Skip to main content

เรียนรู้ ‘บ้านดิน’ ในยุคโลกร้อน กับ ‘โจน จันใด’

28 พฤษภาคม 2567

องอาจ เดชา

 


Work Shop for Homeschooling Kids กิจกรรมเรียนรู้วิธีการทำบ้านดินของเด็กโฮมสคูล กลุ่มบ้านเรียนเชียงใหม่ ที่ บ้านดินนาลันทา ของ ‘หนิง’ สุณิสา นัดวิไล เจ้าของบ้านดินคนแรกในหมู่บ้านหลวง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ กิจกรรมนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและเด็กๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากได้เชิญ “โจน จันใด” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำบ้านดินอันดับต้นๆ ของเมืองไทย มาเป็นวิทยากรสาธิตและให้ความรู้เรื่องการทำบ้านดินให้ทุกคน ทำให้เด็กๆ โฮมสคูลกลุ่มนี้ ได้รับทั้งความสนุกสนานและความรู้ไปพร้อมๆ กัน

โจน จันใด เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญการสร้างบ้านดิน เป็นผู้เก็บและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น เป็นปราชญ์ท้องถิ่นที่มีแนวคิดในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเรียบง่าย เป็นนักเขียนที่มีผลงานหนังสือออกมาแล้วหลายเล่ม

 

"พอเด็กมีทักษะเข้าใจดิน เข้าใจน้ำ เข้าใจพืช พอไปอยู่ที่ไหนก็ไม่กลัวเลยครับ เพราะเขามั่นใจว่าสามารถสร้างที่อยู่ได้ สามารถสร้างอาหารได้ สามารถทําสิ่งที่จําเป็นต้องการในชีวิตได้" 


บ้านดินในเมืองไทย

โจน จันใด เล่าว่า บ้านดินมีในเมืองไทยมานานแล้ว รุ่นแรกจริงๆ เมื่อประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงนั้นมีคนจีนอพยพเข้ามาในเมืองไทยเยอะมาก คนเหล่านี้ไม่มีอะไรเลย สิ่งที่เขานําติดตัวมาคือ ความรู้ทักษะในการสร้างบ้านดิน  

คนจีนยุคแรกซึ่งเข้ามารับจ้างขุดคลองต่างๆ แถวกรุงเทพฯ แถวรังสิต หลังจากนั้นก็แยกย้ายกระจายกันไปอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ มีบางส่วนที่ย้ายไปอยู่ทางอีสาน คนจีนที่ไปอยู่ทางอีสานรุ่นแรกๆ ยากจนจึงสร้างบ้านดินแถวๆ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด หนองคาย บ้านดินแถวๆ นั้นมีอายุร้อยปีขึ้นไป แต่ว่าทุกวันนี้ถูกรื้อทิ้งเป็นส่วนมากแล้ว เพราะรุ่นปู่เป็นคนสร้าง มาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานไม่มีทักษะ ไม่มีองค์ความรู้ในการดูแลซ่อมแซมก็รื้อออก ในขณะเดียวกันคนจีนก็เริ่มมีรายได้มากขึ้น มีเงินมากขึ้น พอเมืองไทยเข้าสู่ยุคของไม้ เขาก็สร้างบ้านไม้มากขึ้น จากบ้านไม้ก็มาเป็นคอนกรีต ก็เลยไม่มีใครทําบ้านดิน

 

คนจีนที่ไปอยู่ทางอีสานรุ่นแรกๆ ยากจนจึงสร้างบ้านดินแถวๆ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด หนองคาย บ้านดินแถวๆ นั้นมีอายุร้อยปีขึ้นไป แต่ว่าทุกวันนี้ถูกรื้อทิ้งเป็นส่วนมากแล้ว เพราะรุ่นปู่เป็นคนสร้าง มาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานไม่มีทักษะ ไม่มีองค์ความรู้ในการดูแลซ่อมแซมก็รื้อออก

 

