‘ศูนย์เด็กเล็ก 365 วัน’ ความฝันดูแลเด็กไทยให้ดีเหมือนที่เดนมาร์ก ของ ‘นายกฯ อบต. เชิงทะเล’
จากการมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานการจัดการศึกษาในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีการศึกษาเป็นรัฐสวัสดิการ ทำให้ ‘มาโนช พันธ์ฉลาด’ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล จ.ภูเก็ต เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสวัสดิการการศึกษาของท้องถิ่นขึ้น เพื่อวางรากฐานในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ และลดภาระของผู้ปกครองให้มากที่สุด ด้วยการเริ่มต้นจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีคุณภาพ เปิดทำการตลอดทั้งปี 365 วัน โดยไม่มีวันหยุด
“ผมมองว่าไม่ว่าพ่อแม่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ท้องถิ่น หรือรัฐบาลกลาง ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา ด้วยความที่ท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชน จะทราบบริบท รู้จักผู้คน รู้ถึงความต้องการ ผมจึงมีความคิดและความฝันที่จะสร้างการศึกษาของท้องถิ่นขึ้น โดยมีหลักการสำคัญ คือ เราต้องทำให้เด็กของเรามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี”
“ตอนผมมีโอกาสไปดูงานการศึกษาที่เดนมาร์กได้ไปเห็นว่าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเขาจะไม่มีวันหยุดเลย เพื่อให้เด็กเข้ามาเล่น มาศึกษา มาเรียนรู้สังคม แต่หลักๆ คือให้มาเล่น ผมจึงนำกลับมาคุยกันใน อบต.เชิงทะเล ว่าต้องการเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 365 วัน” มาโนช เล่า
มาโนช อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมว่า ด้วยพื้นที่ในการดูแลของ อบต.เชิงทะเล มีประชากรประมาณ 11,200 คน หรือประมาณ 3,000 ครัวเรือน อาชีพเดิมทำประมงและทำสวน แต่ช่วงหลังเมื่อภูเก็ตมีการท่องเที่ยวบูมขึ้น งานด้านบริการเพิ่มมากขึ้น มีภาคแรงงานจากพื้นที่อื่นๆ โยกย้ายเข้ามาด้วย วิถีชีวิตจึงเริ่มเปลี่ยนไปเป็นชนบทกึ่งเมือง การทำงานจะไม่ใช่เช้าไปเย็นกลับ บางทีอาจทำงานเป็นกะ และวันหยุดก็จะเริ่มไม่ตรงกับลูกๆ บางครั้งอาจต้องทำงานเสาร์อาทิตย์ด้วย
ด้วยสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนไปของยุคสมัย ทำให้เวลาของผู้ปกครองไม่ตรงกับเวลาของเด็กๆ จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการจัดให้มีศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพและต้องรับดูแลทั้ง 365 วัน เพื่อให้พ่อแม่ออกแบบเวลาวันหยุดที่ตรงกับลูก และสามารถรับฝากลูกให้ท้องถิ่นดูแลได้อย่างสบายใจ
“เด็กจะได้อยู่กับพ่อแม่ในวันที่พ่อแม่ได้หยุด ไม่ต้องไปฝากปู่ย่าตายายเลี้ยง ผมคิดว่าสายใยรักในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญนะในการสร้างให้เด็กรู้สึกว่าโลกนี้มีความอบอุ่น มีความน่าอยู่”
มาโนช บอกต่อไปว่า การดูงานด้านการศึกษาที่เดนมาร์กกับคณะก้าวหน้า ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์มาก ทำให้เห็นว่าการจะทำให้บุคลากรของประเทศมีคุณภาพต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก หรือถ้าเป็นไปได้ควรดูแลตั้งแต่ในครรภ์มารดาด้วยซ้ำ จนอายุพอเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ จะเป็นวัยพัฒนาการราวๆ 2.5- 3 ขวบ เด็กจะต้องมีพื้นที่ในการเล่นและทำกิจกรรม ซึ่งที่เดนมาร์กให้ความสำคัญกับช่วงวัยนี้ที่สุด จะรอให้ถึงอนุบาลอาจสายไปด้วยซ้ำในการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กๆ
