้ผู้ที่สนใจกระบวนการย้อมผ้าธรรมชาติเข้ามาเรียนรู้ถึงความสำคัญของ สีจากป่า การทอผ้า และการอนุรักษ์ วุฒิไกรมองว่าทุกวันนี้เขาทำสำเร็จแล้วในแง่ของการพิสูจน์ให้คนเห็นว่า ทุนในท้องถิ่นที่เคยหายไป เขาสามารถนำมันกลับมาได้อีกครั้งอย่างมั่นคง และพร้อมจะส่งต่อให้กับลูกหลาน

 

แก้ววรรณา อ.เมือง จังหวัดแพร่
Facebook: แก้ววรรณา : Kaewwanna
 


 

‘แก้ววรรณา’ ผ้าทอย้อมครามเมืองแพร่ คืนชีพการย้อมผ้าด้วยภูมิปัญญาและวิถีธรรมชาติ
‘แก้ววรรณา’ ผ้าทอย้อมครามเมืองแพร่ คืนชีพการย้อมผ้าด้วยภูมิปัญญาและวิถีธรรมชาติ
‘แก้ววรรณา’ ผ้าทอย้อมครามเมืองแพร่ คืนชีพการย้อมผ้าด้วยภูมิปัญญาและวิถีธรรมชาติ
‘แก้ววรรณา’ ผ้าทอย้อมครามเมืองแพร่ คืนชีพการย้อมผ้าด้วยภูมิปัญญาและวิถีธรรมชาติ
‘แก้ววรรณา’ ผ้าทอย้อมครามเมืองแพร่ คืนชีพการย้อมผ้าด้วยภูมิปัญญาและวิถีธรรมชาติ
เนื้อหาล่าสุด