โจนเล่าว่า เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว ตอนที่ยังอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เขาไม่เคยคิดถึงบ้านดินและไม่รู้ว่ามีบ้านดินอยู่ในเมืองไทย เมื่อรู้สึกเบื่อไม่อยากอยู่ โจนขอคืนกรีนการ์ดให้สถานทูต และออกเดินทางขี่จักรยานท่องเที่ยวทางไกลก่อนกลับด้วยจักรยานมือสองจากร้านขายของเก่า โดยปั่นจักรยานจากรัฐยูทาห์ เข้านิวเม็กซิโก แอริโซนา แคลิฟอร์เนีย ออริกอน แล้วกลับมาแคลิฟอร์เนีย

“ช่วงนี้ผมผ่านหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า Toapueblo เป็นหมู่บ้านอินเดียนแดง ผมได้ไปเห็นบ้านดินโดยบังเอิญ มันเป็นกล่อง เหมือนกับเอาดินมาทำเป็นกล่องติดๆ กัน เวลาเข้าไปข้างในปุ๊บ ปรากฏว่ามันเย็นดีมาก แล้วที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา หน้าหนาวหิมะลง หน้าร้อนเหมือนหัวจะแตก แต่บ้านดินทําให้คนอยู่ได้ ผมรู้สึกทึ่ง รู้สึกชอบ”

โจนบอกว่า บ้านของเขาที่ จ.ยโสธร อากาศร้อนแบบที่ Toapueblo ถ้าสร้างบ้านดินแบบนี้จะอยู่สบายมาก เขาจึงตื่นเต้นกับบ้านดินมาก และเริ่มค้นคว้าจากห้องสมุดในรัฐออริกอน มีหนังสือบ้านดินอยู่เล่มเดียวในยุคนั้นเกี่ยวกับบ้านดิน

“ผมก็อ่านไม่ได้ ผมแค่ดูรูปเท่านั้นเอง แล้วผมก็ได้รู้ว่าบ้านดินที่เมืองนี้ เป็นบ้านดินที่เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก โดยองค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์อาศัยยาวนานที่สุดในโลก เพราะว่าตั้งแต่สร้างมาจนถึงปัจจุบัน มีคนอยู่โดยไม่ขาดช่วงเลยเกือบ 2,000 ปี ฉะนั้น เวลาเราสร้างบ้านดิน มันจึงอายุยาวนานมาก มันทําให้ผมสนใจบ้านดิน ก็เลยทํามาเรื่อยๆ” โจนเล่า

โจน จันใด บอกว่า บ้านดินเกิดขึ้นในเมืองไทยระยะที่สอง เป็นช่วงคนจีนคณะชาติ ก๊กมินตั๋ง มาตั้งถิ่นฐานแถวชายแดนไทย-พม่า คนกลุ่มนี้ได้นำองค์ความรู้เรื่องการทำบ้านดินมาสร้างบ้านดินที่ไทยด้วย
 

กลับถึงบ้านเกิดยโสธร ลงมือทำบ้านดินคนเดียว

โจน จันใด เล่าว่า เมื่อกลับมาถึงบ้านเกิดที่ยโสธร เขาก็เริ่มสร้างบ้านดินหลังแรกโดยลงมือทำคนเดียว ทําบ้านดิน ตั้งแต่ตี 5 ถึง 7 โมงเช้าทุกวัน วันละสองชั่วโมง

“3 เดือนผ่านไป ผมได้บ้านหลังหนึ่ง ผมก็รู้สึกว่าบ้านมันสร้างง่ายขนาดนี้เลยเหรอ 2 ชั่วโมงต่อวัน 3 เดือนก็สร้างเสร็จแล้ว หนึ่งหลังหมดเงินไป 7,000 บาท เพราะไปซื้อประตู หน้าต่าง หลังนั้นมี 3 ห้อง ห้องแรกขนาด 3x6 เมตร ห้องที่สองขนาด 3x4 เมตร ห้องที่สาม 3x3 เมตร” โจนบอก

เขาเล่าว่า ในยุคนั้นการทำหลังคายากนิดหน่อย ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้อง ซึ่งก็อยู่ได้มายาวนานจนถึงทุกวันนี้

