Skip to main content

‘เวียงคำฟ้า’ หมู่บ้าน 9 ชาติพันธุ์ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ สร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

26 มิถุนายน 2567

องอาจ เดชา

 


ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีชุมชนหนึ่งตั้งอยู่บนเนินกว้าง คือ ชุมชนบ้านเวียงคำฟ้า มีพื้นที่ประมาณ 5,700 ไร่ อยู่ในพื้นที่ ต.ดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง จุดเด่นของชุมชน เป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ 9 ชนเผ่า ได้แก่  ม้ง อาข่า เมี่ยน จีน ลีซู ลาหู่ ไทยใหญ่ ไทยลื้อ และคะฉิ่น อาศัยอยู่รวมกันมานานร่วม 15 ปีมาแล้ว  

ธีรวัฒน์ ท่อเสถียรธรรม ประธานเครือข่ายม้งดอยยาวผาหม่น เล่าที่มาของชุมชนแห่งนี้ว่า เดิมทีชาวบ้านกลุ่มนี้มีถิ่นฐานกำเนิดกระจัดกระจายอยู่ในเขตพื้นที่สูงในหลายจังหวัด อาทิ ตาก พะเยา เชียงราย น่าน ซึ่งชุมชนดั้งเดิมส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ ทุกปีจึงมักเจอปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เนืองๆ

เมื่อชาวบ้านต้องทำไร่ทำมาหากินกับป่า ในขณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็พยายามกวดขันจับกุมชาวบ้านโดยบอกว่าชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า จนกระทั่งช่วงปี 2547 ดร.บัณฑิต แสงเสรีธรรม ซึ่งเป็นคนชาติพันธุ์ม้ง เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนวิรุณห์บริหารธุรกิจในขณะนั้น ได้ขึ้นไปสำรวจข้อมูลสภาพสังคมและเยี่ยมเยือนชนเผ่าบนที่สูงตามหมู่บ้านต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ได้รู้จักกับผู้นำชนเผ่าหลายพื้นที่และทราบถึงสภาพสังคมวิถีชีวิตชนเผ่า จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ขัดแย้งและปะทะกันกับรัฐกับชาวบ้าน

ตอนแรกๆ นั้น มีพี่น้องชาติพันธุ์อพยพโยกย้ายลงมาพื้นที่สูงเพียงไม่กี่หลังคาเรือน ทำให้ ดร.บัณฑิต เห็นความทุกข์ยากของพี่น้องชนเผ่า เนื่องจากเดิมทีพวกเขาจะรวมกลุ่มอาศัยอยู่กันตามป่าเขาในเขตป่าสงวนแห่งชาติบ้าง ในเขตป่าต้นน้ำบ้าง ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ขาดการการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และยากจน จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ ดร.บัณฑิต ตัดสินใจให้ที่ดินทำกินให้เป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของชนเผ่าต่างๆ ที่เข้ามาขอสร้างบ้านอยู่อาศัยที่แคมป์มะเขือเทศ โดยให้ทุกคนอยู่ในเงื่อนไขของโครงการ จากนั้น จึงก่อตั้งเป็นมูลนิธิราชพลีเวียงคำฟ้า ขึ้นมาเพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชนเผ่าต่างๆ  

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ดร.บัณฑิต ได้บริจาคที่ดินให้พี่น้องชนเผ่าสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอย่างถาวรครั้งแรกจำนวน 300 ไร่ และตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “เวียงคำฟ้า” แปลว่า เมืองทองแห่งชนเผ่า หรือถิ่นหมู่บ้านชนเผ่า โดยมี หวังดี แซ่ท่อ เป็นผู้นำหมู่บ้านคนแรก อยู่ในเขตปกครองของบ้านป่าสักงามหมู่ที่ 9 มีทั้งหมดประมาณ 500 หลังคาเรือน และมีจำนวนประชากรทั้งหมดเกือบ 1,000 คน ที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่รวมกัน
                                    
ชุมชนเวียงคำฟ้า ต้องเผชิญปัญหาหลายอย่างและต้องตั้งรับปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความยากซับซ้อนมากกว่าชุมชนอื่นๆ จากเดิมที่เคยมีไร่ข้าว มีสวน เก็บพืชผักจากป่า เมื่อมาอยู่ที่แห่งใหม่ ไม่มีไร่นา หรือสวนเป็นของตัวเอง จึงต้องปรับตัวกันใหม่เพื่อให้อยู่รอด
                                        
