Skip to main content

เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

20 มิถุนายน 2567

 

“เกาะเต่าเราเป็นแหล่งเรียนรู้การดำน้ำ ถือว่าเป็นระดับโลก  นักท่องเที่ยวต่างชาติจะรู้จักเกาะเต่า เพราะการมาเรียนดำน้ำและการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่เราทำกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์ BCG ค่ะ”

รำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า กล่าวถึงจุดขายของเกาะเต่าที่ใครๆ ก็บอกว่าเป็นดังแดนสวรรค์ โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำจากทั่วโลก จะต้องปักหมุดที่นี่ไว้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเดินทางมาสักครั้งหนึ่งในชีวิต

เกาะเต่า เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย นอกจากทะเลสีคราม การถ่ายรูปกับฉลามวาฬพี่ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเล ลุงเต่าทะเล และล่องไปตามแนวปะการังสีสันสดใสแล้ว อีกหนึ่งจุดขายของที่นี่ คือ การรวมตัวกันของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินธุรกิจตามแนวทาง BCG Model หรือ “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม” ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

“เกาะเต่าเรา มีชมรม สมาคมต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันจัดกิจกรรมอยู่ตลอด โดยเฉพาะการวางรากฐานการท่องเที่ยวที่ใส่ใจอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรีสอร์ททุกแห่ง หรือร้านอาหารทุกที่ ลดการใช้พลาสติก และเชื่อไหมว่ากล่องโฟมจะไม่มีเลยในเกาะเต่า เราทำ MOU ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการในเกาะมาเป็นสิบปีแล้ว โชคดีที่ว่าเราเป็นเกาะเล็ก ๆ กลางอ่าวไทย มันเลยมีการจัดการง่าย” รำลึก พูดกับเราอย่างภาคภูมิใจ

 

เพราะแม้ว่าเกาะเต่าจะมีชื่อเสียงอย่างมากในระดับโลก มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุน แต่ถ้าปล่อยปละละเลยจนทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ ทรัพยากรที่มีก็ต้องเสื่อมสลายไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากการทำลายต้นทุนของตัวเอง แต่ละภาคส่วนจึงมาคุยกันสร้างกิจกรรม โดยทุกภาคส่วนเติบโตไปพร้อมกันได้ ทั้งภาคธุรกิจ เศรษฐกิจชุมชน และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ

“ด้วยความที่เราทำธุรกิจดำน้ำมายาวนานมากกว่า 20 ปี มีครูสอนดำน้ำทุกประเทศ ทุกชาติ ทุกภาษา ในการเรียนดำน้ำจะมีหลักสูตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่ด้วย ส่วนทางผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำเองจะช่วยกันฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งการสร้างเพิ่มและดูแลรักษา แม้แต่ชุมชนประมงพื้นบ้านก็มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น สร้างบ้านปลา เพิ่มที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำ บนฝั่งเองก็มีการตั้งชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชื่อว่าชมรมคนรักษ์เกาะเต่า ซึ่งเราก่อตั้งมาประมาณ 20 ปีแล้วค่ะ”

รำลึก บอกต่อไปว่า สิ่งที่เป็นเป้าหมายร่วมกันของเกาะเต่า คือ Responsible Tourism หรือการสร้างต้นแบบ “การสร้างท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” ตลอดสิบปีมานี้จึงทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าเอกชน ประชาสังคม หรือชาวชุมชนบนเกาะแห่งนี้  โดยแต่ละภาคส่วนจะสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ 

เพราะแม้ว่าเกาะเต่าจะมีชื่อเสียงอย่างมากในระดับโลก มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุน แต่ถ้าปล่อยปละละเลยจนทำลายตัวเองไปเรื่อยๆ ทรัพยากรที่มีก็ต้องเสื่อมสลายไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากการทำลายต้นทุนของตัวเอง แต่ละภาคส่วนจึงมาคุยกันสร้างกิจกรรม โดยทุกภาคส่วนเติบโตไปพร้อมกันได้ ทั้งภาคธุรกิจ เศรษฐกิจชุมชน และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น การเก็บขยะใต้ทะเลและบนหาด เพราะขยะไม่ได้มีแค่ที่ตาเห็นบนหาดเท่านั้น แต่ใต้ทะเลก็มีเช่นกัน อาจมาจากลมมรสุมบ้าง การชะล้างจากแผ่นดินใหญ่บ้าง กิจกรรมเก็บขยะใต้ทะเลจึงถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเก็บขยะใต้ทะเลยังเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ อาทิเช่น เต่าทะเลกินถุงพลาสติกเพราะคิดว่าเป็นแมงกะพรุน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีทีม Reef Watch หรือการสำรวจแนวปะการังว่ามีการฟอกขาวเกิดขึ้นหรือไม่ จะมีการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามผลในระยะต่างๆ อย่างที่ทราบกันดีว่า แนวปะการังเป็นป่าของท้องทะเล แต่หากเกิดการฟอกขาวขึ้น คือ สัญญาณบ่งชี้ถึงปัจจัยเฝ้าระวังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกร้อน, โรคภัยในปะการัง,และการชะล้างจากแผ่นดินใหญ่ เป็นต้น ซึ่งนอกจากการสำรวจแล้วก็จะมีกิจกรรมการฟื้นฟูแนวปะการังโดยการปลูกปะการังเสริมเข้าไปด้วย เนื่องจากแนวปะการังถือเป็นทรัพยากรสำคัญยิ่งของเกาะเต่า คือภาพสะท้อนความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายของท้องทะเล ซึ่งความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้เอง ก็คือแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักดำน้ำจากทั่วโลกต้องการเดินทางมาเยือน

