Skip to main content

Ska Art Patani วาดเส้นบ้านไม้โบราณ รำลึกความหลังและวิถีชีวิตคนมลายู

26 พฤษภาคม 2567

มูฮำหมัด ดือราแม

 

ซาการียา ดือเระ ศิลปินวาดเส้นบ้านไม้มลายูโบราณ เจ้าของสตูดิโอ Ska Art Patani & Studio - วาดเส้นสร้างสรรค์ ที่บ้านควน ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี งานศิลปะแบบนี้ เรียกว่า ศิลปะการวาดเส้นบนผ้าใบ ลักษณะเด่นของงานวาดเส้น คือ การโชว์แสงและเงา ทำให้เกิดมิติในภาพวาด เพราะความสมจริงของงานวาดเส้นคือต้องมีแสงเงา

“ผมวาดบ้านเปล่าๆ ไม่มีรูปคนหรือสิ่งมีชีวิตใดๆ เพราะอยากให้รู้สึกเงียบเหงา ซึ่งความเงียบเหงานั้นมันจะชวนให้นึกถึงอดีตว่า บ้านของเราสมัยก่อนก็เป็นแบบนี้แหละ แล้วก็จินตนาการไปว่า มีไก่อยู่ตรงนั้น ฉันเคยนั่งตรงนี้” ซาการียา กล่าว

 

มีบ้านหลังหนึ่งที่ตันหยงลูโล๊ะ ใกล้มัสยิดกรือเซะ ซึ่งไม่มีใครอยู่แล้ว พอวาดเสร็จลูกหลานเจ้าของบ้านมาเห็นก็บอกว่า นี่บ้านของเรา เขาเคยอยู่ที่นี่ เคยนั่งตรงนอกชาน เคยวิ่งเล่นรอบบ้าน รู้สึกดีใจมากที่มีคนวาดภาพบ้านของเขา ทำให้ได้รำลึกความหลัง


วาดเส้นบ้านไม้มลายู ศิลปะนำสู่ความหลังและเรื่องเล่าประวัติศาสตร์

ซาการียา เล่าถึงจุดเริ่มต้นการวาดเส้นบ้านไม้มลายูโบราณว่า หลังเรียนจบศิลปกรรมทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อปี 2559 ได้จับงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับบ้านเกิดโดยตรง เพราะเพื่อนๆ ต่างก็มีงานศิลปะภาพวาดของตนเอง เช่น ลายดอกไม้มลายูบนช่องลมบ้าน เขาจึงเอาตัวบ้านมลายูโบราณมาวาดเส้นอย่างเดียวเพราะยังไม่มีใครทำ ส่วนใหญ่เป็นศิลปินวาดเส้นพร้อมลงสี

“ผมเริ่มจากการเดินหาบ้านไม้เก่าๆ ในหมู่บ้านก่อน แล้วก็พบ 3 หลัง แต่มีเพียงหลังเดียวที่ยังสมบูรณ์อยู่ จึงนั่งวาดตรงนั้นเลย แล้วเอาลงโซเชียลมีเดีย จากนั้นปรากฏว่า มีคนส่งรูปบ้านมาให้วาด แล้วเล่าเรื่องของบ้านหลังนั้นไปด้วยว่า มีอายุเท่าไหร่ ใครเคยอยู่บ้านหลังนี้ บางหลังเกี่ยวข้องกับสมัยสงครามญี่ปุ่นยังไง ทำให้รู้สึกว่าการวาดภาพบ้านไม้มลายูโบราณไม่เสียเปล่า ทำให้เรารู้ประวัติศาสตร์ของบ้านเก่าๆ ไปด้วย” ซาการียาเล่า

ซาการียา เล่าว่า มีบ้านหลังหนึ่งที่ตันหยงลูโล๊ะ (ใกล้มัสยิดกรือเซะ) ซึ่งไม่มีใครอยู่แล้ว พอวาดเสร็จลูกหลานเจ้าของบ้านมาเห็นก็บอกว่า นี่บ้านของเรา เขาเคยอยู่ที่นี่ เคยนั่งตรงนอกชาน เคยวิ่งเล่นรอบบ้าน รู้สึกดีใจมากที่มีคนวาดภาพบ้านของเขา ทำให้ได้รำลึกความหลัง

