Skip to main content

'ป่ารสน้ำผึ้ง' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน

25 มิถุนายน 2567

 

หากใครเคยผ่านเส้นทางสายเวียงป่าเป้า - พร้าว ที่เชื่อมการเดินทางระหว่างเชียงรายกับเชียงใหม่ คงสังเกตเห็นแนวป่าผืนใหญ่สดชื่น แต่คงนึกไม่ออกว่าลึกเข้าไปในป่านั้น จะมีหน่วยผลิตเล็กๆ เหมือนผึ้งตัวน้อยที่กำลังทำงานอย่างแข็งขันคนละไม้คนมือ สร้างสรรค์ธุรกิจในแบบของตัวเองอยู่ เป็นเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบปกาเกอะญอ และเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ป่า ที่สำคัญก็คือ สร้างรายได้จำนวนไม่น้อยให้กับชุมชนเล็กๆ ในนั้น นั่นก็คือ ธุรกิจ ‘น้ำผึ้ง’ จากป่าแท้ๆ แห่งบ้านห้วยหินลาดใน

ย้อนหลังไปราวๆ สิบกว่าปีก่อน บ้านห้วยหินลาดใน ประสบความสำเร็จจากการใช้วิถีปกาเกอะญอเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่ออนุรักษ์ป่า  จนสามารถรักษาผืนป่าซึ่งอยู่อาศัยกันมานับร้อยปีตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเอาไว้ได้นับหมื่นไร่ โดยมีหัวขบวนสำคัญ คือ พ่อปรีชา ศิริ 1 ใน 5 Forest Heroes ที่ได้รับการยกย่องจากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยป่าไม้ (United Nations Forum on Forests) ในปี 2554

 

“ต้นทุนของห้วยหินลาดในคือป่าและวิถีปกาเกอะญอ เป็นทั้งเรื่องของปากท้องและเศรษฐกิจที่สามารถต่อยอดได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารตามฤดูกาลสำหรับทั้งกิน ทั้งขาย ไม่ว่ามะนาว มะแขว่น หน่อไม้ ใบชา และน้ำผึ้งห้วยหินลาดในที่แต่ละหยดมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร"

ประสิทธิ์ ศิริ เยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน

 

เมื่อป่ายังอยู่ คนก็ยังอยู่ เพราะป่า คือ ต้นทุนของชีวิตและสังคม ทำให้ได้กิน ได้ใช้ และทำให้ได้ต้นทุนทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งเดิมทีใช้การปลูกต้นชาแซมไปตามต้นไม้ในป่า ชาวห้วยหินลาดในก็จะคอยเก็บยอดชาไปขาย สร้างรายได้เสริมให้แต่ละครัวเรือนซึ่งมีอยู่ราว 20 ครอบครัว ได้พออยู่พอกินและจับจ่ายใช้สอยได้ไม่ลำบาก

อย่างไรก็ตาม เพื่อต่อยอดการรักษาป่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น กลุ่มเยาวชนในชุมชนจึงมองหาแนวทางการสร้างหน่วยธุรกิจขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่สอดคล้องไปด้วยกันได้กับวิถีปกาเกอะญอ โดยระหว่างที่มีใครๆ หลายกลุ่มเข้ามาศึกษาดูงานการอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ ทำให้มีโอกาสได้เจอกับชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งที่แนะนำให้ ‘เลี้ยงผึ้ง’ เพราะน้ำผึ้งเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นความหวานที่อ่อนโยนต่อสุขภาพ และที่สำคัญก็คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง      

ประสิทธิ์ ศิริ หนึ่งในลูกชายของพ่อปรีชา บอกว่า ที่บ้านห้วยหินลาดในจะมีการรวมกลุ่มกันของเยาวชนอยู่แล้ว บางทีก็ตั้งวงรอบกองไฟคุยกันเองคล้ายๆ สภากองไฟที่ผู้ใหญ่นั่งคุยกัน ไอเดียการเลี้ยงผึ้งก็เป็นเรื่องหนึ่งที่คุยกันว่าน่าสนใจ จึงเริ่มมีการศึกษาหาความรู้ จากอาจารย์ชาวญี่ปุ่นบ้าง จากคนที่เขาเลี้ยงผึ้งอยู่แล้วบ้าง เขาให้พันธุ์ผึ้ง ให้ขี้ผึ้งมาทดลองโดยสร้างกล่องให้ผึ้งอาศัย

แรกๆ ก็ไม่สำเร็จเพราะผึ้งบ้างชนิดเมื่อแปลกถิ่นแปลกที่ก็จะตาย จึงเริ่มหาสายพันธุ์ที่เหมาะสม อยู่กับพื้นที่ได้ พอสำเร็จ จึงเริ่มแบ่งกระจายผึ้งไปตามบ้านที่อยากเลี้ยง ให้เอาไปวางในป่าจุดต่างๆ ให้ผึ้งไปเก็บรสชาติของป่าเอามาไว้ในผลิตภัณฑ์ของเรา