ขณะเดียวกัน สำหรับชาวประมงพื้นบ้านจะมีการทำซั้งปลา เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณเพื่อดึงดูดสัตว์น้ำเล็กๆให้มาอาศัยอยู่รวมกัน ทำให้ปลาใหญ่เข้ามาหากิน ชาวประมงพื้นบ้านก็จะทำการจับง่ายขึ้น ซึ่งซั้งจะสร้างขึ้นด้วยวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายในน้ำได้ โดยรูปแบบของการทำซั้ง จะแตกต่างกันตามภูมิปัญญาแต่ละชุมชน

 

“เกาะเต่าเป็นธุรกิจที่ใช้ต้นทุนทางธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงตระหนัก รักษ์ และต้องการฟื้นฟูทดแทนกลับคืนสู่ธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของการคิดถึงการบริหารจัดการและการให้บริการภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลด ละ เลิก การเพิ่มขยะ โดยนำของเหลือใช้กลับมาใช้ซ้ำ รังสรรค์พัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ ของใช้จำเป็น และของที่ระลึก" 

 

อีกหนึ่งกิจกรรมที่โดดเด่นของเกาะเต่าก็คือ การสร้างธุรกิจใหม่จากวัสดุธรรมชาติ ซึ่ง รำลึก บอกว่าสามารถเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้ เช่น CoCo Tie Dye Koh Tao หรือ การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติของกาบมะพร้าว หรือแม้แต่การเอาใบหูกวาง และใบมะม่วง ที่กำลังจะร่วงหล่น ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีมากมายทั่วทั้งเกาะ ก็สามารถนำมาทำมัดย้อมจากสีธรรมชาติได้เช่นกัน

รำลึกบอกว่า การทำเสื้อมัดย้อมในแบบของตัวเองเป็นอีกกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชอบมาก นอกจากนี้ยังมี Sea Glass Jewelry Workshop (เครื่องประดับจากเศษแก้วทะเล) หรือการเก็บเศษแก้ว ขยะจากท้องทะเลมาเจียรนัยใหม่ให้เป็นเครื่องประดับ ทำให้ผู้มาเยือนมีโอกาสออกแบบสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือด้วยตัวเอง พร้อมลดขยะอันตรายที่อาจบาดคนเดินเล่นตามชายหาดไปในตัว

Organic Handmade Cleaning Product หรือการนำเศษผักและผลไม้มาผลิตสบู่และน้ำยาเอนกประสงค์ที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวตามโรงแรมต่างๆ และก็เป็นอีกกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ ขณะเดียวกันก็เป็นการจัดการขยะอินทรีย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อแยกออกมาก็ทำให้จัดการขยะชนิดอื่นได้ง่ายขึ้น ไม่หมักหมมส่งกลิ่นหรือสร้างความสกปรก

รำลึก ยังบอกอีกว่า เกาะเต่ามีโครงการที่ชื่อ Plas-Tao ซึ่งเป็นการรวบรวมขยะพลาสติกจากทั้งมหาสมุทรและบนเกาะ เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกเหล่านั้นเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยเป้าหมายการลดปริมาณพลาสติกและป้องกันไม่ให้พลาสติกกลับเข้าสู่ท้องทะเล โดยผลิตภัณฑ์รีไซเคิลทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ทำมือบนเกาะเต่า  

“เกาะเต่าเป็นธุรกิจที่ใช้ต้นทุนทางธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงตระหนัก รักษ์ และต้องการฟื้นฟูทดแทนกลับคืนสู่ธรรมชาติ จึงเป็นที่มาของการคิดถึงการบริหารจัดการและการให้บริการภายใต้แนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลด ละ เลิก การเพิ่มขยะ โดยนำของเหลือใช้กลับมาใช้ซ้ำ รังสรรค์พัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ ของใช้จำเป็น และของที่ระลึก เพื่อสร้างคุณค่าและเกิดความตระหนักร่วมกัน ซึ่งนำสู่การเพิ่มมูลค่าทางความรู้สึกให้เกิดขึ้น เป็นอีกจุดขายที่สำคัญของเราค่ะ”  

นี่ก็คือแนวทางการสร้างธุรกิจสไตล์ ‘เกาะเต่า’ ที่มากกว่าแค่การขายเรื่องการดำน้ำ แต่คือความพยายามรักษาต้นทุนที่มีเพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนอยู่คู่กับคนเกาะเต่าไปอย่างยาวนานอีกด้วย

 

เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เกาะเต่า’ สวรรค์ของนักดำน้ำกับการต่อยอดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
เนื้อหาล่าสุด