Skip to main content

ศรีแสงดาว ข้าวทุ่งกุลา (ไม่) ร้องไห้ ที่ดังไกลไปค่อนโลก

25 มิถุนายน 2567

รวิวรรณ  รักถิ่นกำเนิด

 


จากลูกหลานเจ้าของโรงสีขาว สู่ธุรกิจแบรนด์ข้าวรายเดียวในโลก ที่ไม่ว่าใครก็มาเอาเมล็ดพันธุ์ไปไม่ได้ เพราะคือข้าวที่มาตรฐานโลกบอกว่า ต้องปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุ บนผืนดินทุ่งกุลาเท่านั้น และเกษตรกรต้องเป็นคนในชุมชน

 

ไม่ใช่ความทะเยอทะยานที่ทำให้เขาและชุมชนประสบความสำเร็จ แต่คือ ความพอดี การรู้จักตัวเอง ว่าเราต้องการอยู่ตรงไหน จุดไหนที่เราจะสามารถสร้างสมดุลให้ตัวเองได้ เพราะในวันนั้นหากเขาคิดจะผลิตข้าวเพื่อเทียบกับแบรนด์ใหญ่ระดับอุตสาหรรม คงไม่มีข้าว "ศรีแสงดาว" ในทุกวันนี้


มาตรฐานข้าวไทย ที่กลายเป็นบ่วงรัดตัว

 

หากกล่าวว่า ข้าวหอมมะลิไทย คือ ข้าวหอมมะลิหนึ่งเดียวในโลก คำกล่าวนี้อาจจะถูกต้องเมื่อหลายสิบปีก่อน ในยุคที่ไทยยังเป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ปลูกขาวสายพันธุ์หอมมะลิ และเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก แต่คำกล่าวนี้กำลังถูกตั้งคำถามในวันที่ประเทศเพื่อนบ้าน และอีกหลายประเทศสามารถผลิตและส่งออกข้าวสายพันธุ์เดียวกับไทย และบางทีอาจจะส่งออกได้มากกว่า

เรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้คนที่คลุกคลีอยู่วงการข้าวไทย “สิน-สินสมุทร ศรีแสงปาน”ลูกหลานทายาทโรงสีในภาคอีสาน อยากสร้างมาตรฐานให้ข้าวท้องถิ่น ทุ่งกุลาร้องไห้ ที่เขาคุ้นเคยและรู้จักมาตั้งแต่เกิด

สิน เริ่มต้นจากการพยายามสร้างมาตรฐาน Geographical Indications (GI) หรือ สินค้าที่มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ด้วยการขอ GI ที่ได้มาตรฐานจากสหภาพยุโรป ซึ่งหมายความว่า ข้าวที่จะใช้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” จะต้องเป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลา โดยเกษตรกรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นชาวทุ่งกุลา และเหนืออื่นใด โรงสีที่สีข้าวต้องเป็นโรงสีในพื้นที่ของคนทุ่งกุลาเท่านั้น

สินเล่าว่า หากฟังเงื่อนไขเพียงครั้งแรกเหมือนจะสร้างมูลค่าให้ข้าวท้องถิ่นได้เป็นกอบเป็นกำ ทว่าเงื่อนไขต่อมาคือ ต้องบรรจุและขายจากในพื้นที่ทุ่งกุลาเท่านั้น ซึ่งข้อนี้กลายมาเป็นอุปสรรคชิ้นสำคัญที่ทำให้การเจรจาการค้าส่งออกข้าวจากท้องถิ่นไปยังคู่ค้าต่างชาติต้องยุติลง

“ตอนนั้นเรียกได้ว่า ใช้คำว่า อกหักเลยก็ว่าได้ ข้าวเราดี เรามีมาตรฐานที่ใครก็เอาสิทธิตรงนี้ไปไม่ได้ แต่มันกลายเป็นเครื่องมารัดตัวเรา ให้เราไม่สามารถส่งออกข้าวไปบรรจุที่อื่นได้ ซึ่งความสามารถในการบรรจุหีบห่อแบบผู้ค้าปลีกของเราตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นศูนย์”


ข้าวของเรา ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ

 

เมื่อมาตรฐานกลายกับดัก แต่แรงฮึดยังไหว ด้วยความที่เป็นลูกเจ้าของโรงสีและรักในเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น สินกลับมาสู้ต่อด้วยความคิดที่ว่า “ข้าวของเรา ชุมชนของเรา” ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนจากเจ้าของโรงสีมาเป็นเจ้าของแบรนด์ข้าวไทยพรีเมี่ยม

