Skip to main content

‘กีฬายิงธนู’ ฟื้นวัฒนธรรมมลายู หลักศาสนา พัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้

6 พฤษภาคม 2567

มูฮำหมัด ดือราแม


เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา เป็นที่รู้จักในพื้นที่ชายแดนใต้ฐานะศิลปินเซรามิคและสีครามชื่อดัง ทุกวันนี้ นอกจากการทำธุรกิจผลิตสินค้าเซรามิคในชื่อ Benjametha Ceramic ขายแล้ว เขายังเป็นนักกีฬายิงธนูด้วย

ทว่า เป้าหมายจริงๆ ในกีฬายิงธนูของเขานั้น ไม่ใช่เพื่อการแข็งขันอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการสร้างมิตรภาพ สันทนาการ และการดำเนินชีวิตตามแบบอย่าง หรือ ซุนนะห์ ของศาสดาแห่งอิสลาม “นบีมูฮัมมัด” ผู้ซึ่งมุสลิมมักกล่าว “ขอความสันติจงมีแต่ท่าน” ทุกครั้งเมื่อได้ยินชื่อนี้ และการขยายตัวของอิสลามในอดีตก็มาจากธนูนั่นเอง

เอ็มโซเฟียน ก่อตั้งกลุ่ม “HANNUS” บ้านธนูเดินดิน Derndin Archery ที่ จ.ปัตตานี และยังรวมกลุ่มเครือข่ายชมรมยิงธนู ทั้งจากปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา โดยมีการจัดกิจกรรมยิงธนูในงานต่างๆ หรือจัดการแข่งขันอย่างจริงจังหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี ประกอบกับความนิยมชมชอบกีฬายิงธนูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน

เอ็มโซเฟียน บอกว่า กิจกรรมกีฬายิงธนูจะเน้นเรื่องวัฒนธรรม เพราะจะมีการแต่งตัวตามวัฒนธรรม คือแต่งตัวตามวัฒนธรรมมลายู แต่หากมีคนนอกพื้นที่เข้ามาร่วมด้วยก็อาจจะแต่งตัวตามวัฒนธรรมของเขาได้ เช่น คนเชียงใหม่จะแต่งชุดล้านนามาร่วมกิจกรรมก็ได้ เป็นความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของคนเองรูปแบบหนึ่งด้วย

“เราเน้นการส่งต่อองค์ความรู้และสร้างทัศนคติเชิงบวกว่า ธนูไม่ใช่ความรุนแรง แต่ยังสอดแทรกคุณธรรมไว้ด้วย เราถือปรัชญาว่า คุณธรรมสำคัญกว่าทักษะ และเราต้องการสานสัมพันธ์และพลังความสามัคคีกัน นี่คือแนวคิดหลักๆ ของเรา” 

 

 


ยิงธนูทีหนึ่งก็เหมือนรายอ (เทศกาลฉลอง) ได้แต่งตัวด้วยชุดจัดเต็ม

 

เอ็มโซเฟียน บอกว่า เขาชอบกีฬายิงธนูและมีเครือข่ายยิงธนูอยู่แล้ว ซึ่งทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมยิงธนูหมุนเวียนไปตามจังหวัดต่างๆ  ก็จะเป็นโอกาสดีที่มาเชื่อมโยงสานสัมพันธ์กับพี่น้องกัน มีการจัดเวิร์คช็อปเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการยิงธนู นั่นเป็นสิ่งที่อยากให้ความสำคัญมากกว่า

เอ็มโซเฟียน บอกว่า ไม่อยากให้มองว่าธนูเป็นแค่เครื่องมือหรือกีฬาชนิดหนึ่ง แต่การยิงธนูนั้นยังมี “หิกมะห์” หรือ “วิทยปัญญา” ที่มากกว่านั้น คือ การเผยแพร่ความดีและมารยาทที่สวยงามของศาสนาอิสลาม ยืนยันว่า นี่มาจากคำสอนของท่านนบีที่ให้ฝึกยิงธนูและอ่านคัมภีร์อัลกุรอานไปด้วย

“เราเน้นการส่งต่อองค์ความรู้และสร้างทัศนคติเชิงบวกว่า ธนูไม่ใช่ความรุนแรง แต่ยังสอดแทรกคุณธรรมไว้ด้วย เราถือปรัชญาว่า คุณธรรมสำคัญกว่าทักษะ และเราต้องการสานสัมพันธ์และพลังความสามัคคีกัน นี่คือแนวคิดหลักๆ ของเรา” เอ็มโซเฟียน บอก

