Skip to main content

'ฝายมีชีวิต’ แห่งแรกในนราธิวาส หน้าแล้งไม่เคยขาดน้ำ

8 พฤษภาคม 2567

มูฮำหมัด ดือราแม

 

ตั้งแต่ทำ ‘ฝายมีชีวิต’ มา 6 ปี ลำธารไม่เคยแห้ง

 

“ลำธารยังไม่เคยแห้งเลยตั้งแต่ทำฝายมีชีวิตมาเมื่อ 6 ปีแล้ว”

นั่นคือคำยืนยันของ อับดุลฮาลิม วาเซ็ง อายุ 65 ปี  โต๊ะอิหม่ามมัสยิดบ้านสาวอฮูลู ต.สาวอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถึงผลที่ได้จากการที่ชาวบ้านร่วมกันทำ “ฝายมีชีวิต” กั้นลำธารน้ำที่ไหลลงมาจากเขาสาวอ ซึ่งในช่วงแกก็ไม่เชื่อว่าจะได้ผลดี น้ำไม่แห้งในหน้าแล้ง

“เมื่อก่อนพอหน้าแล้งน้ำก็แห้งหมด แต่หลังจากทำฝายแล้ว น้ำไม่เคยแห้งเลย มะพร้าวเนื้อหนา น้ำในบ่อก็สูบไปได้ปกติ แถมยังผันน้ำเข้านาทำนาได้ด้วย ต้นไม้ริมน้ำก็สดชื่นหมด ไม่เหี่ยวเฉา คนที่เพาะปลูกก็สูบน้ำในลำธารไปรดต้นไม้ได้ไม่หมด” โต๊ะอิหม่ามฮาลิมเล่า

โต๊ะอิหม่ามฮาลิมบอกว่า ก่อนหน้านั้นชาวบ้านต้องทนทุกข์ทรมานจากการขาดน้ำในฤดูแล้ง และต้องทิ้งที่นาให้ร้างยาวนานถึง 13 ปี เนื่องจากไม่มีน้ำทำนา ซึ่งเป็นผลกระทบจากโครงการขุดลอกคลองของหน่วยงานในท้องถิ่น ทำให้เก็บน้ำไว้ไม่อยู่ สัตว์น้ำหายไปกับตา ต้นไม้ริมน้ำถูกขุดออกไปหมด

โต๊ะอิหม่าม เล่าว่า หลังจากทำฝายมีชีวิตในปีแรกก็ทำนาได้เลย และได้ข้าวดีด้วย  ซึ่งพื้นที่หมู่บ้านสาวอฮูลูมีที่นามีอยู่ประมาณ 40-50 ไร่ แปลงท้ายสุดอยู่ห่างจากฝายประมาณ 200 เมตร

“สังเกตได้ว่าบริเวณที่ต้นไม้เขียวขจีในหน้าแล้งกินพื้นที่ไปถึงถนนทางเข้าหมู่บ้าน น้ำในดินมีเยอะและระดับน้ำก็ไม่ลึก แต่ก็น่าจะกินพื้นที่เกินกว่านั้น เพราะดูแค่ระดับน้ำในบ่อน้ำที่มีอยู่แถวนั้นเอง” โต๊ะอิหม่ามฮาลิมบอก (ระยะห่างจากที่ตั้งฝายถึงแนวถนนวัดจากแผนที่ใน google map อยู่ประมาณ 150 เมตร)

 

“เมื่อก่อนพอหน้าแล้งน้ำก็แห้งหมด แต่หลังจากทำฝายแล้ว น้ำไม่เคยแห้งเลย มะพร้าวเนื้อหนา น้ำในบ่อก็สูบไปได้ปกติ แถมยังผันน้ำเข้านาทำนาได้ด้วย ต้นไม้ริมน้ำก็สดชื่นหมด ไม่เหี่ยวเฉา คนที่เพาะปลูกก็สูบน้ำในลำธารไปรดต้นไม้ได้ไม่หมด” 