“ตอนนั้นเรามีข้าว มีวัตถุดิบอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่าจะเอาไปขายใคร ขายอย่างไร เราไม่มีความรู้เรื่องการทำแบรนด์เลย แต่เรารู้ว่าเราจะทำงานกับชุมชนอย่างไรให้เขาเชื่อใจและผลิตข้าวที่ดีให้กับเราได้ วิธีเดียวในตอนนั้นที่คิดได้ คือ ผมต้องวิ่งเข้าไปหาคนที่มีความรู้เรื่องแบรนด์ เพื่อขอให้เขาช่วย”

 

สินกลับมาสู้ต่อด้วยความคิดที่ว่า “ข้าวของเรา ชุมชนของเรา” ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนจากเจ้าของโรงสีมาเป็นเจ้าของแบรนด์ข้าวไทยพรีเมี่ยม

 

ประจวบเหมาะในตอนนั้น สินมีโอกาสเข้าร่วมโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำงานกับชุมชน ทำให้เขาได้มีโอกาสพบกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับโลกที่อยากร่วมงานด้วย ซึ่งให้ข้อคิดกับเขาว่า เราขายข้าวแข่งกับเจ้าใหญ่ไม่ได้ เราต้องขายแบรนด์ ทำอย่างไรให้ทำน้อยแต่ขายได้มาก

หลังเข้าร่วมโครงการ สินเล่าว่าตัวสินค้าซึ่งก็คือข้าวยังไม่ได้ออกสู่ตลาด แต่สิ่งที่คลอดออกมาให้เป็นภาพจำของผู้คน ซึ่งคือบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่น กล่องบรรจุข้าวสารทรงสี่เหลี่ยมรูปเมล็ดข้าวที่ทำจากตอซังข้าว และพาชื่อข้าวศรีแสงดาว ไปคว้ารางวัลด้านการออกแบบถึง 18 รางวัล จนเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนในระดับสากล


เป็นตัวเองในจุดเล็กๆ ไม่เปรียบเทียบใคร

 

จากวันที่ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้ สู่การเป็นแบรนด์ข้าวไทยที่ส่งออกเองไปยังต่างประเทศ สินถอดบทเรียนให้เราฟังว่า ไม่ใช่ความทะเยอทะยานที่ทำให้เขาและชุมชนประสบความสำเร็จ แต่คือ ความพอดี การรู้จักตัวเอง ว่าเราต้องการอยู่ตรงไหน จุดไหนที่เราจะสามารถสร้างสมดุลให้ตัวเองได้ เพราะในวันนั้นหากเขาคิดจะผลิตข้าวเพื่อเทียบกับแบรนด์ใหญ่ระดับอุตสาหรรม คงไม่มีข้าวศรีแสงดาวในทุกวันนี้

“ทุกวันนี้การทำธุรกิจ ไม่ว่าจะสินค้าอะไร มันเกิดการเปรียบเทียบกันเร็วมาก ถ้าเราวิ่งไปตามกระแสโดยไม่มีหลักการของเรา สุดท้ายมันก็จะไปต่อไม่ได้”

สินทิ้งท้ายว่าในอนาคต เขาตั้งใจยกระดับแบรนด์และชุมชนให้เติบโตไปพร้อมๆ กันอย่างมั่นคง


ข้าวศรีแสงดาว ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จากโครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด
188 หมู่ 6 ถนนปัทมานนท์ ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
เฟสบุ๊ก: Srisangdao คืนศักดิ์ศรีชาวนาไทยกู้ศักดิ์ศรีข้าวไทยในเวทีโลก
 

 

ศรีแสงดาว ข้าวทุ่งกุลา (ไม่) ร้องไห้ ที่ดังไกลไปค่อนโลก
ศรีแสงดาว ข้าวทุ่งกุลา (ไม่) ร้องไห้ ที่ดังไกลไปค่อนโลก
ศรีแสงดาว ข้าวทุ่งกุลา (ไม่) ร้องไห้ ที่ดังไกลไปค่อนโลก
ศรีแสงดาว ข้าวทุ่งกุลา (ไม่) ร้องไห้ ที่ดังไกลไปค่อนโลก
ศรีแสงดาว ข้าวทุ่งกุลา (ไม่) ร้องไห้ ที่ดังไกลไปค่อนโลก
เนื้อหาล่าสุด