อาศัยพื้นฐานเดิมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ คือ ความขยัน อดทน และอดออม ทำให้หลายครอบครัว เลือกใช้วิธีการเช่าที่นาที่สวนจากคนพื้นราบ แล้วลงมือปลูกข้าว ทำสวน ปลูกมันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด เพื่อเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่อีกหลายครอบครัวที่อยู่ในวัยแรงงาน ก็พากันไปเป็นกรรมกรก่อสร้างในตัวเมืองเชียงราย


การบริหาร 9 ชาติพันธุ์ ไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้ง

 

ธีรวัฒน์ เล่าว่า หมู่บ้านนี้มีจุดเด่นเรื่องการปกครองแตกต่างจากหมู่บ้านอื่น โดยมีการจัดตั้งผู้นำแต่ละชนเผ่าขึ้นมาดูแลกันเอง มีการตั้งเป็นหัวหน้าคุ้มเพื่อช่วยกันดูแลชาวบ้าน นอกจากนั้น ยังมีการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านจากการคัดเลือกของชาวบ้านในหมู่บ้านเพื่อดูแลภาพรวมของหมู่บ้านขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง โดยหัวหน้าบ้าน (ประธานกรรมการ) มีผู้ช่วย 2 คน มีหัวหน้าคุ้ม 4 คุ้ม มีหัวหน้าเผ่าๆ ละ 1 คน และให้มีผู้ช่วยหัวหน้าเผ่าๆ ละ 1 คน

ที่ผ่านมา ปัญหาในหมู่บ้านก็มีเหมือนกับทุกๆ ที่ เช่น ปัญหาผัวเมียทะเลาะวิวาท การลักเล็กขโมยน้อย ปัญหาเรื่องวัยรุ่น ซึ่งใช้วิธีไกล่เกลี่ยโดยให้หัวหน้าแต่ละเผ่าดูแลกัน ทำให้ปัญหาคลี่คลายลงไปได้

จุดแข็งอีกด้านหนึ่งของหมูบ้าน ก็คือ การนำวัฒนธรรมและความเชื่อของแต่กลุ่มชาติพันธุ์มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้คนที่นี่ก้าวพ้นปัญหาต่างๆ ไปได้ ยกตัวอย่าง เรื่องการปลูกข้าว

“เมื่อก่อนอยู่บนดอย ชาวบ้านจะปลูกข้าวไร่กัน แต่พอลงมาอยู่ข้างล่าง เช่าที่นาชาวบ้าน พี่น้องชนเผ่ามีการพยายามนำเอาแนวคิดการปลูกข้าวบนดอยมาปรับใช้ จะไม่ปลูกข้าวดำนาเหมือนคนพื้นราบทั่วไป แต่ก่อนลงมือปลูกข้าว ทุกคนจะนำเมล็ดข้าวเปลือกไปแช่น้ำ จนใกล้จะงอกแล้ว จึงนำไปหยอดลงในนา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชนเผ่าดั้งเดิม พอเก็บเกี่ยวแล้ว ก็ถือว่าได้ผลผลิตดี พอๆ กับที่คนพื้นราบทำนากันเลย” ธีรวัฒน์ เล่า

นอกจากนั้น ชาวบ้านที่นี่ยังพยายามใช้ชีวิตให้เหมือนตอนอยู่บนดอยมากที่สุด นั่นคือการปลูกพืชผักสวนครัว  รอบๆ หมู่บ้านเอาไว้

“จะเห็นว่า ชาวบ้านที่นี่ จะไม่ค่อยใช้จ่ายตลาดกันเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะปลูกผัก เก็บผักตามทุ่งนา ตามป่ารอบๆ หมู่บ้าน” ธีรวัฒน์ บอก    


หนึ่งหมู่บ้าน หลากความเชื่อ หลายวัฒนธรรม                            

 

หมู่บ้านเวียงคำฟ้า มีความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ รองลงมาคือ ลัทธิบรรพบุรุษตามความเชื่อเดิม และศาสนาพุทธ  

ศาสนาคริสต์ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือกันนั้น นอกจากจะมีบทบาทในการพัฒนาจิตใจแล้ว ยังเข้าไปมีส่วนหนุนเสริมในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านอีกด้วย