โต๊ะอิหม่ามฮาลิม วาเซ็ง


หน้าแล้งสูบน้ำไปเท่าไหร่ น้ำก็ไม่แห้ง

 

ลำธารสาวอฮูลู สายนี้ มีระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตรเศษนับจากตีนเขาสาวอ ปัจจุบันมีต้นไม้ริมน้ำขึ้นอยู่หนาแน่น ในลำธารยังเห็นร่องรอยการขุดลอกเมื่อหลายปีก่อน และมีฝายปูนซีเมนต์แทรกอยู่ในที่รก กับประตูน้ำคอนกรีตร้างที่สร้างขวางลำน้ำไว้ในบริเวณใกล้เคียงกัน

ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ฝนไม่ตกมา 4 เดือนแล้ว แสงแดดแผดเผาหญ้าจนแห้งกรอบ แต่ต้นไม้ใหญ่ยังเขียวชอุ่มอยู่ สวนทุเรียนข้างลำธารยังแตกยอดอ่อนเหมือนไม่แคร์อากาศร้อนตับแตกเลย ที่ดินบางแปลงเจ้าของได้ขุดสระน้ำไว้ สังเกตได้ว่าระดับน้ำในสระอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินไม่ถึง 1 เมตรเท่านั้น

ส่วนในลำธารยังมีน้ำขังอยู่เยอะทางด้านเหนือของฝายมีชีวิต และตามแนวลำธารขึ้นไปอีกหลายจุดโดยเฉพาะบริเวณ “ท้องช้าง” ที่ชาวบ้านโกยทรายออกให้ลึกกว่าเดิมเพื่อตักน้ำหรือตั้งเครื่องสูบน้ำไปรดต้นไม้ ชาวบ้านยืนยันว่า “สูบไปเท่าไหร่ก็ไม่แห้ง”

 


เพิ่มระดับน้ำในดิน เก็บสะสมไว้ใช้ยามหน้าแล้ง

 

ประโยชน์ที่แท้จริงของฝายมีชีวิต ไม่เพียงช่วยชะลอการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่ทำให้น้ำมีเวลาซึมลงสู่ใต้ดินได้ เป็นการช่วยเติมน้ำใต้ดิน รวมทั้งทำให้บ่อบาดาล หรือบ่อน้ำตื้นที่เคยแห้งเหือดให้กลับมามีน้ำมากขึ้น

“นั่นคือการซับน้ำเก็บไว้ในดิน ทำให้ระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น แม้จะเห็นปริมาณน้ำนิดเดียวในลำธารในฤดูแล้ง แต่ต่อให้สูบน้ำไปใช้เท่าไหร่น้ำก็ไม่แห้ง เพราะมีน้ำต้นทุนสะสมในดินไหลมาเติมให้เหมือนเดิม” บาสรี มะเซ็ง หรือ “ปะดอ” ครูฝายมีชีวิตของเครือข่ายฝายมีชีวิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นชาว ต.สาวอ ยืนยัน

ปะดอบาสรี บอกว่า ฝายมีชีวิตจะทำให้น้ำซับในดินได้ไกลถึง 2 กิโลเมตร ถัดจากนั้นคือแห้ง แต่ฝายมีชีวิตของบ้านสาวอฮูลูเป็นฝายขนาดเล็กระยะน้ำซับอาจจะไม่มาก แต่เนื่องชาวบ้านเห็นผลจากการทำฝายในปีแรกเลย ทำให้เจ้าของสวนหลายคนไปทำฝายมีชีวิตขนาดเล็กๆ ในพื้นที่ของตนเองกระจายกันหลายที่ ทำให้มีลักษณะเหมือนหลุมขนมครก ผลดีก็คือ ทำให้ยกระดับน้ำในดินครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น

ปะดอ บอกว่า ฝายมีชีวิตบ้านสาวอฮูลู เป็นฝายมีชีวิตลำดับที่ 345 ของที่ลงทะเบียนในเครือข่ายฝายมีชีวิตแห่งประเทศไทย และเป็นฝายมีชีวิตตัวแรกของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างอย่างประณีตที่สุดด้วย