อีกครั้งที่ไปวาดภาพมัสยิดหลังเก่า ที่บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี วาดเสร็จชาวบ้านที่ไม่รู้มาก่อนว่ามีมัสยิดหลังเก่าอยู่ตรงซอกนั้นก็ได้รู้ว่ามันมีอยู่ แต่ตอนนี้กลายเป็นที่สอนนักเรียนตาดีกาไปแล้ว

 


วาดภาพไป ฟังประวัติศาสตร์ของบ้านไปด้วย

ซาการียา บอกว่า การวาดภาพบ้านมลายูโบราณ เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านการบอกเล่าของลูกหลานของเจ้าของบ้านหลังนั้น ซึ่งเขาก็ไม่ได้วาดภาพเพียงอย่างเดียว แต่ได้ไปฟังประวัติของบ้านด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้คิดว่าก่อนจะวาดภาพ จะต้องตระเวนดูบ้านกับคนในชุมชนก่อน แล้วถามว่าบ้านแต่ละหลังมีที่มาที่ไปยังไง ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ไม่มากแล้ว

ซาการียา กล่าวว่า จากการแสดงภาพวาดของเขาในงานต่างๆ พบว่า คนอายุ 30 ปีขึ้นไปดูแล้วจะมีความรู้สึกรำลึกถึงความหลัง ส่วนเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีความรู้สึกอย่างนั้น แต่พวกเขาสัมผัสได้ว่าเป็นบ้านเก่า

ยกเว้นภาพที่วาดตามออเดอร์อาจจะไม่มีเรื่องเล่ามาด้วย แต่คนที่ส่งภาพมาให้วาดเห็นความสวยงามของบ้านหรืออาคารสถานที่ เช่น มัสยิดอัลอักซอ หรือมัสยิดกรือเซะที่เขาอยากให้มีภาพมัสยิดกับภาพปืนใหญ่พญาตานีอยู่คู่กัน เป็นต้น

 

การวาดภาพบ้านมลายูโบราณ เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านการบอกเล่าของลูกหลานของเจ้าของบ้านหลังนั้น ซึ่งเขาก็ไม่ได้วาดภาพเพียงอย่างเดียว แต่ได้ไปฟังประวัติของบ้านด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้คิดว่าก่อนจะวาดภาพ จะต้องตระเวนดูบ้านกับคนในชุมชนก่อน แล้วถามว่าบ้านแต่ละหลังมีที่มาที่ไปยังไง ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ไม่มากแล้ว


วาดเส้นล้วนๆ ทำตามความชอบ

ซาการียา เล่าว่า ภาพวาดลายเส้นชุดแรกของเขาเป็นภาพขนาดเล็ก 15 ชิ้น วาดเมื่อปี 2562 นำไปแสดงที่ร้านกำปงกู(ร้านมิตรไมตรีในตัวเมืองปัตตานีปัจจุบัน) ตอนนั้นยังฝึกวาดเส้นบ้านมลายูโบราณอยู่ ยังไม่มีข้อมูลอะไรมาก จึงต้องทำการบ้านและหาข้อมูลบ้านไม้มลายูเก่าๆ ว่ามีที่มาอย่างไร มีใครรวบรวมข้อมูลไว้บ้าง

“เทคนิคการวาดเส้นของผม ไม่มีสีเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการวาดเส้นล้วนๆ ด้วยปากกาหมึกซึม เราใส่สีมันจะให้ความรู้สึกต่างไปจากที่ทำอยู่ ผมอยากใช้ปากกาอย่างเดียวก็เพื่อจะฝึกความมั่นใจของตัวเองด้วย” ซาการียา กล่าว

 


วาดภาพเพื่อสนองตามสิ่งที่เราชอบ ราคาของภาพจะมาเอง

ซาการียา กล่าวว่า ภาพที่โชว์อยู่ในสตูดิโอเกือบทั้งหมดเป็นงานปริ้น ส่วนตัวงานจริงถูกซื้อไปหมดแล้ว คนซื้อไปตั้งที่ร้านหรือที่บ้าน เช่น ล่าสุดเจ้าของร้านทองมุสลิมพานิช อ.รามัน จ.ยะลา ซื้อภาพวาดบ้านเก่าไปเพื่อจะบอกลูกหลานว่า บ้านเดิมจริงๆของพวกเขาเป็นแบบนี้

