องอาจ เดชา
จากที่ราบสูงทิเบต สู่ลุ่มแม่น้ำเหลือง และเอเชียอาคเนย์
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ของ ชนเผ่าม้ง (Hmong) สันนิษฐานกันว่า ม้ง อพยพมาจากแถบที่ราบสูงทิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลไกวเจา ฮุนหนำ กวางสี และมณฑลยูนนาน โดยอาศัยอยู่ในประเทศจีนมาหลายศตวรรษ
จนกระทั่ง ประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 ราชวงค์แมนจู (เหม็ง) มีอำนาจในประเทศจีน ราชวงค์เหม็งได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปราบปราม เพราะเห็นว่า ผู้ชายม้งส่วนใหญ่รูปร่างหน้าตาคล้ายคนรัสเซีย ทำให้คนจีนคิดว่า ม้งเป็นคนรัสเซีย โดยให้ชาวม้งยอมจำนน และรับวัฒนธรรมของจีน นอกจากนี้ ยังถูกมองว่า ม้งเป็นพวกอนารยชนแห่งขุนเขา หรือคนป่าเถื่อน จึงได้มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ในเมืองพังหยุนในปี พ.ศ.2009 และการต่อสู้ในมณฑลไกวเจาในระหว่าง พ.ศ. 2276 - 2278 และการต่อสู้ในมณฑลเสฉวนในระหว่าง พ.ศ. 2306 – 2318
ในที่สุด ชาวม้งประสบความพ่ายแพ้ สูญเสียพลรบ และประชากรเป็นจำนวนมาก ชนเผ่าม้งจึงตัดสินใจอพยพถอยร่นสู่ทางใต้ กระจายเป็นกลุ่มย่อยๆ กลับขึ้นไปอยู่ตามป่าเขาบนที่สูงในแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา และอีกกลุ่มอพยพไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาว บริเวณทุ่งไหหิน เดียนเบียนฟู โดยมีหัวหน้าม้งคนหนึ่ง คือ นายพลวังเปา ได้รวบรวมม้ง และอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เป็นต้นมา
ชนเผ่าม้ง มีจุดเด่น จุดแข็ง มากกว่าชนเผ่าอื่น คือ ระบบครอบครัวและเครือญาติที่มีผูกพันแน่นแฟ้นในสายเลือดและเครือญาติเป็นอย่างมาก
ม้ง มีสองกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ม้งเด้อ (ม้งขาว) และ ม้งจั้ว (ม้งดำ หรือม้งน้ำเงิน) มีการจัดระบบเครือญาติตามตระกูลแซ่ ซึ่งตระกูลแซ่ของชาวม้งในประเทศไทยมีด้วยกันมากกว่า 13 ตระกูลแซ่ เช่น แซ่ย่าง แซ่ลี แซ่สง แซ่ท่อ แซ่เฮ่อ แซ่ว่าง แซ่ฟ่า แซ่มัว แซ่หัน แซ่คัง แซ่เล่า แซ่วือ แซ่จ๊ะ ฯลฯ ในแต่ละตระกูลแซ่จะมีผู้นำตระกูลแซ่เป็นหลัก จะไม่มีการแต่งงานในตระกูลแซ่เดียวกัน เมื่อมีงานหรือกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมสมาชิกในตระกูลแซ่ทุกคนจะมาช่วยเหลือร่วมไม้ร่วมมือกัน ปัจจุบันแต่ละตระกูลแซ่ จะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในตระกูลแซ่ด้วยกันเกือบทุกตระกูลแซ่ ปัจจุบัน ชาวม้ง อาศัยอยู่กระจัดกระจายในประเทศจีน ไทย เวียดนาม ลาว และสหรัฐอเมริกา
ในขณะกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 153,080 คน โดยชุมชนชาวม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั้นอยู่ที่ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