“ตอนแรกไม่มีใครเชื่อเลย ผมต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนในการทำความเข้าใจอย่างเดียว แต่พอชาวบ้านเห็นทำนบที่สร้างกับปูนซิเมนต์ทำตลิ่งพังในเวลาเพียงปีเดียว เท่านั่นแหละชาวบ้านจึงเชื่อ” ปะดอบาสรี กล่าว

 

ประโยชน์ที่แท้จริงของฝายมีชีวิต ไม่เพียงช่วยชะลอการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่ทำให้น้ำมีเวลาซึมลงสู่ใต้ดินได้ เป็นการช่วยเติมน้ำใต้ดิน รวมทั้งทำให้บ่อบาดาล หรือบ่อน้ำตื้นที่เคยแห้งเหือดให้กลับมามีน้ำมากขึ้น


ฝายมีชีวิต ‘แก้น้ำท่วม-น้ำแล้ง’ เลียนแบบธรรมชาติ

 

ฝายมีชีวิต เป็นฝายรูปแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยที่มีโครงสร้างจากธรรมชาติ โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่นำไปปักลงในลำน้ำเหมือนเสาเข็มเรียงกันผูกด้วยเชือก แล้วใช้ทรายบรรจุในกระสอบวางเรียงซ้อนกัน เป็นการยกระดับน้ำขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำและเป็นฝายน้ำล้นที่มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา

ใน คู่มือสร้างฝายมีชีวิต ของหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 32 จ.น่าน ระบุว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ต้องเลียนแบบธรรมชาติ คือ สายน้ำต่างๆ ต้องเก็บน้ำในหน้าฝนไว้บางส่วน ต้องให้น้ำซึมลงสู่พื้นดินทั้งสองฝั่ง และต้นไม้ได้ดูดขึ้นไปเก็บกักไว้เหมือนถังน้ำธรรมชาติ ต้องทำให้สัตว์น้ำต่างๆ สามารถข้ามไปมาได้เพื่อโอกาสในการขยายพันธุ์ และชุมชนต้องมีส่วนร่วม โดยไม่นั่งดูยืนดูทางราชการหรือเอกชนมาจัดการให้

การสร้างฝายมีชีวิต จึงไม่ใช้โครงสร้างแข็ง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ แต่ให้ใช้โครงสร้างจากธรรมชาติด้วยไม้ไผ่ ไม้กระถิน ไม้สน หวาย และวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น ได้แก่ เชือก ทรายและกระสอบ

ส่วนประกอบของฝายมีชีวิต 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ตัวฝาย 2) บันไดนิเวศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ช่วยให้ปลาหรือสัตว์น้ำข้ามผ่านไปได้และลดแรงกระแทกของน้ำ 3) หูช้าง ช่วยยึดโครงสร้างฝายกับตลิ่ง ตรงนี้จะปลูกไม้พื้นถิ่นไว้เมื่อโตขึ้นรากก็จะยึดตลิ่งไว้และป้องกันการกัดเซาะของน้ำได้ดี และ 4) เหนียวปิ้งหรือสามเหลี่ยมป้องกันแรงการกระแทกของน้ำ

ปะดอบาสรี บอกว่า พืชริมน้ำโดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่หลายชนิดที่โตขึ้นหลังจากสร้างฝายมีชีวิตจะยิ่งทำให้ชุ่มชื้นมากขึ้นไปอีก

“ถ้าเราสังเกตดีๆ ในหน้าแล้ง บริเวณรากไม้พวกนี้จะเป็นรากลอยและจะชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา หากมีป่าริมน้ำมากขึ้นนอกจากจะช่วยซับน้ำแล้ว ยังเป็นพื้นที่กรองสารพิษหรือสารเคมีจากการทำเกษตรที่จะไหลลงแหล่งน้ำได้ด้วย” ปะดอบาสรี บอก