“ผมพบว่าบ้านดินเป็นสิ่งที่ง่าย ถ้าเข้าใจมัน ถ้าเราเข้าใจวิธีการก่อสร้างมันง่ายมาก คนที่อายุน้อยที่สุดที่สร้างบ้านดินคือ 9 ปีนะครับ เด็กอายุ 9 ปีรวมกัน 3 -4 คน ทําอิฐดินทุกเสาร์-อาทิตย์ แค่สองเดือนกว่าเขาก็ได้ห้องกลมๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรครึ่ง จำนวนหนึ่งหลังครับ แล้วคนที่อายุมากที่สุดที่ทําบ้านดินคือ73 ปี มีเป็นลุงแก่ๆ คนหนึ่งพร้อมๆเจ็บไข้ได้ป่วยออดออดแอดๆ พอมาทําบ้านดินปุ๊บ เขารู้สึกว่าชีวิตเขาเปลี่ยนไป เขากินได้นอนหลับ แข็งแรงขึ้น ก็เลยทําบ้านดินมาเรื่อยๆ แกก็เลยบอกว่าผมจะทําให้ได้ 73 หลังก่อนตาย เขาใช้เวลาเดินทางทําอยู่ประมาณ 4 ปีครับ ไปช่วยทำบ้านดินมากกว่า 73 หลังแล้ว แต่ไม่มีวี่แววว่าจะตาย ยังแข็งแรงมาก” โจนบอก

 

“3 เดือนผ่านไป ผมได้บ้านหลังหนึ่ง ผมก็รู้สึกว่าบ้านมันสร้างง่ายขนาดนี้เลยเหรอ 2 ชั่วโมงต่อวัน 3 เดือนก็สร้างเสร็จแล้ว หนึ่งหลังหมดเงินไป 7,000 บาท เพราะไปซื้อประตู หน้าต่าง หลังนั้นมี 3 ห้อง ห้องแรกขนาด 3x6 เมตร ห้องที่สองขนาด 3x4 เมตร ห้องที่สาม 3x3 เมตร”

 

"ผมพบว่าบ้านดินเป็นสิ่งที่ง่าย ถ้าเข้าใจมัน ถ้าเราเข้าใจวิธีการก่อสร้างมันง่ายมาก คนที่อายุน้อยที่สุดที่สร้างบ้านดินคือ 9 ปีนะครับ เด็กอายุ 9 ปีรวมกัน 3 -4 คน ทําอิฐดินทุกเสาร์-อาทิตย์ แค่สองเดือนกว่าเขาก็ได้ห้องกลมๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตรครึ่ง จำนวนหนึ่งหลังครับ"


บ้านดินเปลี่ยนชีวิตคน

โจนบอกว่า บ้านดินเปลี่ยนชีวิตคนเยอะมาก โดยเฉพาะผู้หญิง ในเมืองไทย 60% ของคนทําบ้านดินคือผู้หญิง

“ตอนนี้เรามีผู้หญิงเวิร์คชอป ผู้หญิงสร้างบ้านดินทุกปี เพราะว่าที่ผ่านมา ผู้หญิงคือคนที่ถูกสอนมาว่าเป็นเพศที่อ่อนแอทําบ้านไม่ได้ การสร้างบ้านเป็นงานของผู้ชาย แต่ปรากฏว่าเวลาผู้หญิงมาทําบ้านดิน เขาถึงมีพลังขับเคลื่อนมากกว่า ภายใน 4-5วัน ก็สร้างบ้านด้วยหลังหนึ่ง ทําหน้าที่โดยไม่มีผู้ชายเลยแม้แต่คนเดียว ขึ้นหลังคาเอง ทําอะไรเองหมด มันก็เลยทําให้ผู้หญิงตื่นเต้นมากที่จะทําบ้าน ผู้หญิงก็เลยทําบ้านมากกว่าผู้ชาย”

โจนบอกว่า สิ่งที่อยากจะให้เห็น คือ บ้านดินนั้นใครๆ ก็สร้างได้ ไม่มีเงินก็สร้างบ้านได้ ถูกที่สุดที่เคยมีคนสร้างบ้านดิน หนึ่งหลังใช้เงินประมาณ 4,000- 4,500 บาท


