รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด
จากความต้องการแค่จะเลี้ยงปูนาไว้กินเอง เพราะไม่อยากไปรอซื้อที่ตลาด ต่อยอดกลายเป็นฟาร์มปูนาครบวงจรแห่งแรกในอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ มีร้านอาหารเมนูปูนาราคาย่อมเยาว์
เริ่มทำฟาร์ม เพราะชอบกินปูนา อยากเลี้ยงปูนาไว้กินเอง
“เราเป็นคนชอบกินปูนามาก ต้องใช้คำว่ามากๆ แต่ไปตลาดทีไรซื้อไม่เคยทันคนอื่นเขา ไปรอเป็นชั่วโมงๆ มันไม่คุ้ม ก็เลยลองเลี้ยงเอง”
ต๋อม ทศพร เลิศคอนสาร เจ้าของฟาร์มปูนาแสนสวย เล่าว่า เริ่มทำฟาร์มปูนาเพราะความชอบส่วนตัวล้วนๆ ในพื้นที่ อ.คอนสาร จะมีปูนาธรรมชาติอยู่จำนวนหนึ่ง เพราะชาวบ้านยังมีพื้นที่นาข้าวธรรมชาติอยู่ แต่กว่าจะไปซื้อแต่ละครั้งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อไปรอซื้อ รอจับจองปูคุณภาพดีตามจำนวนที่่ต้องการ
ต๋อมเล่าว่า ด้วยความขี้เกียจจึงลองนำปูนาธรรมชาติมาเลี้ยงที่บ้าน แต่ไม่ว่าจะเลี้ยงกี่ครั้งก็ตาย ไม่เคยออกลูกออกหลานให้เห็นเสียที จนแม่ถึงกับบอกว่า “พอเถอะลูก” รวมทั้งคนในชุมชนก็ตั้งคำถามว่าเลี้ยงไปทำไม แต่สำหรับต๋อม ไม่มีคำว่าพอ หากเขายังไม่ได้ลองหาทางแก้ไขอย่างจริงจัง
ต๋อมอธิบายว่า เดิมทีนั้นเขาไม่ได้มีความรู้ทางการเกษตร เรียนจบด้านธุรกิจระหว่างประเทศ เข้าทำงานในบริษัทเอกชนด้านส่งออก จนวันหนึ่งรู้สึกคิดถึงบ้านและครอบครัวมากๆ เลยตัดสินใจลาออกและสอบเข้าเป็นพนักงานราชการในตำแหน่งเล็กๆ ที่บ้าน เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดแม่ แต่งานราชการในตำแหน่งที่ทำอยู่นั้นต๋อมมองว่ายังมีรายได้ไม่พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว โดยเฉพาะแม่ที่ชราลง ไหนๆ ตัวเองชอบปูนาอยู่แล้ว หากลองศึกษาอย่างจริงจังก็อาจจะเป็นอีกช่องทางเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น
จนวันหนึ่งเขาได้ไปรู้จักกับ ปูนาพันธุ์ก้ามหนีบม่วง ซึ่งเป็นปูนาที่เหมาะกับการเพาะเลี้ยงในกระชังน้ำจืด ให้เนื้อแน่นกว่าปูนาสายพันธุ์ธรรมชาติที่ชาวบ้านจับมาขาย พอลองเริ่มเลี้ยงแล้วไปได้ดี ปูไม่ตาย ขยายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ มีตลาดรับซื้อ คนในชุมชนที่เคยตั้งคำถาม ก็เริ่มเข้ามาไถ่ถามถึงวิธีการและการทำตลาด เขาจึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะขยายช่องทางเพื่อเพิ่มผลผลิต และเป็นการช่วยชาวบ้านให้มีรายได้มากขึ้น ต๋อมจึงเริ่มขายพ่อพันธุ์และรับซื้อคืน
“พอเราเลี้ยงและมีปูนาจำนวนมาก รวมถึงลูกฟาร์มที่ขยายจำนวนขึ้น ชาวบ้านก็เริ่มมาถามว่า นอกจากเลี้ยงแล้วขายเป็นตัว หรือขายพันธุ์ ปูนามันเอามาทำอะไรกินได้บ้าง เราเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้วก็เลยเอาปูนาในฟาร์มมาทำให้ชิม นั่งลิสต์ออกมาได้เป็นสิบเมนู พอหลายคนลองกินแล้วถูกใจ บางเมนูไม่คิดว่าจะเอาปูนามาทำได้ ทำไมเราไม่ลองเปิดร้านอาหารอีสานจากเมนูปูนาเสียเลย”