ส่วนกรณีที่มีคนบอกว่า กระสอบทรายทำให้เกิดไมโครพลาสติกลงในแหล่งน้ำนั้น ปะดอบอกว่า “เราไม่เถียง แต่อยากให้รู้ว่า ปัญหาจริงๆ คือ ถ้าแหล่งน้ำที่ไม่มีน้ำ สุดท้ายชาวบ้านก็ทำเป็นที่ทิ้งขยะอยู่ดี”

 

การสร้างฝายมีชีวิต จึงไม่ใช้โครงสร้างแข็ง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ แต่ให้ใช้โครงสร้างจากธรรมชาติด้วยไม้ไผ่ ไม้กระถิน ไม้สน หวาย และวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น ได้แก่ เชือก ทรายและกระสอบ


บทเรียนบ้านสาวอฮูลู “13 ปี กว่าจะมีน้ำใช้”

 

ฟูอัด ตาเห ครูฝายมีชีวิตประจำบ้านสาวอฮูลู เล่าว่า ก่อนทำฝายมีชีวิตชาวบ้านถกเถียงกันว่า เหตุใดลำธารจึงแห้งทั้งที่ในอดีตก็เคยแล้งหนัก บางปีนานถึง 6 เดือน แต่ไม่ถึงกับขาดน้ำจนไม่มีจะใช้ และยังพบว่าในอดีตเคยมีลำธารหลายสายที่หายไป แต่ละสายมีชื่อเรียก ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าเคยมีลำธาร จากนั้นจึงได้ตามหาสายน้ำที่เหลืออยู่บนเขา เพราะบางสายยังมีน้ำอยู่เล็กน้อย แต่มีแนวโน้มจะหายอีกไม่นานหากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้

จากนั้นมีข้อเสนอให้ทำฝายชะลอน้ำ แต่เรื่องฝายมีชีวิตก็มีอยู่ในความคิดแต่ยังไม่มีเครื่องมือจะทำ จึงหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อนแล้วมาทดลองทำดู แต่ปรากฎว่ามันก็พังอยู่ดี กระทั่งได้เจอครูฝ่ายมีชีวิตตัวจริง คือ ปะดอ ซึ่งเคยทำฝายมีชีวิตที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา จึงเอามาทำบ้าง ผลที่ได้คือเริ่มมีน้ำ แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือได้ทำนาหลังจากทิ้งร้างไป 13 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จมากในปีแรก หลังจากนั้นชาวบ้านก็ทำนาได้ทุกปี

เมื่อเห็นผลดี ชาวบ้านก็เอาไปทำบ้างในสวนของตัวเอง ทำขนาดเล็กๆ ซึ่งรูปแบบอาจจะต่างจากฝายมีชีวิต แต่ก็มีผลลัพธ์ที่ดี ต้นยางพาราและปาล์มน้ำมันสมบูรณ์มากให้ผลผลิตดีเพราะไม่ขาดน้ำ ปัจจุบันฝายที่ชาวบ้านทำเองไม่เหลือสภาพฝายแล้ว เพราะมันกลับไปสู่สภาพธรรมชาติแล้ว มีต้นไม้ขึ้นเป็นป่าธรรมชาติ

หลังจากฝายมีชีวิตประสบความสำเร็จ ทำให้หมู่บ้านสาวอฮูลูกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจฝายมีชีวิตได้เข้ามาเรียนรู้หลายรุ่นแล้ว และที่นี่เองก็มี “ครูฝายจิตอาสา” หลายคน บางคนก็ออกไปให้ความรู้นอกพื้นที่ด้วย เช่นที่ อ.ธารโต จ.ยะลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งมีทั้งชุมชนพุทธและมุสลิม

“ที่นี่มีครูฝายมีชีวิตที่ผ่านการอบรมจากเครือข่ายฝายมีชีวิตแห่งประเทศไทยที่ จ.นครศรีธรรมราช 4 คน ผมก็คนหนึ่งด้วย” ฟูอัด กล่าว

 


ทำฝายมีชีวิต จิตใจต้องเข้มแข็ง ชาวบ้านต้องร่วมมือ

 