บ้านดินคือทางเลือก สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ได้

โจนบอกว่า บ้านดินจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทําให้คนมีมีบ้านอยู่อาศัย รวมถึงเป็นทางเลือกของการเริ่มต้นธุรกิจโดยการทํารีสอร์ทบ้านดิน ซึ่งไม่ต้องใช้เงินเยอะแต่สามารถที่จะรับแขกได้  ภายในวงเงินไม่กี่แสนบาท ก็ทำบ้านดินได้มากกว่า 10 หลัง ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตคนเยอะมาก


บ้านดิน เครื่องมือสำคัญในการทำโฮมสคูล

ในฐานะผู้ปกครองที่ทำโฮมสคูลให้กับลูกชายมาก่อน โจนบอกว่า บ้านดินคือ เครื่องมือที่สําคัญมากในการทําโฮมสคูล เพราะว่าพื้นฐานในระบบการศึกษาจะเป็นมุมมองที่ต่างคนอื่น สิ่งแรกที่เด็กจะต้องเรียน คือ เรียนเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องพืช เรื่องสัตว์ ที่อยู่รอบตัวเรา

“ถ้าเราไม่รู้ดิน รู้น้ำ รู้พืชเลย จะไปเรียนเรื่องดวงดาว เรื่องดวงอาทิตย์ก่อน มันจะเคว้งคว้าง มันไม่มีฐาน ดังนั้น เราก็เลยใช้บ้านดินนี้เป็นเครื่องมือในการทําโฮมสคูลมายาวนานมาก เด็กๆ ที่สวนทุกคนก็สร้างบ้านได้ เลยทําให้เราเห็นว่า พอเด็กมีทักษะเข้าใจดิน เข้าใจน้ำ เข้าใจพืช พอไปอยู่ที่ไหนก็ไม่กลัวเลยครับ เพราะเขามั่นใจว่าสามารถสร้างที่อยู่ได้ สามารถสร้างอาหารได้ สามารถทําสิ่งที่จําเป็นต้องการในชีวิตได้ นี่คือพื้นฐานของชีวิตที่เราสอนในระบบโฮมสคูลของเรา”

โจนกล่าวว่า บ้านดินช่วยทําให้เด็กมีชีวิตชีวามากขึ้น เพราะเล่นกับดิน ซึ่งสนุกและเลิกยาก แล้วก็ได้เรียนรู้เยอะมาก

ปัจจุบัน โลกร้อน อากาศร้อน โลกกำลังแล้งร้าย ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จึงมีผู้คนเริ่มหันมาสนใจทำบ้านดินกันมากขึ้น บ้านดินจึงเป็นกระแสทางเลือกและทางออกที่อาจตอบโจทย์โดยใช้ทุนท้องถิ่นที่มีอยู่ และเป็นพื้นที่ชีวิต จิตวิญญาณของเราได้  

 

ผู้ที่สนใจสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับ บ้านดินได้ที่
เฟสบุ๊ฟกลุ่ม : บ้านดิน ตามแนวพี่โจน จันใด 
หรือสอบถามแลกเปลี่ยนกับ สุณิสา นัดวิไล FB: nalantha.hema กันได้เลย


 

เรียนรู้ ‘บ้านดิน’ ในยุคโลกร้อน กับ ‘โจน จันใด’
เรียนรู้ ‘บ้านดิน’ ในยุคโลกร้อน กับ ‘โจน จันใด’
เรียนรู้ ‘บ้านดิน’ ในยุคโลกร้อน กับ ‘โจน จันใด’
เรียนรู้ ‘บ้านดิน’ ในยุคโลกร้อน กับ ‘โจน จันใด’
เรียนรู้ ‘บ้านดิน’ ในยุคโลกร้อน กับ ‘โจน จันใด’
เรียนรู้ ‘บ้านดิน’ ในยุคโลกร้อน กับ ‘โจน จันใด’
เรียนรู้ ‘บ้านดิน’ ในยุคโลกร้อน กับ ‘โจน จันใด’
เนื้อหาล่าสุด