ร้านอาหารเมนูปูนา ที่ใส่ใจตั้งแต่รสชาติจนถึงการจัดจาน
ต๋อมเปิดร้านอาหารในพื้นที่เดียวกับฟาร์ม ใช้วัตถุดิบต่างๆ ทั้งจากที่ผลิตเองและจากชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่สดใหม่และเป็นการสนับสนุนชุมชน เขาวางแนวคิดของร้านไว้ว่า ต้องเป็นวัตดุดิบที่ดีในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง คนในชุมชนเองสามารถเข้าร้านมากินได้ ไม่ใช่เฉพาะนักท่องเที่ยวเท่านั้น
ดังนั้น เมนูในร้านจึงมีตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย ช่วงแรกที่เปิดร้าน เขารับลูกค้าน้อยมาก เพราะอยากทำความรู้จักกับลูกค้า สำรวจความต้องการเรื่องรสชาติว่า ลูกค้าแต่ละคนชอบอาหารรสชาติประมาณไหน
“ช่วงแรกที่เปิดร้าน เชื่อไหม เรารับลูกค้าโต๊ะเดียวเองนะ เพราะอยากคุยกับเขาให้ละเอียดว่าชอบกินอะไร ชอบรสชาติประมาณไหน เพราะต่างคนต่างที่มาก็ต่างลิ้นกัน คนเมืองบางคนก็กินรสมือแบบคนในชุมชนกินไม่ได้”
เพราะอยากสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าทุกคน ต๋อมสังเกตว่าลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวมักจะชอบถ่ายรูปอาหารเพื่อโพสต์ลงสื่อออนไลน์ ดังนั้น อาหารแต่ละจานที่ร้านเสิร์ฟ เขาจึงพิถีพิถันเรื่องการจัดจานเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความประทับใจแรกให้กับลูกค้า และยังเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ร้านไปในตัว และบวกกับความใส่ใจเรื่องคุณภาพ ทำให้ร้านอาหารจากเมนูปูนา เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ต๋อมเล่าต่อว่า นอกจากฟาร์มและร้านอาหารแล้ว เขายังนำปูนามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ไม่ว่าจะเป็นคุกกี้ปูนา ปูนาดอง และที่เป็นจุดเด่นของร้านคือ น้ำปลาร้าปูนา ที่เขาได้แรงบันดาลใจจากน้ำปลาร้าของยายที่ใช้ปูนาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจุดเด่นของน้ำปลาร้าปูนา ต๋อมอธิบายว่า เขาใช้การปรุงรสจากธรรมชาติทุกขึ้นตอน ความหอมนัว มาจากใบหม่อนและใบเตย สีน้ำปลาร้ามาจากใบกระถิน ซึ่งต๋อมพัฒนาสูตรให้สามารถนำไปผัด หมัก ต้ม ได้เหมือนกับซอสเอนกประสงค์
เขาเล่าถึงความภูมิใจในเส้นทางนี้ว่า เป็นการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เราไม่ต้องมองว่าจะสร้างความสำเร็จในที่ไกลๆ แต่กลับมามองสิ่งรอบตัวที่เรามีความสุขกับมัน ทำงานด้วยการเริ่มจากใช้ความสุขเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เม็ดเงิน และความสำเร็จก็จะออกมาอย่างสวยงาม เหมือนกับที่เขาตั้งชื่อฟาร์มและร้านอาหารว่า ปูนาแสนสวย
ปูนาแสนสวย
ต.ห้วยยาง อ. คอนสาร จ. ชัยภูมิ
Facebook: ปูนาแสนสวย