Skip to main content

'พ่อหลวงปรีชา' Forest Hero แห่ง 'ห้วยหินลาดใน'

21 มิถุนายน 2567

 

 

ไกลจากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไปไม่กี่มากน้อย ลัดเลาะไปตามถนนตัดผ่านแนวเขาก่อนเข้าอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ราว 25 กิโลเมตร ที่ตรงนั้นคือที่ตั้งของ ‘บ้านห้วยหินลาดใน’

หากใครมีโอกาสได้เข้าไปแล้วจะสัมผัสได้ถึงความโดดเด่นและแตกต่างจากพื้นที่รอบข้างได้ทันที เพราะในขณะที่บริเวณโดยรอบรายล้อมไปด้วยแปลงพืชเชิงเดี่ยวอย่าง “ข้าวโพด” ที่ไถผืนป่าจนเห็นเขาหัวโล้นลูกแล้วลูกเล่ามองไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตา แต่เพียงเข้าไปถึงเขตที่ชาวห้วยหินลาดในดูแล คุณจะสัมผัสได้ถึงความชุ่มชื้นและความเขียวชะอุ่มจากผืนป่าอันอุดมได้ในทันที

เพราะบริเวณนี้เป็นพื้นที่สืบเนื่องจากอุทยานแห่งชาติขุนแจ ที่ ‘พ่อปรีชา ศิริ’ ปราชญ์คนสำคัญแห่งห้วยหินลาดในเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการนำเอา “วิถีปกาเกอะญอ” ที่ดำเนินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกับป่าแห่งนี้มานานนับร้อยปี มาเป็นหัวใจของการดูแลป่า จนสามารถทำให้หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้สามารถรักษาผืนป่านับหมื่นไร่เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ไม่แตกต่างจากอดีตกาล

 

คนห้วยหินลาดใน มองว่า การรักษาป่าก็เปรียบเสมือนรักษาต้นทุนของชีวิตและจิตวิญญาณแห่งปกาเกอะญอเอาไว้  กระทั่งเกิดเป็นการบ่มเพาะ ‘เศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม’ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน เช่น การปลูกชาแซมไปกับป่า ทำให้สามารถเก็บใบชาขายเป็นรายได้ได้ 

 

ด้วยความสำเร็จนี้ ทำให้การประชุมขององค์การสหประชาชาติเรื่องป่าไม้ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 ยกย่องให้ พ่อปรีชา แห่งบ้านห้วยหินลาดใน เป็น 1 ใน  5  คน  ของโลกที่ได้รับรางวัล ‘วีรบุรุษผู้รักษาป่า’ หรือ Forest Hero ด้วยคำยกย่องว่า ผลงานสำคัญคือ 
 

“ช่วยให้ คนชาติพันธุ์พื้นเมืองในลุ่มน้ำโขง เอาชนะความยากจนได้ เป็นแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการป่า มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนด้วยพลังความสามัคคี และสำนึกรับผิดชอบ”

แนวคิดสำคัญของ พ่อปรีชา ที่มักพูดกับใครๆ ที่ไปถามเคล็ดลับเสมอๆ ก็คือ บรรพบุรุษปกาเกอะญอมีคำสอนที่สืบต่อกันมาว่า 

“ได้กินจากน้ำต้องรักษาน้ำ ได้กินจากป่าต้องรักษาป่า”

ดังนั้น ที่ทำกินของชาวปกาเกอญอ คือ ป่าและลำห้วย ต้องดูแลด้วยความเคารพ ตั้งกฎเกณฑ์ ข้อห้ามตามประเพณี เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันชุมชน 

แต่กว่าจะมีความสำเร็จเช่นนี้ไม่ง่าย เพราะชาวบ้านห้วยหินลาดในเองก็เคยเผชิญความท้าทายจากภายนอกหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นยุคสัมปทานป่าไม้ที่ทำให้พื้นที่แถวนี้สูญเสียป่าไปจำนวนมาก การเข้ามาของกระแสพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะไร่ข้าวโพด ที่มีรายได้เป็นแรงจูงใจให้เกิดการรุกพื้นที่ป่าไปเรื่อยๆ รวมถึงการประกาศเขตป่าสงวนและนโยบายแยกคนออกจากป่า ซึ่งบ้านห้วยหินลาดในโดนผลกระทบเช่นกัน

แม้กระทั่งในช่วงเวลาปัจจุบันที่มีความสำเร็จในการรักษาป่า จนเป็นที่ประจักษ์ออกสู่สายตาชาวโลกแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ก็ยังไม่แคล้วโดนเจ้าหน้าที่เข้าไปทำลายแปลงไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการใช้พื้นที่เพื่อทำเกษตรตามวิถีปกาเกอะญอที่มีการศึกษาแล้วว่า ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่า การเข้ามาคุกคามในลักษณะนี้ยังคงมี แม้จะไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม โดยในขณะนี้ทางป่าไม้จังหวัดเชียงรายได้มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว เนื่องจากห้วยหินลาดในเป็นเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษที่ได้รับการรับรองตามมติ ครม.