กิ่งแก้ว จั๋นติ๊บ ผู้ประสานงานแผนกกลุ่มชาติพันธุ์และยุติธรรมและสันติ สังฆมณฑลเชียงใหม่ และประธานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเครือข่ายชาติพันธุ์จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ที่ผ่านมาได้เข้าไปหนุนเสริมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ในฐานะนักพัฒนาองค์กรศาสนาคาทอลิก โดยได้ใช้แนวคิดคำสอนเรื่อง วัฒนธรรมทิ้งขว้าง หรือ Laudato Si เข้าช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่มักถูกมองข้ามและมักถูกแปลกแยก

“ที่ผ่านมา เราได้เข้าไปเน้นส่งเสริมการพัฒนาผู้นำคนรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวของชุมชน บนพื้นฐานความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่จำต้องปรับตัวในการอยู่ร่วมกัน โดยเน้นสนับสนุนการรวมกลุ่มชุมชน เพื่อมองหาโอกาสในงานพัฒนาชุมชน  โดยงานเครือข่ายอาหารปลอดภัยของชุมชนเวียงคำฟ้า ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการรวมกลุ่มชุมชน เพื่อเรียนรู้ช่องทางคุ้มครองสิทธิและเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน และระดับกลุ่มต่อไป” กิ่งแก้ว กล่าว

ทุกวันนี้ ชาวบ้านบ้านเวียงคำฟ้า มีการรวมตัวกันจัดทำกิจกรรมหลายอย่าง รวมทั้งเรื่องอาหารปลอดภัย ซึ่งชาวบ้านมองว่า เป็นวิถีของพี่น้องชนเผ่าแต่เดิมแล้ว ที่สำคัญ ทุกคนต่างนำแนวคิดการพึ่งพาตนเอง ซึ่งแต่ละชนเผ่านำมาเป็นจุดแข็งในการเริ่มจัดกิจกรรม จนเกิดกิจกรรมต่างๆ ตามมา อย่างต่อเนื่อง อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัว ที่เป็นผักปลอดสาร โดยเริ่มขยับขยายจากการปลูกไว้กิน เหลือเรามาทำตลาดเล็กๆ ให้เป็นตลาดทางเลือกให้คนได้หันมาเลือกซื้อพืชผักอาหารที่ปลอดภัย                           

ในขณะที่กลุ่มแม่บ้าน สตรี ก็รวมกลุ่มกันทำอาหารสมุนไพร เช่น “ไข่+ก๊า-เจา” (Kab raus) หรือไข่ตุ๋นสมุนไพร ที่ช่วยบรรเทาอาการไอ, ก๋วยเตี๋ยวก้อเลี๊ย (koj liab) หรือก๋วยเตี๋ยวสมุนไพร ที่เป็นยาบำรุงเลือด แก้ประจำเดือนมาไม่ปรกติ, ไก่ต้มสมุนไพร แก้ช้ำไน จุกเสียด                       

นอกจากอาหารปลอดภัยแล้ว ยังมีการรวมกลุ่มทอผ้า ทำผ้าลายปักของแต่ละชนเผ่า ซึ่งล้วนมีลวดลายสีสันสวยงาม จนกลายเป็นสินค้าทางเลือกให้กับชุมชน อีกทั้ง ยังมีการรวมกลุ่มกันทำสบู่สมุนไพรจากอะโวคาโด จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมและขายดีในขณะนี้

“ตอนแรกเราก็ลองผิดลองถูก ทำสบู่มาหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสบู่จากข้าวหอมมะลิ น้ำนมข้าว จากผลไม้ต่างๆ นับสิบชนิด แต่สุดท้าย เรามาพบว่า สบู่จากอะโวคาโดมีคุณภาพที่ดีที่สุด และมีลูกค้าชื่นชอบมากที่สุด” ธีรวัฒน์ บอก

ทุกวันนี้ สบู่อะโวคาโดของชุมชนเวียงคำฟ้า เป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารที่ได้รับความนิยม มีพ่อค้าแม่ค้าสั่งซื้อนำไปขายในตลาดออนไลน์กันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ผ้าลายปัก ยังเป็นสินค้าที่จำหน่ายส่งออกต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เนื่องจากมีพี่น้องชาติพันธุ์อพยพไปอยู่กันมาก


ปัญหายิ่งซับซ้อน ชาวบ้านยิ่งต้องปรับตัว

 