ฟูอัด ยังถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นครูฝายมีชีวิตด้วยว่า ปัญหาที่เจอจากการไปเป็นครูฝายให้พื้นที่ต่างๆ จนไม่สามารถทำได้และต้องถอยออกมา คือ

1. ความเป็นคนนอกพื้นที่ทำให้ถูกเพ่งเล็ง (ซึ่งปะดอแซวว่า ก็เป็นคนรือเสาะไงคนถึงระแวง) 
2. บางหมู่บ้านมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย คือ มีทั้งฝ่ายที่ต้องการและไม่ต้องการฝายมีชีวิต โดยฝ่ายที่ไม่ต้องการให้เหตุผลว่า กลัวพื้นที่ชุมชนที่อยู่ด้านล่างได้รับผลกระทบ
3. จุดที่จะสร้างฝายเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวกับโครงการของรัฐ ซึ่งอาจจะขัดกับผลประโยชน์ของคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น

แม้ว่าฝายมีชีวิต จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ แต่สุดท้ายก็มีหลายแห่งที่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีปัญหาความขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านต้องการ แต่ผู้นำในหมู่บ้านไม่สนับสนุน

ดังนั้น จะทำอย่างไรให้แนวคิดเรื่องฝ่ายมีชีวิตกระจายไปมากกว่านี้ และสามารถทำได้จริง
1.    การให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องฝายมีชีวิต
2.    ต้องมีการจัดตั้งกลุ่ม/องค์กรที่ชัดเจนในเรื่องการจัดการน้ำในหมู่บ้าน ต้องเป็นความต้องการของ ชุมชนจริงๆ จึงจะทำได้
3.    ชาวบ้านที่ต้องการฝายมีชีวิตต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะจะมีคนที่ไม่เห็นด้วยมาพูดให้หมดกำลังใจได้ เช่น ทำไปก็พัง

“ข้อสุดท้ายนี่ คือสิ่งที่เราเจอในหมู่บ้าน แต่ก็โชคดีที่ฝ่ายมีชีวิตทำให้เห็นผลเกิดขึ้นได้ภายในปีเดียว ก็คือ มีน้ำดี ทำนาได้และได้ผลดีหลังจากทิ้งร้างไป 13 ปี ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะไม่ได้ผลด้วยซ้ำ” ฟูอัด เล่า

ฟูอัด กล่าวว่า การทำฝายมีชีวิตนั้นแทบจะไม่ได้ใช้เงินทุนมากมาย เพราะส่วนใหญ่จะใช้วิธีขอความอนุเคราะห์วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของคนในหมู่บ้านนั่นเอง ความสำเร็จจึงจะเกิดขึ้น

“การที่เราทำให้มีน้ำกลับมาให้คนได้ใช้นั้น ยิ่งจะเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ดูแลสายน้ำมากขึ้น เพราะใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำไว้ให้อยู่ในดิน แล้วนำมาใช้ในยามหน้าแล้ง” ฟูอัดกล่าวทิ้งท้าย

 

 

‘ฝายมีชีวิต’ แห่งแรกในนราธิวาส หน้าแล้งไม่เคยขาดน้ำ
‘ฝายมีชีวิต’ แห่งแรกในนราธิวาส หน้าแล้งไม่เคยขาดน้ำ
‘ฝายมีชีวิต’ แห่งแรกในนราธิวาส หน้าแล้งไม่เคยขาดน้ำ
‘ฝายมีชีวิต’ แห่งแรกในนราธิวาส หน้าแล้งไม่เคยขาดน้ำ
‘ฝายมีชีวิต’ แห่งแรกในนราธิวาส หน้าแล้งไม่เคยขาดน้ำ
‘ฝายมีชีวิต’ แห่งแรกในนราธิวาส หน้าแล้งไม่เคยขาดน้ำ
‘ฝายมีชีวิต’ แห่งแรกในนราธิวาส หน้าแล้งไม่เคยขาดน้ำ