“เลี้ยงกันมาน่าจะสิบปีได้แล้วครับ ตอนนี้กลุ่มก็ใหญ่ขึ้น มีทั้งในชุมชนและเครือข่ายนอกชุมชน กระจายแบ่งอุปกรณ์และพันธุ์ผึ้งกัน ผลิตภัณฑ์ของเรามีทั้งที่เป็นแบรนด์ห้วยหินลาดในของเราเอง มีการออกไปวางขายตามงานแสดงสินค้าชุมชนตามที่ต่างๆ บ้าง และแบบที่เขาสั่งน้ำผึ้งของเราไปทำแบรนด์ของตัวเองแต่บอกที่มาก็มี เพราะป่าธรรมชาติคือจุดแข็งในตัวเอง หรือเอาไปใช้ในร้านขนมร้านอาหารก็มี จะซื้อแบบแกลลอนใหญ่ไปเลย” ประสิทธิ์ บอก

“เอกลักษณ์ของน้ำผึ้งห้วยหินลาดใน คือ มาจากป่าแท้ๆ บริสุทธิ์แน่นอน ป่ายิ่งมากน้ำผึ้งก็ได้เยอะ เพราะมีพื้นที่ให้ผึ้งออกไปหาอาหารได้เยอะ รสชาติของน้ำผึ้งก็มีความแตกต่างและซับซ้อน เนื่องจากแต่ละปี ดอกไม้แต่ละชนิดที่เบ่งบานอาจไม่เหมือนกัน รสชาติก็จะต่างกัน เป็นรสชาติของปีนั้น และแต่ละขวดก็ต่างกัน เพราะเราไม่รู้เลยว่าผึ้งจะไปเก็บน้ำหวานจากดอกไม้อะไร มันคือรสชาติของผืนป่าทั้งป่า” ประสิทธิ์ เล่า

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิ์ บอกว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ความสะอาด ศูนย์ทำงานของเยาวชนจึงถูกปรับให้เป็นโรงผลิตน้ำผึ้งที่ดูแลใส่ใจตั้งแต่เรื่องการรับซื้อรวมถึงเรื่องความสะอาด เช่น การจัดการบรรจุภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังดูแลเรื่องการตลาดด้วย โดยกลุ่มเยาวชนจะเป็นแกนกลางในเรื่องนี้ ซึ่งมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มาช่วยด้านองค์ความรู้วางแผนในการทำแบรนด์และการตลาด

“เราจะไม่รับซื้อน้ำผึ้งที่ปีนไปตีมาจากต้นไม้ต่างๆ เพราะอาจเป็นการทำลายวงจรชีวิตผึ้ง ถ้าเราเข้าใจจะมีช่วงที่เราสามารถเข้าไปเก็บน้ำผึ้งได้ปีละครั้ง หรืออย่างที่ญี่ปุ่นที่เขาเชี่ยวชาญแล้ว บางคนจะใช้การตัดรวงผึ้งจากรังเดิมมาบางส่วน บางปีอาจทำได้ถึงสามครั้ง โดยที่ผึ้งก็ยังอยู่รวงเดิมได้ แต่เรายังไม่เชี่ยวชาญขนาดนั้น จึงอาศัยการนำโพรงผึ้งที่ทาขี้ผึ้งไว้ไปวาง ผึ้งก็จะมาทำรัง ถึงเวลาเราก็มาเก็บปีละครั้ง ได้น้ำผึ้งเท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่มีไปเก็บก่อนเวลา แม้ว่าจะมีความต้องการของตลาดเข้ามาขอเพิ่ม แต่เราก็ทำเท่าที่มีให้เป็นไปตามวงจร”

แต่เมื่อพูดถึงรายได้จากธุรกิจน้ำผึ้ง ประสิทธิ์ บอกว่า ก็ไม่น้อย ตกอยู่ครอบครัวละ 30,000 บาทต่อปีโดยเฉลี่ย แต่ความจริงก็มากกว่านั้น อย่างปีนี้ ประสิทธิ์ บอกว่า บ้านเขามีทำสองคน ของประสิทธิ์ได้ประมาณ 20,000 บาท ของพ่อ (พ่อปรีชา) ก็ราว 20,000 บาท นับรวมๆ กันก็ 40,000 บาท ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องจากที่นี่เรื่องอาหารการกินก็ไม่ได้ซื้อมากมาย ส่วนใหญ่สามารถหาได้จากป่าอยู่แล้ว น้ำผึ้งจึงถือเป็นรายได้เสริมเข้ามาต่อยอดจากรายได้จากใบชาและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชน

“ต้นทุนของห้วยหินลาดในคือป่าและวิถีปกาเกอะญอ เป็นทั้งเรื่องของปากท้องและเศรษฐกิจที่สามารถต่อยอดได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารตามฤดูกาลสำหรับทั้งกิน ทั้งขาย ไม่ว่ามะนาว มะแขว่น หน่อไม้ ใบชา และน้ำผึ้งห้วยหินลาดในที่แต่ละหยดมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เป็นน้ำผึ้งที่มีรสชาติของป่าเฉพาะแบบที่นี่เท่านั้น นี่คือเสน่ห์ของน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเรา” ประสิทธิ์ เล่าอย่างภาคภูมิใจ


 

'ป่ารสน้ำผึ้ง' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน
'ป่ารสน้ำผึ้ง' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน
'ป่ารสน้ำผึ้ง' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน
'ป่ารสน้ำผึ้ง' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน
'ป่ารสน้ำผึ้ง' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน
'ป่ารสน้ำผึ้ง' ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยพลังเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน
เนื้อหาล่าสุด