รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของพี่สาว ที่ต้องการทำสบู่ ยาสระผม ให้น้องสาวที่มีผิวแพ้ง่าย ต่อยอดมาเป็นธุรกิจน้ำยาทำความสะอาดของใช้ในบ้าน ที่ยึดหัวใจสำคัญคือ “ลดการใช้ให้น้อยเพื่อสร้างโลกให้ยาว”
จุดเริ่มต้นจาก น้องสาวขี้แพ้
ปอ- รัณยณา จั่นเจริญ พี่สาวคนโตของบ้าน เจ้าของแบรนด์ BaanRalin - Natural & Organic Living แบรนด์สินค้าทำความสะอาดที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติเกือบ 100% โดยยึดหัวใจสำคัญคือ การลดการใช้สารเคมีปรุงเแต่งในชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด
ปอเล่าว่า แรกเริ่มทีเดียวไม่ได้ตั้งใจจะสร้างแบรนด์หรือผลิตสินค้าออกมาขาย แต่มาจากความพยายามแก้ปัญหาแพ้สารเคมีในสบู่และยาสระผมให้น้องสาว เนื่องจากน้องสาวของเธอมักต้องเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อยู่บ่อยครั้งเพื่อลองว่า แบรนด์ไหนที่ใช้แล้วไม่แพ้ เพราะแม้กระทั้งยาสระผมหรือสบู่สำหรับเด็กก็ยังไม่สามารถใช้ได้
“ปอมีน้องสาวที่เป็นคนผิวแพ้ง่ายมาก ใช้แชมพูยี่ห้ออะไรก็แพ้ ใช้ได้สามสี่วันก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ตัวอื่น แม้แต่ที่ระบุว่าเป็นของเด็กก็ยังแพ้ มีตุ่มใสๆ ขึ้นบนหนังศรีษะ ซึ่งตอนหลังเรามารู้ว่า สบู่แชมพูในท้องตลาด ใส่สารที่ไม่จำเป็นมาเยอะมาก เช่น น้ำหอม สารทำให้เหนียว สารยืดอายุ แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารพวกนี้ ราคาก็จะสูงมากหลักหลายร้อยบาท ทำให้ซื้อมาใช้ไม่ได้บ่อยๆ ก็เลยคิดว่า ทำให้น้องใช้เองไปเลยดีไหม”
ปอเล่าต่อว่า ด้วยความที่เธอมักจะไปเดินตลาดเกี่ยวกับสินค้าออร์แกนิค และบางครั้งมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมสอนทำสบู่ ยาสระผม เธอจึงลองนำทักษะดังกล่าวมาใช้ และคอยปรึกษาขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ โดยแรกๆ เป็นการลองทำใช้เองจากวัตถุดิบในครัวเรือน และให้คนในบ้านลองใช้เพื่อดูผลตอบรับ โดยเฉพาะแชมพูสระผม
หลังจากใช้ไปไม่นานน้องสาวกลับมาบอกว่า ไม่มีอาการแพ้ ใช้ได้นาน สภาพเส้นผมดีขึ้น
“ตอนทำให้น้องลองใช้ ก็บอกน้องว่า ใช้เถอะ เพราะไหนๆ เราก็ลองใช้มาหมดแล้ว ลองของพี่ดูก่อน พอน้องบอกใช้ดีไม่แพ้ เราก็เริ่มทำพวกน้ำยาทำความสะอาดชนิดต่างๆ ออกมาให้คนที่บ้านใช้ นานเข้า เขาก็เริ่มบอกต่อๆ กันให้คนรู้จักใช้บ้าง พอเยอะเข้าเราก็เลยลองทำขายทีละนิด พอลูกค้าพอใจ เราก็เริ่มมั่นใจแล้วว่าเราจะทำออกมาขายอย่างจริงจังได้จริงๆ ”
สู่แบรนด์เล็กๆ ที่คืนกำไร เป็นความยั่งยืนให้ชุมชน
จากสบู่ แชมพู ที่ทำใช้เองเพื่อแก้ปัญหาให้คนในครอบครัว ค่อยๆ กลายมาเป็นสินค้าเจาะกลุ่มลูกค้าทางเลือก ปอเล่าว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะเข้าใจว่าทำไมของจากธรรมชาติจึงดีกว่า ทั้งที่บางอย่างมีราคาสูงกว่า
เธออธิบายต่อว่า ในช่วงแรกของการลองขาย ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อ เป็นกลุ่มที่สนใจผลิตภัณฑ์ทางเลือกและมีผิวแพ้ง่ายอยู่แล้ว การขายส่วนใหญ่เป็นไปแบบปากต่อปาก บวกกับการผลิตที่ทำในครัวเรือน ไม่ได้ทำแบบอุตสาหกรรม