แต่เวลามีเรื่องแบบนี้ พ่อปรีชา บอกว่า ไม่ได้โกรธ วิธีการในการสร้างความเข้าใจและหาทิศทางร่วมกัน คือ การเปิดใจคุยกันทั้งรูปแบบไม่เป็นทางการและกึ่งทางการ ซึ่งในวิถีชุมชนดั้งเดิมจะมีการพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆ ผ่านวงรอบกองไฟหรือ ‘สภากองไฟ’ ซึ่งมีทั้งการพูดการสอนผ่านนิทาน เรื่องเล่า ประสบการณ์ต่างๆ แลกเปลี่ยนกัน

 

ด้วยความสำเร็จนี้ ทำให้การประชุมขององค์การสหประชาชาติเรื่องป่าไม้ที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 ยกย่องให้ พ่อปรีชา แห่งบ้านห้วยหินลาดใน เป็น 1 ใน  5  คน  ของโลกที่ได้รับรางวัล ‘วีรบุรุษผู้รักษาป่า’ หรือ Forest Hero

 

การอนุรักษ์ป่าด้วยวิถีชุมชน ก็ขับเคลื่อนผ่านวงคุยลักษณะนี้ จนออกมาเป็นข้อตกลงร่วมกันที่สอดคล้องกับวิถีของชาวปาเกอะญออยู่แล้ว ได้แก่ ห้ามทำไร่บริเวณป่าต้นน้ำ ตาน้ำ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลอยู่ ห้ามตัดต้นไม้ในป่าช้า และห้ามตัดต้นไม้ที่ผูกสายสะดือเด็กไว้ ห้ามเลื่อยไม้ขาย ไม้ทำฟืนต้องเป็นไม้แห้งตายหรือกิ่งไม้ การตัดต้นไม้สร้างบ้านต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ห้ามคนติดยาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้าน เป็นต้น  

เมื่อมีข้อบังคับแบบนี้และทำได้จริง ก็ทำให้มีข้อต่อรองในการคุยกับหน่วยงานของรัฐเพื่ออยู่อาศัยในผืนป่าได้ แรกๆ เขาอาจไม่เข้าใจ แต่เมื่อเห็นคนในชุมชนยึดถือและใช้เป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจัง ประกอบกับการเปิดรับองค์ความรู้จากภายนอกมาช่วยเหลือศึกษา สร้างความเข้าใจหรือโต้แย้งมายาคติเดิม เช่น การทำไร่หมุนเวียนทำลายป่า เมื่อมีสถาบันการศึกษาต่างๆ มาทำงานวิจัยก็สามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้สร้างบทสนทนากับเจ้าหน้าที่รัฐได้ ยิ่งผ่านเวลาไปนานเข้า ป่าไม้ก็ยังอยู่ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนในหมู่บ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐมีความเข้าใจกันมาตลอด

ปัจจุบัน บ้านห้วยหินลาดใน มีครอบครัวอาศัยอยู่ราว 20 หลังคาเรือน และมีประชากรร้อยคนนิดๆ ที่สามารถรักษาผืนป่าไว้ได้ ไม่อย่างนั้น เราคงเห็นแปลงข้าวโพดผืนใหญ่ไม่ต่างจากที่อื่น

คนห้วยหินลาดใน มองว่า การรักษาป่าก็เปรียบเสมือนรักษาต้นทุนของชีวิตและจิตวิญญาณแห่งปกาเกอะญอเอาไว้  กระทั่งเกิดเป็นการบ่มเพาะ ‘เศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม’ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน เช่น การปลูกชาแซมไปกับป่า ทำให้สามารถเก็บใบชาขายเป็นรายได้ได้ ส่วนสาเหตุที่เลือกปลูกชา เนื่องจากเป็นพืชที่เติบโตไปกับป่าได้ นอกจากนี้ ก็จะมีการเก็บพืชตามฤดูกาลที่นอกจากกินแล้ว ยังขายได้ด้วย เช่น หน่อไผ่ มะแขว่น หรือมะนาว เป็นต้น

ส่วนการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย หมู่บ้านห้วยหินลาดใน ได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้สำหรับต้อนรับผู้ที่ต้องการมาศึกษาเรียนรู้วิถีปกาเกอะญอและการอนุรักษ์ป่า สามารถรับได้ทั้งกลุ่มเล็กๆ โดยจะมีศูนย์เรียนรู้เป็นที่พักรับรอง มีหนังสือ ชา กาแฟ และเสียงของลำธารใสๆ ชุ่มฉ่ำไว้รอต้อนรับ หรือถ้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ก็สามารถกระจายไปพักตามบ้านต่างๆ ได้ เป็นรายได้อีกทางหนึ่งของคนที่นี่

วิถีปกาเกอะญอ อาจไม่ใช่วิถีเพื่อความร่ำรวย แต่คือการพึ่งพาอาศัยดูแลกันระหว่างคนกับธรรมชาติ เป็น ‘เศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม’ ที่อาศัยป่าเป็นต้นทุนสำคัญ ผู้ได้ประโยชน์ไม่ใช่คนในหมู่บ้านเท่านั้น แต่ป่าที่ที่นี่รักษาไว้ คือ สถานที่ฟอกอากาศเพื่อปอดสะอาดๆ ของคนเชียงราย

ส่วนสายน้ำที่ไหลจากป่าแห่งนี้ยังเป็นต้นธารของลำห้วย 14 สายที่ไหลมารวมกัน ซึ่งสายน้ำลำธารจากที่แห่งนี้รับรองได้ว่าสะอาดบริสุทธิ์เพื่อคนข้างล่างหุบเขาสามารถมีน้ำที่สะอาดไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี

 

'พ่อหลวงปรีชา' Forest Hero แห่ง 'ห้วยหินลาดใน'
'พ่อหลวงปรีชา' Forest Hero แห่ง 'ห้วยหินลาดใน'
'พ่อหลวงปรีชา' Forest Hero แห่ง 'ห้วยหินลาดใน'
'พ่อหลวงปรีชา' Forest Hero แห่ง 'ห้วยหินลาดใน'
'พ่อหลวงปรีชา' Forest Hero แห่ง 'ห้วยหินลาดใน'
'พ่อหลวงปรีชา' Forest Hero แห่ง 'ห้วยหินลาดใน'
'พ่อหลวงปรีชา' Forest Hero แห่ง 'ห้วยหินลาดใน'
เนื้อหาล่าสุด