ซาการียา กล่าวว่า บางคนซื้อไปสะสมก็มี เช่น ฝรั่งเนเธอร์แลนด์คนหนึ่งซื้อภาพขนาด A3 ชิ้นหนึ่งในราคา 20,000 บาท เป็นชิ้นแรกที่ได้ราคาสูงขนาดนี้ เป็นภาพบ้านเก่าที่บ้านสระมาลา ต.คลองมานิง อ.เมือง จ.ปัตตานี

“เราบอกคนอื่นได้ว่า การวาดภาพนั้นอย่าหวังจะเอาเงินก่อน แต่ให้วาดเพื่อสนองในสิ่งที่เราชอบก่อน ของที่เราชอบแน่นอนเราก็จะทำอย่างดีที่สุด ราคามันจะมาเอง เพราะคนที่อยากซื้อเขาชอบมากกว่าเราเสียอีก” ซาการียา กล่าว

 

“เราอยากมีส่วนเพื่อให้ลูกหลานเจ้าของบ้านมลายูโบราณได้มาเห็น แล้วกลับไปหาคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านว่า เราเคยมีบ้านแบบนี้หรือเปล่า แล้วคนเฒ่าคนแก่ก็จะเล่าให้ฟัง ทำให้เกิดการสนทนากันระหว่างกัน เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา และทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะวาดภาพบ้านมาลายูขึ้นมาด้วย”


แรงจูงใจจากประวัติศาสตร์และการต่อสู้

ซาการียา กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีและการต่อสู้ของคนปัตตานี ก็เป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งในการวาดเส้นบ้านมลายูโบราณของตนเองเหมือนกัน

โดยข้อค้นพบจากการวาดภาพบ้านไม้มลายูโบราณ เช่น 

  1.  มีบ้านสมัยเดียวกับมัสยิดกรือเซะ มีอิฐชนิดเดียวกันเป็นส่วนประกอบของบ้าน
  2.  บ้านมลายูที่มีช่องลมลวดลายบ่งบอกว่า เจ้าบ้านเป็นข้าราชการในอดีตหรือคนมีฐานะ ส่วนบ้านคนทั่วไปใช้ผนังสังกะสีและไม่มีช่องลม
  3. บ้านของคนพุทธกับคนมลายูในอดีตมีลักษณะคล้ายๆ กัน แสดงว่ามาจากวัฒนธรรมเดียวกัน ส่วนที่ต่างกันคือ บ้านคนพุทธไม่มีช่องลมที่มีลวดลาย
  4.  บ้านในแต่ละพื้นที่ใต้ถุนบ้านจะมีสิ่งของเครื่องใช้ต่างกัน โดยบ้านริมทะเลจะมีอุปกรณ์ทำประมง ส่วนบ้านในที่ราบลุ่มใต้ถุนบ้านมีอุปกรณ์ทำนาหรือกรีดยาง และบ้านในพื้นที่ภูเขามีสิ่งของเครื่องใช้ต่างออกไป
  5.  หน้าจั่ว รวมถึงลวดลายช่องลมจะต่างกันในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะวังเก่า เช่น วังเก่าที่ปัตตานี วังเก่าที่ระแงะ วังเก่าที่ยาลอ

ซาการียา กล่าวว่า ความแตกต่างเหล่านั้นบ่งบอกอาชีพและชนชั้นทางสังคมที่ต่างกัน ซึ่งแม้ทุกคนสามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้ได้ แต่ที่เหนือกว่าภาพถ่ายคือการวาดรูป ซึ่งศิลปินแต่ละคนมีจุดเน้นและความโดดเด่นต่างกัน เช่น การวาดเส้น วาดสีน้ำหรือสีน้ำมัน ก็จะให้อารมณ์ที่ต่างกันด้วย

 


เป้าหมายต่อไป ส่วนประกอบของบ้าน และของใช้ในบ้าน

ซาการียา กล่าวว่า เคยนำผลงานออกจัดหลายครั้ง ถ้าเป็นงานวาดสดต้องจัดต่อเนื่อง 2 วัน ภาพที่วาดได้เร็วต้องเป็นภาพขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นงานละเอียดก็ใช้เวลาไม่เกินสัปดาห์ ช่วงนี้กำลังวาดภาพบ้าน 2 ชิ้นตามออเดอร์ แต่เป็นภาพวาดเส้นและลงสีเสมือนจริง