เมื่อการยิงธนูเป็นมากกว่ากีฬา เพราะมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนด้วยการแต่งชุดพื้นเมือง สำหรับที่นี่ก็จะเป็นการสร้างค่านิยมในการแต่งชุดมลายูในมิติต่างๆ มากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดกระแสความนิยมในการแต่งชุดมาลายู ซึ่งส่งผลทำให้เกิดรายได้ขึ้นมา นี่คือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง และเป็น soft Power อย่างที่หลายๆ ฝ่ายอยากให้เห็น

เอ็มโซเฟียน บอกว่า ตอนนี้ หลายๆ ภาคส่วนให้ความสำคัญกับกีฬายิงธนูมาก เพราะเห็นว่าเยาวชนสามารถดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้ และยังสร้างมิติในการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมได้อีกด้วย

“พวกเราพยายามนำเสนอให้โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่สอนการยิงธนู เพราะมีคุณูปการหลายอย่าง โดยเฉพาะในวิถีของมุสลิม ทำไมจึงไม่ให้โรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่ให้ความสนใจกีฬาชนิดนี้มากขึ้น เพราะสามารถไปแข่งขันได้ ทำกิจกรรมสันทนาการได้ ส่วนกีฬาประเภทอื่นก็ให้ดำรงไว้ได้” เอ็มโซเฟียน กล่าว

 

เมื่อการยิงธนูเป็นมากกว่ากีฬา เพราะมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนด้วยการแต่งชุดพื้นเมือง สำหรับที่นี่ก็จะเป็นการสร้างค่านิยมในการแต่งชุดมลายูในมิติต่างๆ มากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดกระแสความนิยมในการแต่งชุดมาลายู ซึ่งส่งผลทำให้เกิดรายได้ขึ้นมา นี่คือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรง และเป็น soft Power อย่างที่หลายๆ ฝ่ายอยากให้เห็น


ฝีมือไม่ธรรมดา ได้เป็นตัวแทนแข่งยิงธนูที่ประเทศตุรกี

 

ปัจจุบัน กีฬายิงธนูได้รับความนิยมสูงมากในพื้นที่ ไม่เพียงแค่กลุ่มหรือชุมนุมต่างๆ ที่จัดแข่งขันกันเอง แม้แต่ภาครัฐก็ยังมาสนับสนุนอย่างเป็นทางการด้วย อย่างเช่น การแข่งขันยิงธนูเทรดดี้ ROAD TO ISTANBUL เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ สนามฝึกขี่ม้ายิงธนู  MND HOURSE MOUNTAIN  อ.บันนังสตา จ.ยะลา

การแข่งขันยิงธนูเทรดดี้ ROAD TO ISTANBUL จัดโดยชมรมกีฬายิงธนู (NRD) จ.ยะลา ชมรมยิงธนูเทรดดี้ จ.ปัตตานี และสนามฝึกขี่ม้ายิงธนู MND HOURSE MOUNTAIN ซึ่งเอ็มโซเฟียนก็ได้เข้าร่วมแข่งขันด้วย

การแข่งขันครั้งนี้ เอ็มโซเฟียนเข่าร่วมแข่งขันในระยะยิง 50 เมตร และได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ในรุ่น OPEN ทำให้ได้ตั๋วไปแข่งขันในรายการ Conquest CUP ณ นครอิสตันบูล ประเทศสาธารณรัฐตุรกี ในวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2567 นี้ในฐานตัวแทนประเทศไทย

สำหรับการแข่งขันกีฬายิงธนูทั่วไป จะแบ่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นรุ่นต่างๆ ได้แก่ 
1. รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ชายและหญิง 
2. รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ชาย และหญิง 
3. รุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ชาย และหญิง
4. รุ่นทั่วไป ชายและหญิง OPEN (บางสนามอาจจะมีรุ่นพิเศษ OPEN ชาย-หญิง)


 

‘กีฬายิงธนู’ ฟื้นวัฒนธรรมมลายู หลักศาสนา และเศรษฐกิจชายแดนใต้
‘กีฬายิงธนู’ ฟื้นวัฒนธรรมมลายู หลักศาสนา และเศรษฐกิจชายแดนใต้
‘กีฬายิงธนู’ ฟื้นวัฒนธรรมมลายู หลักศาสนา และเศรษฐกิจชายแดนใต้
‘กีฬายิงธนู’ ฟื้นวัฒนธรรมมลายู หลักศาสนา และเศรษฐกิจชายแดนใต้
‘กีฬายิงธนู’ ฟื้นวัฒนธรรมมลายู หลักศาสนา และเศรษฐกิจชายแดนใต้