Skip to main content

'อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์' ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในบ้านไร่ มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้โลก

21 มิถุนายน 2567

รวิรรณ รักถิ่นกำเนิด

 


จากธุรกิจการเกษตรเล็กๆ ในบ้านไร่ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างป่าให้ชุมชน ต่อยอดสู่โฮมสเตย์ในพื้นที่สีเขียว ที่อยากให้คนมาพักได้รับประสบการณ์และเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์


หลบลี้จากเมืองกรุงฯ กลับมาบ้าน

 

ย้อนไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน สองสามีภรรยา อุ้ม- คณาภรณ์ ธนูธรรมเจริญ และ นุ้ย- กนกวรรณ ศรีสัจจากุล ตัดสินใจทิ้งชีวิตในกรุงเทพฯ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ แรกทีเดียว ทั้งคู่ตั้งใจจะกลับมาพัก และใช้ชีวิตให้ช้าลง

“เมื่อ 9 ปีที่แล้ว พี่อุ้ม แกทำงานเป็นนักวิจัยที่กระทรวงสาธารณสุข ปกติจะกลับมาเยี่ยมที่บ้านช่วยเก็บลิ้นจี่ที่บ้านนานๆ ครั้ง แกตั้งใจว่า วันหนึ่งจะกลับมาอยู่ที่บ้านทางเหนือ เพราะอยู่กรุงเทพฯมาครึ่งชีวิตแล้ว” นุ้ย เล่า

กลับมาบ้านช่วงแรก ทั้งคู่ใช้เงินจากการลาออกมาปรับปรุงบ้านและที่ดิน อุ้มและนุ้ยจึงค่อยๆ เริ่มเปลี่ยนที่ดินที่มีอยู่แค่จำนวนไม่กี่ไร่ ให้กลายเป็นสวนเกษตรอินทรีย์แบบพึ่งตนเอง ปลูกไว้กิน ปลูกไว้ใช้ และค่อยๆ พัฒนามาทำเกษตรอินทรีย์แบบเต็มตัว โดยช่วงแรกเริ่มทีละน้อยๆ พร้อมไปกับหาความรู้

นุุ้ยอธิบายว่า เป็นช่วงวัดใจเลยก็ว่าได้ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลาและต้นทุนที่สูงกว่าเกษตรเคมีทั่วไป กว่าผลผลิตจะออกให้เห็น สวนเริ่มมีความมั่นคง อย่างน้อยต้องมีเวลา 3 ปี ซึ่งหลายคนไม่สามารถรอได้ ทั้งคู่อธิบายว่าเข้าใจเงื่อนไขเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะก่อนตัดสินใจกลับบ้านได้วางแผนมาแล้วว่า ช่วงสามปีแรกเราต้องการอะไร และแผนถัดจากนั้นคืออะไร

จากสวนปลูกกินเอง เริ่มขยายออกดอกผล มีนาข้าวและสวนผลไม้ออร์แกนิค แต่ความตั้งใจของทั้งคู่ยังมีมากกว่านั้น พวกเขาต้องการสร้างป่าคืนให้แก่โลก เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำและทรัพยากรให้ชุมชน โดยแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดปลูกเป็นป่าผสมผสาน ปลูกไม้ต้นให้ร่มเงา ไม้ผลที่อยากรับประทานในลักษณะของป่า 9 ชั้น

สามปีแรกสามารถลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ 80% และตอนนี้สามารถลดได้ 100% ป่าสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องอาศัยการรดน้ำ และที่สำคัญยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดเล็กอย่าง นก กระรอก และกลายเป็นปอดให้ชุมชน


เปลี่ยนบ้านเป็นที่พักให้ผู้คนที่อยากเรียนรู้เรื่องความยั่งยืน

 

อุ้มฮุ่ม โฮมสเตย์ คือ บ้านขนาดย่อมที่จับพัดจับผลูกลายมาเป็นโฮมเสตย์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติ นุ้ยเล่าว่า เดิมทีทั้งคู่ไม่ได้ตั้งใจจะทำที่พัก แต่จะทำเป็นบ้านอยู่เองกลางสวนเกษตร แต่วันหนึ่งมีชาวต่างชาติขี่รถจักรยานยนต์หลงเข้ามาในหมู่บ้านตอนกลางคืน ชาวบ้านชี้ทางให้มาพักที่บ้านของทั้งสอง