ซาการียา กล่าวว่า เป้าหมายต่อไปจะวาดเส้นส่วนประกอบของบ้าน เช่น หน้าต่าง แล้วก็สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน เช่น กระต่ายขูดมะพร้าว ข้าวของเครื่องใช้ กรงนก การแต่งตัว เป็นช็อตๆ ไปเริ่มจากตัวบ้านก่อน

“ก่อนหน้านี้ ผมมีความตั้งใจที่จะวาดภาพบ้านมลายูบนผนังให้ครบทั้ง 3 จังหวัด สุดท้ายก็ได้ทำครบตามที่ตั้งใจ โดยภาพบนผนังจุดแรก ใกล้กับร้านสถานีย่างเนยในตัวเมืองปัตตานี”

 


จุดสูงสุดของศิลปิน คือมีสตูดิโอของตัวเอง

ซาการียา กล่าวว่า สตูดิโอของเขาตั้งมาครบ 1 ปีแล้ว เพราะจุดสูงสุดของศิลปิน คือ การมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง ถ้าไม่มี ก็จะถูกดูถูกและไม่ได้รับเกียรติจากคนในวงการศิลปินด้วยกัน เวลาออกงานหรือไปขายงาน ก็จะถูกถามว่าเป็นศิลปินแบบไหน มีหลักแหล่งหรือเปล่า หรืออยู่ในสังกัดใคร เพราะบางคนจะอยู่กับแกลอรี่ใหญ่ๆ ที่ไม่ใช่ของตัวเอง

“คนเนเธอร์แลนด์ที่มาซื้อภาพวาดเส้นของผม เขาก็โทรมาเช็คก่อนว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า ให้ส่งภาพสตูดิโอไป ซึ่งตอนนั้นยังสร้างไม่เสร็จ ภาพวาดยังวางระเกะระกะอยู่ แต่เขาก็เห็นความตั้งใจของผม ถ้าไม่มีสตูดิโอหรือไม่มีสังกัด เหมือนไม่มีหลักแหล่ง กลายเป็นศิลปินพเนจร ไม่มีใครรู้จักและไม่มีใครอยากรู้จักด้วยซ้ำ ถ้าเรามีสตูดิโอแม้จะเป็นสตูดิโอเล็กๆ แต่คนก็มาหาเราได้” ซาการียา กล่าว

 


พร้อมแสดงเดี่ยว ประกาศศักดางานศิลป์

ซาการียา กล่าวด้วยว่า การแสดงผลงานเดี่ยวเป็นความใฝ่ฝันของศิลปินทุกคน เป็นการประกาศศักดาว่าเราไม่ได้ทำกันเล่นๆ เราอยู่ได้กับงานศิลปะ เป็นอาชีพหลักได้ และยังเป็นนำเสนอเรื่องราวผ่านงานศิลปะด้วย

ซาการียา กล่าวว่า กลุ่มศิลปินวาดภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มศิลปินช่าง และกลุ่มศิลปินอิสระ โดยศิลปินช่างเป็นศิลปินที่รับวาดรูปทั่วไปเหมือนดีบที่เขาทำอยู่ ส่วนศิลปินอิสระนั้นจะไม่รับงานวาดรูปทั่วไป แต่จะวาดรูปสำหรับแสดงหรืองานคอมโพส ทำเฉพาะงานชิ้นเดียวของตัวเอง ถ้าขายได้ก็ขาย ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

 


กว่าจะสร้างตัวตนได้ ไม่ใช่ง่ายๆ

ซาการียา บอกว่า ศิลปินที่ไม่มีตัวตนก็มีเยอะเพราะไม่มีใครให้โอกาส ทำให้ไม่มีใครเห็นตัวตนของเขาและเขาเองก็ไม่ได้ผลักดันตัวเองมากนัก ส่วนตัวเขาเองโชคดีที่เป็นครูอยู่ด้วย อย่างน้อยก็สามารถเผยแพร่ผลงานผ่านทางโรงเรียนให้นักเรียนและครูได้รู้จัก และสามารถออกโชว์ผลงานนอกพื้นที่ได้ ซึ่งใน 3 จังหวัดก็มีหลายงานที่มีการแสดงงานศิลปะด้วย โดยดึงนักเรียนไปร่วมงานด้วยเช่นกัน

“ผมเองกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องสู้หลายอย่าง เมื่อก่อนไม่มีใครเห็น ก็ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง เพื่อให้ มีตัวตนขึ้นมา และโชคดีอีกเช่นกัน ที่เคยร่วมงาน Pattani Decoded 2022 ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น” ซาการียา กล่าว