ส่วนในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีชนเผ่าม้ง อพยพมาตั้งถิ่นฐานกัน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ คือ บ้านสันปาเกี๊ยะ มีจำนวนประชากร ประมาณ 700 กว่าคน บ้านแม่มะกู้ มีประมาณ 300 กว่าคน และบ้านห้วยลึก ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนเผ่าม้งที่มีประชากรอาศัยอยู่รวมกันหนาแน่นมากที่สุดของอำเภอเชียงดาว ประมาณ 1,200 คน
พ่อเฒ่าไซตุ๊ ‘ช่างตีมีด’ สืบทอดงานฝีมือจากบรรพบุรุษ
เมื่อมีโอกาสเข้าไปเที่ยวชมวิถีชุมชนของพี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศไทย เราก็จะพบว่ามีปราชญ์ชนเผ่าที่มีองค์ความรู้ในแต่ละแขนงวิชาแตกต่างกันออกไป สำหรับชาติพันธุ์ม้งนั้นที่โดดเด่นมากที่สุด ก็คือ งานช่างฝีมือ ตีเหล็ก ทำเครื่องใช้ เครื่องประดับ การจักสาน การก่อสร้าง การเย็บผ้าปัก การเขียนลายเทียน
งานช่างตีเหล็ก ตีมีด ถือเป็นอีกหนึ่งวิชาที่มีความสำคัญ ส่วนใหญ่จะพบได้เฉพาะหมู่บ้านชาวม้ง ที่มีการสืบทอดวิชามาจากบรรพบุรุษ รุ่นปู่ รุ่นพ่อสืบต่อกันมาเนิ่นนาน ที่หมู่บ้านแม่มะกู้ ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เราได้ไปพบกับ พ่อเฒ่าไซตุ๊ แซ่หาง อายุ 75 ปี กำลังสาละวนอยู่กับการตีมีดอยู่อย่างขะมักเขม้นและช่ำชอง
พ่อเฒ่าไซตุ๊ เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ไม่นาน ไซตุ๊ หรือซะตุ๊ เป็นชื่อม้ง หมายถึง ลูกผู้ชาย พ่อเฒ่าเกิดและเติบใหญ่ที่บ้านขุนห้วยแม่เปา ต.สบเปา อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย หลังจากนั้น จึงพากันอพยพย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่มะกู้ (แม่ป๋ามนอก) เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา
พ่อเฒ่าไซตุ๊ ถือเป็นปราชญ์ชนเผ่าม้งเรื่องการตีมีด ซึ่งความรู้ภูมิปัญญาเรื่องการตีมีดนั้นสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จากพ่อสู่ลูกเรื่อยมา
โรงตีมีดของพ่อเฒ่า สร้างด้วยเพิงหมาแหงนอย่างง่ายๆ หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่าๆ ตั้งอยู่ด้านหน้ากระท่อมไม้ไผ่ ข้างๆ มีกองฟืนไม้สีแดงอมดำ วางซ้อนๆ กันไว้
“อันนี้คือไม้ฮัก เป็นไม้ที่ใช้สำหรับทำเป็นถ่านสำหรับตีมีด ไม้ที่ใช้เป็นถ่านแดงๆ สำหรับเอาแท่งเหล็กเผาไฟ ใช้ตีมีดนี้ ต้องเป็นไม้ฮักเท่านั้นนะ ถ้าเป็นถ่านไม้อื่น ไฟมันจะแตกใส่เรา แต่ไม้ฮักนี่มันไม่แตก แล้วก็ไฟมันจะร้อนพอดีๆ สม่ำเสมอ จะไม่ร้อนจนเกินไป” พ่อเฒ่าเผยเคล็ดลับประการหนึ่งของการตีมีด
ต้นฮัก หรือต้นรัก เป็นต้นไม้ในตระกูล Anacardiaceae มักพบในป่าดิบเขา และป่าเบญจพรรณ ชาวล้านนา เรียกว่า “ฮัก” หรือ “ฮักหลวง”