เมื่อมีแนวคิด มีความฝัน มาโนชบอกว่า ในการลงมือทำการศึกษาของท้องถิ่นต้องคิดถึงเรื่องคุณภาพเช่นกัน ต้องไม่ใช่แค่เรื่องการเปิดให้ได้ 365 วันเท่านั้น เมื่อตัดสินใจทำ หมายความว่า ต้องมีการจ้างบุคลากรมาทำตรงนี้มากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่หรือครูเองก็ต้องมีวันหยุด นอกจากนี้ บุคลากรที่มาทำงานก็ต้องมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นได้ว่าเราจะดูแลลูกของเขาให้มีความปลอดภัยและมีพัฒนาการที่ดี ดังนั้น คนที่จะมาทำงานตรงนี้ได้ก็ต้องผ่านการเรียนด้านการดูแลเด็กปฐมวัย ส่วนท้องถิ่นก็จะคอยเสริมทักษะให้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาเด็ก การดูแลเด็กเล็ก สภาวะอารมณ์ รวมถึงโภชนาการที่ปรุงให้เด็กทานต้องมีคุณภาพ
“เมื่อเราตั้งเป้าว่าจะทำเรื่องนี้ หนึ่งสิ่งที่สำคัญเลยคือ การเตรียมงบประมาณ ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับสิ่งต่างๆ ให้ครบทั้งระบบ ทีมบริหารท้องถิ่นจะต้องปรับแผนบูรณาการทั้งหมด เพื่อทำให้โครงการเกิดขึ้น แต่เป็นความโชคดีที่ อบต.เชิงทะเล ได้รับงบประมาณมาเพียงพอ ตกอยู่ที่ราว 300 ล้านบาทต่อปี จึงขึ้นอยู่กับการจัดสรรว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องใด และส่วนใดที่นอกเหนือจากงบประมาณก็จะประสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิทองพูล หวั่งหลี ให้งบประมาณมาจัดทำ Mini Box มอบสิ่งจำเป็นแรกเกิดให้แม่ที่ตั้งครรภ์ เป็นต้น บทบาทของท้องถิ่นจึงต้องเป็นทั้งมือประสานสิบทิศและจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ วิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่นจึงมีความสำคัญมากว่าจะพาท้องถิ่นไปทางไหน”
เมื่อถามถึงเป้าหมายปลายทาง มาโนช บอกว่า ท้องถิ่นไม่ควรถูกจำกัดกรอบด้วยระเบียบข้อกฎหมาย หรืองบประมาณ แต่อยากให้คิดว่าท้องถิ่นทำได้ทุกมิติ เพราะท้องถิ่นมีความใกล้ชิดพี่น้องประชาชน สิ่งที่ทำก็จะมาจากความต้องการที่แท้จริงของพี่น้องประชาชน
“ความฝันเรื่องการศึกษาท้องถิ่น ผมอยากให้มองแบบเดียวกับทั่วโลก ต่างประเทศท้องถิ่นดูแลกว้างขวางมาก มีโรงเรียน วิทยาลัย และมีมหาวิทยาลัยของท้องถิ่นเองด้วยซ้ำ ถ้าเรามีงบเพียงพอ เราสามารถบริหารการจัดการศึกษาที่ดีได้ ลองไปดูงบของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน แม้จะบอกว่าได้มากที่สุด แต่ความจริงแล้วไปอยู่ที่งบค่าจ้างบุคลากรเป็นส่วนใหญ่ งบเพื่อสร้างพัฒนาการมีน้อยมาก”
ที่สำคัญ คือ เขามองว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ถ้าวันหนึ่งท้องถิ่นได้รับการปลดล็อกหรือกระจายอำนาจจริง
“ผมฝันว่าวันหนึ่ง เราจะไปถึงการสร้างการศึกษาแบบเดนมาร์ก อยากไปให้ถึงสิ่งเราไปเห็นมา เป็นการศึกษาที่ตรงเป้า ตรงประเด็น และอนาคตของเราจะไปได้ไกล ความเหลื่อมล้ำจะน้อยลง คุณค่าความเป็นมนุษย์ก็จะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าคุณจะมีฐานะใดก็ตาม ทุกคนจะได้รับการศึกษาที่เท่ากัน นี่คือความฝันของผมครับ”