ซาการียา กล่าวว่า บางคนบอกลูกหลานว่าอย่าไปเรียนเลยศิลปะ เรียนไปก็หางานทำไม่ได้ ภาพวาดก็ขายไม่ได้ คนในครอบครัวตนเองยังมองไม่เห็นว่า งานศิลปะมันมีคุณค่าอย่างไร กว่าที่พ่อแม่จะเข้าใจ ก็ต้องยืนหยัดต่อสู้ให้ได้จนถึงทุกวันนี้

“ก่อนที่จะมีสตูดิโอของตัวเองขึ้นมาได้ ผมเก็บความรู้สึกมานาน ถูกตั้งคำถามบ่อย ผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจก็มีเยอะ ผมต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง โดนมาเยอะกว่าคนอื่น แต่ตอนนี้ก็ทำได้มาเยอะแล้ว”

 

"ผมนำเสนอว่า ความเป็นมลายูนั้นมีหลากหลาย ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน แม้กระทั่งที่อยู่อาศัย ผมไม่ได้วาดตามความต้องการของตัวเอง อย่างเดียว ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ไม่ใช่เพื่อความสวยงามหรือเพื่อทำขายอย่างเดียว”


เปิดมุมมองคนกรุงเทพ มาเลเซียและปาตานี ต่องานศิลปะ

ซาการียา เล่าว่า เขาเคยไปแสดงผลงานหลายครั้ง ทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่ และที่ประเทศมาเลเซีย เห็นการให้ความสำคัญกับงานศิลปะที่ต่างกันระหว่างคนกรุงเทพฯ คนมาเลเซีย และคนปาตานีเอง

“ผมไปแสดงผลงานที่กรุงเทพฯ พบว่า เขาค่อนข้างมองอย่างดูถูก แต่เป็นโอกาสที่ผมได้อธิบายว่า เรามีเชื้อสายมลายู บ้านของคนมลายูใน 3 จังหวัดเป็นแบบนี้ ซึ่งก็เปลี่ยนความคิดของเขาได้”

“แม้มันไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา แต่มีความหมายสำหรับผม ผมนำเสนอว่า ความเป็นมลายูนั้นมีหลากหลาย ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน แม้กระทั่งที่อยู่อาศัย ผมไม่ได้วาดตามความต้องการของตัวเอง อย่างเดียว ทุกอย่างมีที่มาที่ไป ไม่ใช่เพื่อความสวยงามหรือเพื่อทำขายอย่างเดียว” ซาการียา กล่าว

ส่วนคนมาเลเซีย ซาการียากล่าวว่า จะให้ความสนใจและให้ความสำคัญมากๆ โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างบ้านมลายูที่ปาตานีกับบ้านมลายูในมาเลเซีย ทั้งด้านรูปแบบและประวัติศาสตร์

“เมื่อมีการแบ่งเขตแดน การดูแลรักษาบ้านมลายูโบราณในฝั่งไทยกับฝั่งมาเลเซียก็ต่างกัน ในมาเลเซียรัฐดูแลอย่างดี เพราะเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติอยู่แล้ว แต่บ้านมลายูโบราณในบ้านเรา เราต้องดูแลรักษากันเอง ไม่งั้นเสร็จแน่ หายไปหมด” ซาการียา กล่าว

 

“เมื่อมีการแบ่งเขตแดน การดูแลรักษาบ้านมลายูโบราณในฝั่งไทยกับฝั่งมาเลเซียก็ต่างกัน ในมาเลเซียรัฐดูแลอย่างดี เพราะเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติอยู่แล้ว แต่บ้านมลายูโบราณในบ้านเรา เราต้องดูแลรักษากันเอง ไม่งั้นเสร็จแน่ หายไปหมด”


คนปาตานีหนักสุด ยังมองศิลปะไม่ออก ไม่ให้ค่า

ซาการียา กล่าวว่า คนในพื้นที่หนักกว่าคนกรุงเทพฯอีก มองศิลปะอย่างเข้าไม่ถึง พูดตรงๆ ก็คือ ตั้งแต่ออกงานแสดงผลงานศิลปะมา การให้คุณค่ากับงานศิลปะยังไม่มี บางคนบอกว่าอะไรเนี่ย แบบนี้ไม่น่าจะขายได้ สีก็ไม่มี นอกจากเข้าไม่ถึงแล้วยังดูถูกด้วย แต่คนที่ให้คุณค่าก็มี แต่น้อย