ที่ผ่านมา ชุมชนม้งบ้านแม่มะกู้ พยายามสืบทอดรักษาภูมิปัญญาชนเผ่าเรื่องการตีมีดนี้เอาไว้ ไม่ให้สูญหาย เมื่อสิบปีก่อน ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหางบประมาณมาจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการตีมีดให้กับพ่อเฒ่า ได้สืบทอดความรู้เรื่องการตีมีดเอาไว้ โดยพ่อเฒ่าได้ถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับลูกชายเอาไว้แล้ว
ลักษณะมีดของชนเผ่าม้ง จะไม่เหมือนกับชนเผ่าอื่น ชนเผ่าม้งจะมีการตีมีดตามสภาพการใช้งาน ถ้าเป็นงานหนักตัวมีดก็จะมีลักษณะใหญ่ แต่ถ้าใช้ในการดายหญ้าจะทำด้ามมีดให้ยาวเพื่อสะดวกในการฟันหญ้าหรือถ้าตัดไม้ก็จะทำตัวมีดใหญ่ขึ้น มีดของชนเผ่าม้ง ได้แก่ มีดด้ามยาว (เม้าจั๊ว) เคียวเกี่ยวข้าว ขวาน (เต่า) เป็นต้น
ทุกวันนี้ พ่อเฒ่าไซตุ๊ ยังคงตีมีดอยู่แต่ทำไปตามสภาพกำลังที่เริ่มถดถอย เมื่อมีชาวบ้านทั้งพี่น้องชนเผ่าและคนพื้นราบเข้ามาว่าจ้าง โดยพ่อเฒ่าตั้งราคาค่าตีมีดไว้ตามแต่ขนาดของมีด ในราคาไม่แพงนัก
“ถ้าเอามีดเก่ามาให้ตีใหม่ เฮาจะคิดเล่มละ 40-50 บาท แต่ถ้าจะสั่งทำมีดใหม่ ให้เฮาหาเหล็กแผ่นมาเผา มาตี ทำมีดให้ใหม่ ก็จะตกอยู่เล่มละ 300 - 700 บาท แล้วแต่ขนาดอีกทีหนึ่ง”
‘เลี้ยงผีโรงตีมีด’ พิธีกรรมเก่าแก่แต่โบราณ
“เตาไฟตีมีดนี้มีผีด้วยนะ เฮาต้องเลี้ยงผีด้วย พอถึงช่วงปีใหม่ เฮาจะฆ่าไก่ ทำพิธีเลี้ยงผีตรงนี้” พ่อเฒ่าเล่า
ในแต่ละปี พ่อเฒ่าไซตุ๊ จะทำการเลี้ยงผีให้กับโรงตีมีดนี้ ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
หากใครเดินทางมาเยือนชุมชนม้งบ้านแม่มะกู้ ก็จะเห็นพ่อเฒ่าไซตุ๊ ง่วนสาละวนอยู่ในโรงตีมีดหน้ากระท่อมไม้ไผ่ เป่าไฟให้ร้อนจนเป็นสีแดง ใช้คีมเหล็กคีบแผ่นเหล็กซุกเตาถ่านร้อนๆ สักพัก ก็คีบแผ่นเหล็กออกมาตีตรงท่อนเหล็กขนาดใหญ่ที่ตั้งปักยึดเข้ากับตอไม้ เสียงตีเหล็กดังปั๊กๆ ผ่านความชำนาญและเจนจัดของพ่อเฒ่า เสร็จแล้ว ก็ใช้คีมเหล็กคีบแผ่นเหล็กนั้นไปซุกในเตาไฟอันร้อนแรงนั้นอีกครั้ง ลงมือทำแบบนี้ หลายครั้งหลายรอบ จนกระทั่ง จากแผ่นเหล็กกลายมาเป็นมีดเล่มสวย โค้งงอ แข็งแรง และคม พร้อมสำหรับใช้งาน หรือบางครั้ง เราจะเห็นพ่อเฒ่าไซตุ๊ เดินถือมีด สะพายดาบ ย่างเดินไปตามหมู่บ้านโน้นหมู่บ้านนี้ ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อเร่ขายมีดที่เกิดจากทักษะฝีมือและภูมิปัญญาของเขา เมื่อขายมีด มีรายได้แล้ว พ่อเฒ่าจะเดินวกกลับมานั่งตรงด้านกระท่อมไม้ไผ่ของเขา เงียบๆ ตามลำพัง
ข้อมูลอ้างอิง
1. ฐานข้อมูล เรื่อง ชนเผ่าม้ง อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร, กำแพงเพชรศึกษา, สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร,
2. พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์
3. ม้งเชียงดาว คนเป่า “เฆ่ง” และตีเหล็ก,ภู เชียงดาว,นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 442 มกราคม 2565