“ช่วงแรกๆ ที่ทำขาย เราใช้การตลาดแบบปากต่อปาก เขาใช้ดีก็บอกต่อ พอเริ่มมีออร์เดอร์เยอะขึ้น เราก็เริ่มรับไม่ไหว อยากขยายกำลังการผลิต ก็เริ่มมาคิดว่า แล้วเราจะหาวัตดุดิบจากไหนที่ปลอดภัย และไว้ใจได้ จนเริ่มมาสำรวจชุมชนรอบบ้านเราพบว่าหลายบ้านมีวัตถุดิบจำนวนมากปลูกเอาไว้ใช้กินเอง ก็เลยเกิดไอเดีย ไปคุยกับเจ้าหน้าที่เกษตรในชุมชนให้ช่วยเป็นตัวกลางประสานรับซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้าน ด้วยการขอความร่วมมือให้ผู้ที่ปลูก ไม่ใช้สารเคมีใดๆ”
เธอเล่าว่าในช่วงแรกชาวบ้านในชุมชนให้ความร่วมมือดีมาก เพราะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เขาโดยที่เขาไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เพียงเก็บของที่มีอยู่แล้วในบ้านมาขายให้กับเรา อาจจะยากหน่อยตรงที่ต้องอธิบายว่า ทำไมจึงขอความร่วมมือให้ปลูกและดูแลผลผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ เพราะนอกจากกลุ่มลูกค้าของแบรนด์เป็นลูกค้าประเภทนี้อยู่แล้ว การลดใช้สารเคมียังทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้นด้วย
“เวลาเราบอกชาวบ้านว่าการลดใช้สารเคมีในชีวิตประจำวันมันดียังไง เขาจะไม่เข้าใจ ยิ่งเราไปบอกว่าจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวดีขึ้น ยิ่งเป็นเรื่องยากเพราะเป็นชุมชนเล็กๆ สิ่งที่เราทำได้คือ การงดใช้สารเคมีในผลผลิตที่ส่งให้เรา”
นอกจากชาวบ้านแล้ว ปอมักจะพบกับการตั้งคำถามจากลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสารเคมีมาก่อน โดยเฉพาะคำถามเรื่องระยะเวลาที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงหลังใช้ผลิตภัณฑ์ของเธอ ซึ่งปอมักจะอธิบายว่า ทุกอย่างที่มาจากธรรมชาติต้องอาศัยระยะเวลานานกว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารเคมีโดยตรง แต่ผลลัพธ์ระยะยาวเธอมั่นใจว่าดีกว่าแน่นอน
“ลูกค้าบางคนใช้ยาสระผม ของเราจะบอกว่าผมกระด้าง ไม่นุ่มเหมือนแชมพูเคมี เราก็ต้องอธิบายว่า ยาสระผมของเราไม่ได่ใส่สารที่ทำให้ผมนุ่ม ซึ่งเป็นสารเคมีเคลือบผม แต่จะช่วยให้ผมค่อยๆ กลับมามีสุขภาพดีด้วยตัวมันเอง พอลูกค้าลองใช้ต่อไปเขาก็เห็นผลตามที่เราบอกจริง และมันก็ต่อยอดให้เขาลดการใช้สารเคมีกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในบ้าน”
ปอทิ้งท้ายกับเราว่า สำหรับใครที่อยากจะลองเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ อาจจะลองเริ่มจากการแก้ปัญหาบางอย่างจากคนในครอบครัวก่อน และดูว่าในชุมชนของเรามีทุนอะไร มีผลผลิตอะไรที่จะช่วยสนับสนุนให้สินค้าของเราไปต่อได้ไหม และที่สำคัญสินค้า ธุรกิจที่เราเลือกจะทำต้องเป็นสิ่งที่เราสนใจจริงๆ ไม่เบื่อที่จะลองแก้ปัญหา ลองทำซ้ำ หรือคอยตอบคำถามจากลูกค้า เพราะไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถอยู่กับมันได้นาน
Facebook: BaanRalin - Natural & Organic Living