หมู่บ้านเวียงคำฟ้า ยังมีปัญหาที่ทับซ้อนกันอีกหลายเรื่อง  โดยเฉพาะการที่ยังเป็นหมู่บ้านบริวารของหมู่บ้านป่าสักงาม ตำบลดงมหาวัน ไม่ได้แยกออกเป็นหมู่บ้านอย่างทางการ ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น และมีองค์ประกอบของชุมชนครบถ้วนแล้วก็ตาม

ชาวบ้านบอกว่า สาเหตุที่บ้านเวียงคำฟ้ายังไม่ได้เป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ อาจมาจากมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐที่มองว่า การที่ชนเผ่าย้ายอพยพมาอยู่ที่นี่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม หรือเข้ามาเป็นแรงงานแย่งงานของคนพื้นราบ บ้างก็กลัวว่าจะนำปัญหายาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ ทุกวันนี้ ชาวบ้านจึงไม่มีบ้านเลขที่ และมีอีกราว 10 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นคนไร้สัญชาติ

ยิ่งปัญหาซับซ้อน ก็ต้องยิ่งปรับตัวตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลง และหาทางพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและมั่นคงให้มากที่สุด ซึ่งจุดแข็งของชุมชนนี้คือ การหันกลับมาทบทวนรากเหง้า อัตลักษณ์ ตัวตนของแต่ละชนเผ่า และนำมาปรับใช้ในวิถีชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง

“เราจะใช้จุดแข็งของเรา ก็คือ วัฒนธรรมชนเผ่ามาพัฒนาหมู่บ้าน เรามีแนวคิดกันมานานแล้วว่า อยากให้หมู่บ้านเวียงคำฟ้าเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อยากทำโฮมสเตย์ อยากทำศูนย์วัฒนธรรมประจำเผ่า โดยจำลองวิถีชีวิตดั้งเดิมของแต่ละเผ่ามาไว้ที่นี่ แต่ก็ยังติดขัดเรื่องงบประมาณ ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามา ก็คงค่อยๆ ทำกันไปทีละเล็กทีละน้อยไปก่อน ซึ่งตอนนี้เราได้กับพื้นที่สาธารณะเอาไว้รองรับแล้วประมาณ  12 ไร่” ธีรวัฒน์ บอก
                                     
ในฤดูหนาวของแต่ละปี ถ้าใครมีโอกาสมาเยือนเชียงรายที่บ้านเวียงคำฟ้า ก็จะได้สัมผัสกับกับงานประเพณีปีใหม่ 9 ชนเผ่า ซึ่งชาวบ้านพร้อมใจกันจัดงานทุกปี และยังมีทุ่งดอกทานตะวันสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งชาวบ้านช่วยกันปลูกจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย

จะเห็นได้ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งชุมชน ที่พยายามตั้งรับและปรับตัวให้เท่าทันกระแสความเปลี่ยนแปลงในสังคม ของโลกยุคใหม่ เหมือนกับสุภาษิตชนเผ่าเมี่ยน ที่บอกสอนสืบต่อกันมาว่า “ไม่มีอดีต ก็ไม่มีปัจจุบัน” และ “หากเข้าใจอดีตและปัจจุบันไม่ถ่องแท้ ก็เหมือนม้าวัวที่ไร้กำลัง”


ข้อมูลประกอบ
1. ข้อมูลหมู่บ้านเวียงราชพลี ม.9 ต.ดงมหาวัน อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย 
2. แผนกกลุ่มชาติพันธุ์และยุติธรรมและสันติ สังฆมณฑลเชียงใหม่  
4. เวียงคำฟ้า ณ เวียงเชียงรุ้ง, วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 104 พ.ค. - ส.ค.2560
5. สัมภาษณ์คุณธีรวัฒน์ เสถียรธรรม ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ บ้านเวียงคำฟ้า,ประธานม้ง และเครือข่ายม้งดอยยาวผาหม่น

 

‘เวียงคำฟ้า’ หมู่บ้าน 9 ชาติพันธุ์ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ สร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
‘เวียงคำฟ้า’ หมู่บ้าน 9 ชาติพันธุ์ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ สร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
‘เวียงคำฟ้า’ หมู่บ้าน 9 ชาติพันธุ์ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ สร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
‘เวียงคำฟ้า’ หมู่บ้าน 9 ชาติพันธุ์ ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ สร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
เนื้อหาล่าสุด