“ชาวบ้านเขาให้ฝรั่งมาคุยกับพี่ เขาบอกว่ามาที่บ้านนี้สิ เขาพูดภาษาอังกฤษได้ พอมาถึงบ้าน เราก็ให้เขาพักบ้านที่เราเพิ่งทำเสร็จ เช้าค่อยกลับ ฝรั่งเขาบอกเราว่า ประทับใจบ้านและสวนป่าของเรามาก ทำไมไม่ลองเปิดเป็นที่พักให้คนได้มาสัมผัสประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ เหมือนที่เขาได้สัมผัส ก็เลยกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำโฮมเสตย์”

 

จากสวนปลูกกินเอง เริ่มขยายออกดอกผล มีนาข้าวและสวนผลไม้ออร์แกนิค แต่ความตั้งใจของทั้งคู่ยังมีมากกว่านั้น พวกเขาต้องการสร้างป่าคืนให้แก่โลก เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำและทรัพยากรให้ชุมชน โดยแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดปลูกเป็นป่าผสมผสาน ปลูกไม้ต้นให้ร่มเงา ไม้ผลที่อยากรับประทานในลักษณะของป่า 9 ชั้น

 

อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์ มีแนวคิดที่ชัดเจนคือ ต้องการให้ลูกค้าที่มาพักได้สัมผัสประสบการณ์ที่ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่ในรูปแบบของการมารีสอร์ท สถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างในป่าเขา แต่คือประสบการณ์ของการพึ่งพาธรรมชาติในทุกมิติ

“อาหารทุกอย่างที่เราทำเสิร์ฟลูกค้า ทุกเมนูใช้วัตถุดิบที่เราปลูกเองทุกอย่าง ขนมปังใช้ข้าวจากไร่ แม้แต่กาแฟ ก็มาจากป่าของเราเอง และพอเราได้เจอลูกค้าเองโดยตรง ก็จะสามารถอธิบายเรื่องราวและแนวคิดให้เขาฟังได้ถึงที่มาที่ไปของสิ่งเหล่านี้”

มากไปกว่านั้น อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์ ยังมีระบบจัดการขยะที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ เศษอาหารจากครัวนำไปทำปุ๋ยหมัก ภาชนะที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่นพลาสติก จะแยกทำความสะอาดและนำไปให้เด็กๆ ในโรงเรียนชุมชนจำหน่าย พร้อมเล่าถึงที่มาที่ไปของขยะพลาสติกเหล่านี้ให้เด็กๆ ซึมซับเรื่องความยั่งยืน  


อุ้มฮุ่มโฮมเสตย์ ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เข้าพัก

 

หลายคนให้ความเห็นว่าพวกเขาประทับใจในวิธีคิดและระบบการดูแลธรรมชาติ เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มาพัก ซึ่งจะได้มากไปกว่าการผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติ  

“ตอนแรกเราก็กังวลใจเรื่องกลุ่มลูกค้าว่า เขาจะเข้าใจสิ่งที่เราพยายามนำเสนอหรือไม่ เราต้องปรับเปลี่ยนอะไรไปตามความต้องการของตลาดไหม แต่ตรงกันข้าม เพราะความมั่่นคงในจุดยืนของเรา มันก็เลยเป็นการคัดกรองกลุ่มลูกค้าไปโดยปริยาย”

มากไปกว่านั้น ทั้งคู่ยังได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยาการเผยแพร่ความรู้และหลักการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชนและเกษตรกรที่สนใจ และอยากเริ่มต้นการทำเกษตรแบบยั่งยืน  อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์ จึงไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่คือรูปแบบความสำเร็จของคนที่กลับบ้านมาพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน


อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์ 
บ้านหัวนาม่อนปิน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 
Facebook : อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์ 
 

'อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์' ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในบ้านไร่ มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้โลก
'อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์' ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในบ้านไร่ มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้โลก
'อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์' ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในบ้านไร่ มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้โลก
'อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์' ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในบ้านไร่ มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้โลก
'อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์' ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในบ้านไร่ มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้โลก
'อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์' ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในบ้านไร่ มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้โลก
'อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์' ธุรกิจเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ในบ้านไร่ มีเป้าหมายสร้างความยั่งยืนให้โลก
เนื้อหาล่าสุด