“หลายคนเอามือไปถูไถ ผมนี่มองดูน้ำตาจะไหล ถ้าเป็นงานจริงคงร้องไห้แน่ ดีที่เป็นงานปริ้น แสดงว่าคนยังเข้าไม่ถึง โอกาสที่เขาจะรับเรื่องนี้ยังยากอยู่ ถ้าจะทำให้ถึงจุดนั้นได้ต้องจัดอีเว้นท์บ่อยๆ ในระดับหมู่บ้านเลย เพราะคนในหมู่บ้านถ้าจะไปดูงานศิลปะในเมืองก็คงจะยากหน่อย” ซาการียา กล่าว

ซาการียา บอกว่า ยังมีคนถามด้วยว่า ทำไมไม่สร้างสตูดิโอแบบบ้านมาลายู อย่างแรกคือไม่มีช่างที่สร้างบ้านมลายูได้ สองคือค่าใช้จ่ายสูง ไม้มีราคาแพง ต้องใช้งบประมาณสูง จึงมีหลายปัจจัยที่ทำไม่ได้

 


งานวาดลายเส้น สร้างบทสนทนาระหว่างวัย

ซาการียา กล่าวว่า เขาหวังว่า ทุกงานกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานศาสนา การศึกษาหรือวัฒนธรรม อยากให้มีงานแสดงศิลปะด้วย เพราะงานวัฒนธรรมส่วนใหญ่ที่จัดขึ้นในช่วงนี้ มักให้ความสำคัญกับงานว่าวท้องถิ่น งานคัดลายมือภาษามลายู (ค็อต) งานเครื่องแต่งกาย และอาหารการกิน แต่งานศิลปะการวาดเส้นก็เกี่ยวข้องกับความเป็นมลายูด้วยเช่นกัน

“เราอยากมีส่วนเพื่อให้ลูกหลานเจ้าของบ้านมลายูโบราณได้มาเห็น แล้วกลับไปหาคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านว่า เราเคยมีบ้านแบบนี้หรือเปล่า แล้วคนเฒ่าคนแก่ก็จะเล่าให้ฟัง ทำให้เกิดการสนทนากันระหว่างกัน เกิดเป็นประเด็นขึ้นมา และทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะวาดภาพบ้านมาลายูขึ้นมาด้วย” ซาการียา กล่าว

ซาการียา กล่าวว่า ยังไม่เคยแสดงงานศิลปะกลางแจ้งในหมู่บ้านของตัวเอง แต่ที่อื่นเคยทำหลายครั้งแล้ว แต่ได้วาดรูปที่ประตูชัยหน้ามัสยิดในหมู่บ้าน โดยมีเด็กๆ มาร่วมเพ้นท์สี ผู้ใหญ่ก็มาช่วยกันเยอะ แต่เนื่องจากไม่มีคนที่รู้เรื่องและเข้าใจงานศิลปะ เขาก็เลยไม่รู้จะเล่นยังไง ซึ่งครั้งนั้นก็ทำให้คนเห็นว่าการเรียนศิลปะไม่สูญเปล่า

 

ชมผลงานภาพวาดลายเส้นของ ซาการียา ดือเระ Ska Art Patani & Studio - วาดเส้นสร้างสรรค์
 


 

Ska Art Patani วาดเส้นบ้านไม้โบราณ รำลึกความหลังและวิถีชีวิตคนมลายู
Ska Art Patani วาดเส้นบ้านไม้โบราณ รำลึกความหลังและวิถีชีวิตคนมลายู
Ska Art Patani วาดเส้นบ้านไม้โบราณ รำลึกความหลังและวิถีชีวิตคนมลายู
Ska Art Patani วาดเส้นบ้านไม้โบราณ รำลึกความหลังและวิถีชีวิตคนมลายู
Ska Art Patani วาดเส้นบ้านไม้โบราณ รำลึกความหลังและวิถีชีวิตคนมลายู
Ska Art Patani วาดเส้นบ้านไม้โบราณ รำลึกความหลังและวิถีชีวิตคนมลายู
Ska Art Patani วาดเส้นบ้านไม้โบราณ รำลึกความหลังและวิถีชีวิตคนมลายู
เนื้อหาล่าสุด