Skip to main content

‘ใส่ซัมบาย’ คนรุ่นใหม่ย้อมผ้าธรรมชาติ ฟื้นลมหายใจวิถีชุมชน

28 เมษายน 2567

คมกฤษ ดวงมณี

 

ช่วงสายที่แดดแรงเช่นนี้เหมาะกับการตากผ้าที่เพิ่งย้อมครามและมะเกลืออย่างยิ่ง “ดิว-นันท์ณภัส กมลสิรินันทิตา” จึงนำผ้าที่เพิ่งย้อมมาตากลงบนพื้นดินลูกรังหน้าบ้าน เพราะช่วยให้แห้งไวและสีติดทนนานกว่าการตากบนราวมาก

ดิวบอกว่า ไม่เพียงตากผ้าบนพื้นดินที่เธอเพิ่งเรียนรู้ว่า เป็นเทคนิคเพื่อป้องกันกลิ่นอับเท่านั้น แต่การทำผ้าย้อมครามสีธรรมชาติก็เป็นเรื่องที่ต้องนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่แรก เพราะตั้งแต่เรียนจบ เธอก็ทำงานในวงการโฆษณาที่กรุงเทพมหานครมาตลอด กระทั่งโรคมะเร็งคร่าชีวิตของแม่ไป  ทำให้ตกลงกับพี่ชายว่าต้องมีใครสักคนกลับมาอยู่เป็นเพื่อนที่บ้านกับพ่อที่ ต.ห้วยแห้ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ซึ่งดิวเป็นผู้เลือกกลับมาอยู่ที่ภูมิลำเนาเอง

การเสียสละครั้งนี้ ส่งผลให้พี่ชายและพ่อช่วยกันหางานรองรับดิว ด้วยการเลี้ยงตัวไหมส่งให้กับโรงงานสิ่งทอขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีระยะเวลาการเลี้ยงรอบหนึ่งราว 20 วัน เพื่อให้ยังมีรายได้

ดิวเล่าว่าเมื่อเข้าโครงการฝึกหัดเลี้ยงไหมครั้งแรกก็เจออุปสรรคหลายอย่าง โดยเฉพาะใจตัวเองที่เป็นคนกลัวหนอนมาก จึงต้องทำใจอยู่สักพัก และเมื่อเลี้ยงไปแล้วยังพบว่าหนอนไหมอ่อนไหวมากและต้องหมั่นดูแลและควบคุมคุณภาพใบหม่อนให้ดี ขณะที่รายได้กลับสะท้อนแรงที่ลงไปได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ดิวเล่าว่า ระหว่างกำลังหาหนทางทำรายได้ใหม่ ที่หมู่บ้านมีโครงการฝึกสอนการย้อมสีธรรมชาติ จึงตัดสินใจเข้าร่วมและนำผ้าแผ่นไปทำเวิร์กชอปด้วย และเมื่อได้ความรู้เบื้องต้นมาแล้ว ก็นำเงินเก็บที่เหลืออยู่เพียง 2,000 บาทมาทำผ้ามัดย้อมด้วยตัวเอง จากนั้น จึงนำไปเสนอขายที่ตลาดซาวไฮ่ ซึ่งเป็นตลาดนัดขนาดใหญ่ใกล้บ้าน

โชคดีที่ระหว่างนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวเปิดใหม่ ผู้คนจากทั้งในพื้นที่และต่างถิ่นเดินทางมายัง อ.บ้านไร่ จำนวนมากขึ้น พลอยให้มีคนเข้ามาจับจ่ายที่ตลาดมากขึ้นด้วย ส่วนรายได้ที่เข้ามานั้น ดิวบอกว่ารู้สึกเหมือนพลิกชีวิตทันตา

“เฮ้ย! มันได้เท่ากับที่ฉันเลี้ยงไหมมา 20 วัน แค่วันเดียว” ดิวบอก

 

 

 

นอกจากตัวเงินที่เห็นเป็นรูปธรรม อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกการย้อมผ้าด้วยครามและสีจากวัสดุธรรมชาติ คือ การที่ได้ยินเรื่องการย้อมครามมาตั้งแต่เด็ก พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าทวดเคยทำมาก่อน เพราะเป็นภูมิปัญญาของผู้คนในบ้านห้วยแห้ง ที่อพยพมาจากลาว และทำได้เองโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูป

แต่การย้อมครามลดความนิยมลงไปเมื่อสีสำเร็จรูปเข้ามาแทนที่ในรุ่นย่า และขณะนั้นถุงมือสำหรับย้อมผ้าแพร่หลายน้อยกว่าปัจจุบันมาก ทำให้สีติดแขน จึงลดความมั่นใจของผู้ย้อมโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงสาว

ดิวกล่าวว่าถ้าอยากอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้เอาไว้ นอกจากการลงมือทำแล้ว คุณภาพของสินค้าที่ขายก็สำคัญ ดังนั้นตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติจริง ๆ เรื่อยไปถึงการตากผ้าที่พื้นดินเพื่อให้ไอความร้อนเร่งให้ผ้าแห้งลดความอับชื้น จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อสินค้าที่จะส่งมอบให้กับผู้ซื้อ

“ถ้าทำ 2 สีนี้ (ครามและมะเกลือ) คนที่ซื้อไปก็จะรู้สึกคุ้มกับการที่ซื้อสินค้าไปใส่หน่อย ไม่ใช่แบบว่าซื้อไปซัก 2-3 ครั้งแล้วบอก สีว่าซีดแล้ว”  ดิวเล่า

ยิ่งไปกว่านั้น ดิวยังรับรองว่าผลิตภัณฑ์ของใส่ซัมบายสีไม่ตกตั้งแต่ซักครั้งแรก และถ้าใช้ไปนาน ๆ แล้วสีซีด ลูกค้าสามารถส่งกลับมาให้ดิวย้อมใหม่ฟรีอีก 1 ครั้ง

เมื่อย้อนกลับไปมองตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำแบรนด์นี้ ดิวรู้สึกว่าเป็นการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตที่เหนือความคาดหมาย แต่สิ่งที่เรียนรู้ คือ การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นอะไรมักเป็นสิ่งที่ดีเสมอ ตัวเราเองต่างหากที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ พร้อมจะคว้าโอกาสนั้นไว้หรือเปล่า หากวันนี้ผู้ที่อ่านอยู่มีความคิดอยากทำธุรกิจของตัวเองก็อยากให้ลองทำดู แต่ทั้งนี้ก็ต้องคิดให้รอบคอบว่าทำแล้วมีโอกาสที่ธุรกิจจะไปต่อได้หรือไม่


 

ใส่ซัมบาย คนรุ่นใหม่ย้อมผ้าธรรมชาติ ฟื้นลมหายใจวิถีชุมชน
ใส่ซัมบาย คนรุ่นใหม่ย้อมผ้าธรรมชาติ ฟื้นลมหายใจวิถีชุมชน
ใส่ซัมบาย คนรุ่นใหม่ย้อมผ้าธรรมชาติ ฟื้นลมหายใจวิถีชุมชน
ใส่ซัมบาย คนรุ่นใหม่ย้อมผ้าธรรมชาติ ฟื้นลมหายใจวิถีชุมชน
ใส่ซัมบาย คนรุ่นใหม่ย้อมผ้าธรรมชาติ ฟื้นลมหายใจวิถีชุมชน
ใส่ซัมบาย คนรุ่นใหม่ย้อมผ้าธรรมชาติ ฟื้นลมหายใจวิถีชุมชน